TISCO ESU ชี้ Moody’s หั่นเรทติ้งสหรัฐฯ ปิดตำนานเครดิตสูงสุด Aaa แนะนักลงทุนจับจังหวะขายทำกำไร

TISCO ESU ชี้ Moody’s ปิดฉากสถานะ “เครดิตสมบูรณ์แบบ” ของสหรัฐฯ จากระดับสูงสุด Aaa ลงสู่ Aa1 ส่งผลตลาดหุ้นโลกเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้น แนะนักลงทุนจับจังหวะ “ขายทำกำไร” พร้อมระวังแรงผันผวนระยะสั้น

นายธนธัช ศรีสวัสดิ์ นักกลยุทธ์ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Thanathat Srisawast, Strategist, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า กรณีที่ Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ จาก Aaa ลงสู่ Aa1 ต่อจาก S&P Global Ratings และ Fitch Ratings ที่ปรับลดอันดับเครดิตสหรัฐไปก่อนหน้านี้ในปี 2554 และ 2566 ตามลำดับ นับเป็นการปิดฉากสถานะ “เครดิตสมบูรณ์แบบ” ของสหรัฐฯ โดยสมบูรณ์

ทั้งนี้ TISCO ESU ประเมินการปรับลดอันดับเครดิตครั้งนี้ แม้ผลกระทบเชิงฉับพลันต่อตลาดเงินจะมีแนวโน้มจำกัด เนื่องจากสถานะสินทรัพย์ปลอดภัยและเงื่อนไขการเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันสัญญาการเงินอื่นของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ถูกปรับให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นหลังจากปี 2554 และไม่ได้อิงกับอันดับ Aaa อย่างเข้มงวดเหมือนในอดีต แต่การลดอันดับเครดิตครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันต่อตลาด โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณางบประมาณสำคัญของทรัมป์อย่าง “Big, Beautiful Bill” ขณะที่เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ดังนั้น จึงอาจเป็นจังหวะให้นักลงทุนพิจารณาขายทำกำไรหุ้น หลังตลาดตอบรับปัจจัยบวกไปพอสมควรแล้ว ประกอบกับมูลค่าหุ้น (Valuation) ที่ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับค่อนข้างแพง ซึ่งจะกลายเป็นอีกปัจจัยกดดันให้ตลาดหุ้นปรับฐานในระยะข้างหน้า

“การปรับลดเครดิตอาจถูกมองว่าเป็นตัวชี้วัดพร้อมกัน หรือ “Coincident Indicator” ของเศรษฐกิจอีกเครื่องมือหนึ่ง เนื่องจากมักเกิดขึ้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ทำให้แม้ผลกระทบฉับพลันอย่างการถูกบังคับขายพันธบัตร และกระบวนการ Delevarage จะไม่ได้เกิดขึ้น ทว่าตลาดหุ้น S&P 500 ก็ปรับเข้าสู่การชะลอตัวในช่วงท้ายปี 2554 และ 2566 โดยเคลื่อนไหวในกรอบ Sideway ต่ำ อยู่ในระดับลบ 1% ถึงลบ 5% จากวันที่ถูกปรับลดอันดับเครดิตไปอีกประมาณ 2 เดือน ดังนั้น นักลงทุนควรระมัดระวังความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นได้”

ขณะที่ด้านตลาดพันธบัตร แม้จะเห็นผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นบ้างหลังข่าวนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพันธบัตรสหรัฐฯ ยังเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่ตลาดให้ความเชื่อมั่น โดย TISCO ESU ประเมินว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) อายุ 10 ปี ที่ปรับขึ้นมาสู่ระดับ 4.5% ตามที่เคยประเมินไว้ จะเผชิญกับแรงกดดันด้านสูงเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยนี้ก็สะท้อนความเสี่ยงล่วงหน้า (Priced-in) ไปแล้วบางส่วน จากที่ Moody’s ได้ปรับลดมุมมองเป็น Negative ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 ดังนั้น การปรับลดเครดิตลงในครั้งนี้จึงไม่น่าเป็นกังวลมากนัก

อย่างไรก็ตาม การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากแผนลดภาษีฉบับใหม่ของคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องรายรับภาครัฐ (The House Ways & Means Committee) ได้เสนอแผนการลดการจัดเก็บภาษี ทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจ อาทิ การต่ออายุมาตรการลดภาษีบุคคลธรรมดา การเพิ่มวงเงินการลดหย่อนภาษีของครัวเรือน การยกเลิกจัดเก็บภาษีทิปและค่าทำงานล่วงเวลา (Tips & Overtime) และการเพิ่มค่าโบนัสค่าเสื่อมของธุรกิจเพื่อใช้เป็นรายจ่ายลดหย่อนเมื่อคำนวณภาษีนิติบุคคล เป็นต้น ซึ่งประเมินว่าจะส่งผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นราว 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2568 –2577 ส่งผลให้สหรัฐฯ มีแนวโน้มขาดดุลการคลังที่ระดับราว 6% ของ GDP ต่อปี ในระยะข้างหน้า


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment