เสาหลักเมือง

ศาลหลักเมือง

วันที่ 21 เมษายน 2325 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระองค์ได้โปรดเกล้าให้ทำพระราชพิธียกเสาหลักเมืองเพื่อเป็นหลักชัยอันสำคัญให้แก่ประเทศ โดยมีพระฤกษ์ยกเสาหลักเมืองในวันอาทิตย์ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน 2325 เวลา 06.54 น.

เสาหลักเมืองของรัชกาลที่ 1 ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ประกบด้วยไม้แก่นจันทน์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางวัดที่โคนเสา 29 เซนติเมตร สูง 187 นิ้ว และกำหนดให้เสาหลักเมืองฝังลงในดินลึก 79 นิ้ว และสูงพ้นดิน 108 นิ้ว ด้านบนเสาเป็นเม็ดยอดรูปบัวตูม ภายในเป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง พร้อมลงรักปิดทอง

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงโปรดเกล้าให้สร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ เนื่องจากเสาหลักเมืองเดิมนั้นเก่าและชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก โดยให้ขุดเสาหลักเมืองเก่าขึ้นมา และสร้างเสาหลักเมืองใหม่ด้วยไม้สักทำเป็นแกน ประกบด้านนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ 6 แผ่น ฐานเป็นแท่นกว้าง 70 นิ้ว สูง 108 นิ้ว พร้อมบรรจุดวงเมืองในยอดเสาทรงมัณฑ์ที่มีความสูงกว่า 5 เมตร ส่วนเสาหลักเมืองเก่าไม่รู้จะนำไปเก็บไว้ที่ไหน พระองค์จึงทรงให้ประดิษฐานอยู่ใกล้ๆกับเสาหลักเมืองใหม่ ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ จึงมีเสาหลักเมืองสองต้นนั่นเอง

อิน จัน มั่น คง เรื่องเล่าหรือความจริง?

จากเรื่องเล่าหรือความเชื่อเรื่องการฝังคนทั้งเป็นในการสร้างศาลหลักเมืองนั้น ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้นอกจากคำบอกเล่าของคนในสมัยนั้น และจากการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยของหลายผู้เชี่ยวชาญ ต่างกล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงยึดมั่นในพระพุทธศาสนามาก พระองค์ทรงไม่โปรดให้มีการฆ่าคนหรือฆ่าสัตว์ในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นแน่ นอกจากนี้หากดูจากหลักความเป็นจริงแล้ว หากมีศพคนอยู่ในหลุมเสาหลักเมือง เมื่อศพเน่าเปื่อยก็จะทำให้ดินไม่แน่น เสาหลักเมืองอาจไม่แข็งแรงและพังลงได้ 

รวมถึงตามตำราพระราชพิธีฝังหลุมพระนคร หรือที่เรียกกันว่า ตำราพระราชพิธีนครฐานซึ่งก็มีอยู่หลายฉบับ แต่ละฉบับไม่มีการพรรณนาถึงพิธีการที่วิปลาส หรือเรื่อง อิน จัน มั่น คง จะมีก็แต่ให้เอาดินจากทิศทั้ง 4 มาปั้นให้เป็นผลเท่าลูกมะตูมสมมติว่าเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และให้โหรถือก้อนดินคนละก้อน ยืนอยู่บริเวณปากหลุมทั้ง 4 ทิศ จากนั้นจะมีโหรผู้ใหญ่ถามถึงคุณประการของก้อนดินแต่ละก้อน โดยเริ่มจากธาตุดิน โหรผู้ใหญ่ก็จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกแล้วกล่าวถามว่า ท่านถือสิ่งใดอยู่ วนไปจนครบจำนวนธาตุทั้งสี่ จากนั้นโหรทั้งสี่ก็จะทิ้งก้อนดินลงในหลุมตามลำดับกัน

จากนั้นวางแผ่นศิลาลงบนก้อนดิน แล้วอัญเชิญเสาหลักเมืองลงในหลุม กลบดินให้แน่น ประโคมฆ้องชัยสังข์แตรดุริยางค์ ยิงปืนใหญ่ทั้งสี่ทิศ ประน้ำเจิมแป้งหอม ผูกผ้าสี ห้อยพวงดอกไม้ จากนั้นโหรจะเชิญเทวดาให้เข้าสถิตในหลักเมือง เป็นอันเสร็จพิธี

ศาลหลักเมืองทั่วประเทศไทย

77 จังหวัดทั่วประเทศไทยต่างก็มีศาลหลักเมืองประจำจังหวัด ซึ่งบางจังหวัดนั้นมีศาลหลักเมืองมากกว่าหนึ่งแห่ง แต่สำหรับบางจังหวัดจะยึดศาลเจ้าแม่ หรือศาลเจ้าพ่อที่คนในพื้นที่นั้นๆ ให้ความเคารพศรัทธาให้เป็นศาลหลักเมืองแทน เช่นจังหวัดสกลนครที่ยึดศาลเจ้าพ่อมเหสักข์เป็นศาลหลักเมือง


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment