3สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ส่งหนังสือถึง ส.ส.เพื่อเสนอชื่อผู้แทนโรงงาน เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่

นายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด และเลขานุการคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเสนอชื่อผู้แทนโรงงาน เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ (ฉบับที่…) หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาและรับหลักการและเหตุผลร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ พร้อมรับร่าง พ.ร.บ.ทำนองเดียวกันอีก 7 ฉบับ ที่เสนอโดยชาวไร่อ้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองต่างๆ นำมาพิจารณาในที่ประชุม เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไข พ.ร.บ. ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ สมาคมฯ โดยผู้แทนจากโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง จึงเข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ เพื่อแสดงความกังวลต่อการไม่มีตัวแทนโรงงานน้ำตาลในคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาแก้ไขร่าง พรบ.อ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อเข้าไปช่วยสะท้อนมุมมองและความเห็นให้ครบด้าน ทั้งที่ โรงงานน้ำตาลเป็นหนึ่งในกลไกของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมายฉบับดังกล่าว

ดังนั้น โรงงานน้ำตาล จึงขอโอกาสร่วมเสนอความเห็นเพื่อให้กฎหมายได้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ตามบทบัญญัติ ที่ต้องการกำกับดูแลระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างเป็นธรรม โดยต้องเห็นพ้องต้องกันระหว่างชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลทราย และให้การบริหารจัดการระบบอุตสาหกรรมนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มิเช่นนั้น อาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในอนาคต

เลขานุการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ประเด็นหลักที่ฝ่ายโรงงานมีความกังวล คือ การแก้ไขมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 โดยให้เพิ่มกากอ้อย และกากตะกอนกรอง รวมเป็นผลพลอยได้ด้วยนั้น ทั้งที่จริงแล้ว เป็นของเสียจากกระบวนการผลิตที่ไม่สามารถหีบสกัดเป็นน้ำตาลได้ และโรงงานซื้อรวมในน้ำหนักอ้อยไปแล้ว และเป็นภาระของโรงงานน้ำตาลที่ต้องลงทุนหาวิธีกำจัด โดยนำกากอ้อยไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า หรือใช้ผลิตภาชนะบรรจุ ส่วนกากตะกอนกรอง ที่เป็นอิฐ หิน ดิน ทราย ติดมากับอ้อย โรงงานต้องลงทุนกำจัดของเสียนี้ มิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยนำไปผลิตเป็นปุ๋ย ซึ่งในปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลบางโรงงานเท่านั้นที่ใช้ของเสียดังกล่าวไปสร้างมูลค่าและต้องลงทุนเองทั้งหมด

ส่วนประเด็นแก้ไขให้เอทานอลเป็นผลพลอยได้เพื่อนำเข้ามาสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์นั้น สมาคมฯ เห็นว่า เอทานอลที่ผลิตจากน้ำอ้อยหรือกากน้ำตาลเป็นผลิตภัณฑ์อื่นที่มิใช่น้ำตาลจึงไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัตินี้ อีกทั้งได้มีการคิดมูลค่าวัตถุดิบดังกล่าวนำเข้าสู่ระบบการคำนวณราคาอ้อยในปัจจุบันอยู่แล้ว นอกจากนี้โรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องดังกล่าวมิได้เป็นนิติบุคคลเดียวกับโรงงานน้ำตาลทราย

สำหรับประเด็นแก้ไขมาตรา 14 วรรค 2 ในกรณีกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตาม พรบ. ฉบับนี้ พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระโดยในระหว่างที่ยังไม่มีการเสนอกรรมการแทน ให้ถือว่าคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งแล้วครบองค์ประกอบการประชุมแม้ไม่มีตัวแทนจากชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ซึ่งสมาคมฯ เห็นว่าองค์ประชุมจะครบถ้วนต้องมีตัวแทนจากชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลร่วมประชุมด้วย เนื่องจากอุตสาหกรรมมีการบริหารจัดการระบบและการแบ่งปันรายได้ระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย

“สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 56 วรรค 2 ในกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตขั้นต้น ให้นำส่วนต่างที่เกิดขึ้นมาประกอบการคำนวณราคาขั้นต้นปีถัดไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่ง 3 สมาคมฯ เห็นว่าควรคงวรรค 2 ตามพระราชบัญญัติฉบับเดิม ที่กำหนดให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายชดเชยส่วนต่างให้โรงงาน เนื่องจากมีการเสนอแก้ไขมาตรา 27 เพื่อให้กองทุนสามารถกู้เงินได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอีกต่อไป โดยรายได้กองทุนเป็นเงินที่จัดเก็บจากชาวไร่อ้อยและโรงงานไม่เกี่ยวข้องกับเงินภาครัฐ จึงไม่ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) แต่อย่างใด” นายรังสิต กล่าว


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment