Digital Nomad รัสซีย โอกาสทองของผู้ประกอบการไทย ในยุค Future of Work

ในปี 2567 ที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยกว่า 35.5 ล้านคน เติบโตขึ้นกว่า 6.3%YoY หรือคิดเป็นการฟื้นตัวราว 89% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดในปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคน และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่าในปี 2568 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ราว 39.0 ล้านคน ซึ่งมีโอกาสกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด

อย่างไรก็ดี พบว่าค่าใช้จ่ายค่าเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2567 ที่ผ่านมายังอยู่ที่ 46,989 บาท/คน/ทริป ซึ่งยังคงต่ำกว่าปี 2562 ที่อยู่ในระดับ 47,895 บาท/คน/ทริป ดังนั้น นอกจากการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว การดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงก็ถือเป็นอีกหนึ่งมิติที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวไทยในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ นอกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยทั่วไปที่เข้ามาท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยในไทยแล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มอื่นๆ ที่ถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง เช่น นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ นักท่องเที่ยวเชิงการศึกษา และอีกหนึ่งกลุ่มที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ นักท่องเที่ยวกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลและอินเทอร์เน็ตในการทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน หรือที่เราเรียกว่า “Digital Nomad” ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย Digital Nomad มีจุดเด่นที่การใช้จ่ายเฉลี่ย/คน/ทริป ที่สูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 5 เท่า จากระยะเวลาพำนักเฉลี่ยที่นานถึง 3-6 เดือน อีกทั้งยังสามารถเดินทางได้ตลอดทั้งปี ไม่ได้มีฤดูกาลท่องเที่ยวที่ชัดเจน จึงอาจเข้ามาช่วยเติมเต็มรายได้ของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องในช่วง Low Season ของไทยได้อีกด้วย และในบทความนี้จะชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับ Digital Nomad ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่สำคัญของภาคการท่องเที่ยวไทยในอนาคต

Digital Nomad คือใคร? อยู่ในช่วงวัยไหน? ทำอาชีพอะไร?

นักท่องเที่ยวกลุ่ม“Digital Nomad” เป็นกลุ่มคนที่สามารถทำงานผ่านระบบ Online จากสถานที่ต่างๆ ได้ทั่วโลก ตามวิถีชีวิตที่แต่ละคนต้องการ พร้อมทั้งเดินทางท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย โดยจากบทความ Digital Nomad Nomading Normalizes in 2024 ของเว็บไซต์ MBO partners พบว่า Digital Nomad ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ถึง 64% แบ่งเป็นกลุ่ม Millennials (38%) และ Gen Z (26%) และจากผลสำรวจของ ททท. พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญงานเทคโนโลยีและงานแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น งานพัฒนาซอฟต์แวร์และเว็บไชต์ งานการตลาด งานบริการซอฟต์แวร์ (SaaS) ผู้ประกอบการ/ผู้ก่อตั้ง (Startup) และนักวิเคราะห์ข้อมูล โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่มักให้ความ

สำคัญกับการรูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่นสูง ส่งผลให้เทรนด์การทำงานแบบ Work From Anywhere: WFA) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากการที่คนรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยี ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับการทำงานในรูปแบบของ WFA ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ในปัจจุบันการทำงานในรูปแบบดังกล่าวถูกนำมาเป็นทางเลือกในหลายองค์กร โดยเน้นที่ผลลัพธ์และประสิทธิภาพจากการทำงานเป็นสำคัญ

Digital Nomad ทั่วโลก เติบโตแค่ไหน?

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2567) นักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยถึง 56% CAGR จากปี 2560 ที่มีจำนวนเพียง 1.8 ล้านคน ขณะที่ในปี 2567 มีจำนวน Digital omad เพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านคน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของ Digital Nomad มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ผู้คนต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ เช่น การ Work from Home, การประชุม Online เป็นต้น รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพนักงานที่มีทักษะจำนวนมากต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง จึงเกิดการเดินทางเพื่อไปพักอาศัยและทำงานในประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำ แต่มีความเจริญทางสังคมและ/หรือมีความสวยงามทางธรรมชาติ

ซึ่งหากพิจารณาจากสัญชาติของ Digital Nomad ในปี 2566-2567 พบว่ากลุ่ม Top 3 ที่มีจำนวนสูงที่สุด คือ ชาวอเมริกัน อังกฤษ และรัสเซีย ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากอัตราการเติบโตพบว่า Digital Nomad ชาวรัสเซียมีการเติบโตที่โดดเด่นกว่าสัญชาติอื่นๆ โดยมีอัตราการเติบโตถึง 17.6%YoY และจากการใช้จ่ายของ Digital Nomad โดยเฉลี่ยที่สูงถึง 6.5 หมื่นบาท/เดือน/คน ส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ทั่วโลกอาจมีมูลค่าถึง 27.5 ล้านล้านบาท[5] ซึ่งมากกว่ารายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมของไทยในปี 2567 ที่ 1.67 ล้านล้านบาท กว่า 15 เท่า แสดงให้เห็นว่า Digital Nomad ในไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก

ตลาด Digital Nomad ในไทยเป็นอย่างไร?

สำหรับประเทศไทยเองถือเป็นหนึ่งใน Top Destinations ของนักท่องเที่ยว Digital Nomad ทั่วโลก โดยเว็บไซต์ Nomad list ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 3 ของจุดหมายปลายทางที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ทั่วโลก เป็นรองเพียง สหรัฐฯ และสเปน ซึ่งสิ่งที่ส่งเสริมให้ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาว Digital Nomad มาจากปัจจัยสนับสนุน 4 ข้อหลัก[6] ได้แก่

1. ค่าครองชีพไม่สูงและความคุ้มค่า โดยไทยมีค่าครองชีพต่ำกว่าในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศแถบตะวันตก อย่างสหรัฐฯ โดยค่าใช้จ่ายพื้นฐาน เช่น ที่พัก ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค และค่าเดินทาง สามารถอยู่ได้ด้วยงบประมาณราว 36,900 บาทต่อเดือน

2. สิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการทำงานระยะไกล เช่น Co-working space Co-living space ซึ่งเป็นแหล่งสร้างเครือข่ายทางสังคม และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีเสถียรภาพดี

3. สถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมที่หลากหลาย ไทยยังมีความโดดเด่นในเรื่องของวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ แหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ทะเล ภูเขา หรือ ห้างสรรพสินค้า กิจกรรมที่น่าสนใจ และอาหารรสเลิศ ซึ่งช่วยให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad สามารถผสมผสานการทำงานกับการท่องเที่ยวได้อย่างลงตัว

4. นโยบายวีซ่าที่สบับสนุนต่อการเข้าไทย โดยในปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศได้มีการออกวีซ่าระยะยาว Destination Thailand Visa (DTV) เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ผู้ประกอบการดิจิทัล รวมถึงกลุ่มคนทำงานระยะไกล (Digital Nomad) ซึ่งสามารถพำนักในไทยได้นานถึง 180 วันต่อครั้ง และยังต่ออายุได้อีก 180 วัน โดยวีซ่าดังกล่าวมีอายุถึง 5 ปี สามารถใช้เดินทางเข้าออกไทยได้หลายครั้ง ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad

ซึ่งจากปัจจัยสนับสนุนทั้ง 4 ข้อ สะท้อนให้เห็นว่าโดยพื้นฐานแล้ว ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอ

ที่จะเป็นจุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ทั่วโลก และอาจเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวไทยในระยะข้างหน้า

Digital Nomad กลุ่มใด เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพของประเทศไทย?

จากผลสำรวจเรื่อง “โครงการศึกษาพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่ม Digital Nomad ในประเทศไทย” ของศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยว โดย ททท. Krungthai COMPASS ประเมินว่า Digital Nomad รัสเซีย เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูง และมีความน่าสนใจในหลายประเด็น ดังนี้

1. Digital Nomad รัสเซียเป็นกลุ่มตลาดหลักของประเทศไทย ซึ่งในภาพรวมยังมีศักยภาพในการเติบโตสูง โดย Digital Nomad ชาวรัสเซีย เป็นกลุ่มที่เดินทางมายังไทยสูงที่สุด และมีสัดส่วนถึง 16.2% ของ Digital Nomad ทั้งหมดที่เดินทางมายังประเทศไทย รองลงมาเป็นชาวเยอรมัน 15.7% ชาวอเมริกัน 12.7% ชาวอังกฤษ 9.9% ตามลำดับ ซึ่งหากเราเปรียบเทียบการเติบโตของจำนวน Digital Nomad ที่เป็นตลาดหลักของประเทศไทยจะพบว่าจำนวน Digital Nomad รัสเซียมีการเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับสัญชาติอื่น โดยในปี 2567 มัอัตราการเติบโตถึง 17.6%YoY

2. Digital Nomad รัสเซียที่เดินทางมายังไทยมีการใช้จ่ายที่สูงกว่าสัญชาติอื่น จากรายงานของ ททท. พบว่า นักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad รัสเซีย มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรวมสูงถึง 7.3 หมื่นบาท/คน/เดือน ซึ่งสูงกว่า Digital Nomad ชาวอเมริกันและชาวอังกฤษถึง 11.5%-16.5% รวมถึงสูงชาวเยอรมันประมาณ 1.9% แม้ว่าการใช้จ่ายด้านค่าที่พักจะค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่น เนื่องจาก Digital Nomad รัสเซียมักเลือกที่พักที่เน้นความคุ้มค่า ไม่เน้นความหรูหรา และมีการเช่าระยะยาว ซึ่งช่วยทำให้ค่าใช้จ่ายด้านที่พักถูกลง อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียค่อนข้างให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร การเดินทาง และกิจกรรม เป็นต้น จึงทำให้ Digital Nomad รัสเซียมีค่าเฉลี่ยในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูง (อาหาร กิจกรรม การเดินทาง) สูงกว่าสัญชาติอื่นๆ ราว 4%-30%

3. Digital Nomad รัสเซียมีระยะเวลาพำนักในไทย นานกว่าสัญชาติอื่น โดยมีระยะเวลาพำนักในไทยเฉลี่ยนานถึง 282 วัน ซึ่งหากเทียบกับชาวเยอรมัน(251 วัน) ชาวอังกฤษ(164 วัน) และชาวอเมริกัน(130 วัน)พบว่า Digital Nomad รัสเซียมีระยะเวลาพำนักในไทยนานกว่าสัญชาติอื่นๆถึง 12%-117% เนื่องจากไทยมีชุมชน Digital Nomad รัสเซียอยู่ในเมืองสำคัญต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต ทำให้ Digital Nomad รัสเซียรู้สึกอบอุ่นและไม่แปลกแยกเมื่อมาอยู่ไทย จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีระยะเวลาพำนักในไทยนานขึ้น ซึ่งเมื่อพิจารณารวมกับค่าใช้จ่ายต่อคนที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ยิ่งทำให้ Digital Nomad รัสเซีย มีความน่าในใจมากขึ้นในมิติของการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย

Digital Nomad รัสเซียมีโอกาสสร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวไทยได้มากแค่ไหนในอนาคต?

จากกระแสของรูปแบบการทำงานแบบ Work from Anywhere ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่าในปี 2573 หรืออีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า จะมี Digital Nomad รัสเซีย ที่เดินทางมายังไทยราว 0.34–2.22 แสนคน และอาจมีสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยสูงถึง 0.57–3.71 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้

1. กรณีฐาน (Base case): ไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของ Digital Nomad รัสเซีย โดยกำหนดสมมติฐานว่า Digital Nomad ชาวรัสเซีย ที่เดินทางมายังไทยจะยังมีสัดส่วนใกล้เคียงกับปัจจุบัน และมีอัตราการเติบโตในปี 2568-2573 ใกล้เคียงกับนักท่องเที่ยวรัสเซียในภาพรวมในช่วงก่อนโควิด-19 ประเมินว่าในปี 2573 จะมีจำนวน Digital Nomad รัสเซียที่เดินทางมายังไทยประมาณ 0.80 แสนคน และสร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวไทยกว่า 1.34 แสนล้านบาท

2. กรณีดีที่สุด (Best case): Digital Nomad รัสเซียในไทยเพิ่มขึ้นจากการสนับสนุนด้านนโยบาย และโครงสร้างพื้นฐาน โดยกำหนดสมมติฐานให้ภาครัฐให้การสนับสนุนด้านนโยบายและโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มที่ รวมถึงผู้ประกอบการพร้อมปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว ส่งผลให้มีสัดส่วน Digital Nomad รัสเซียในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ในกรณีดังกล่าวคาดว่าจะมีจำนวน Digital Nomad รัสเซียที่เดินทางมายังไทยในปี 2573 ถึง 2.22 แสนคน และสร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวไทยกว่า 3.71 แสนล้านบาท

3. กรณีเลวร้าย (Worst case): Digital Nomad รัสเซียในไทยลดลง จากแรงกดดันของประเทศคู่แข่งที่ต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น โดยในกรณีดังกล่าวกำหนดว่าหากไทยไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลักของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad รัสเซีย จนทำให้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวลดลงเมื่อเทียบกับปัจจุบัน รวมถึงอัตราการเติบโตของ Digital Nomad รัสเซียในไทยมีแนวโน้มลดลงจากการพัฒนาของประเทศคู่แข่งที่พยายามดึงดูด Digital Nomad รัสเซียเพิ่มมากขึ้น ประเมินว่าในปี 2573 จะมีจำนวน Digital Nomad รัสเซียที่เดินทางมายังไทยราว 0.34 แสนคน และสร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวไทยประมาณ 0.57 แสนล้านบาท

จังหวัดใดที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวDigital Nomad รัสเซีย?

นอกจากจังหวัดท่องเที่ยวหลัก อย่างกรุงเทพฯ แล้ว จังหวัดที่มีความโดดเด่นและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad รัสเซีย คือ กลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับชายหาดที่สวยงาม เช่น สุราษฎร์ธานี (เกาะพะงัน เกาะสมุย) ภูเก็ต รวมถึงพัทยา โดยผลสำรวจของ ททท. ระบุว่านักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว ชื่นชอบความเป็นเมือง ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นจุดศูนย์กลางการเดินทาง พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน ขณะเดียวกันก็ยังชื่นชอบเมืองที่มีชื่อเสียงทางทะเล เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นในประเทศรัสเซีย ส่งผลให้ชาวรัสเซียมีช่วงเวลาที่ได้รับแสงแดดค่อนข้างจำกัด ดังนั้น ชาวรัสเซียจึงให้ความสำคัญกับกิจกรรมกลางแจ้งที่เกี่ยวข้องกับทะเล เช่น การอาบแดด การดำน้ำ การล่องเรือ รวมถึงกีฬาทางน้ำต่างๆ

ธุรกิจใดบ้างที่จะได้รับอานิสงส์จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้?

Krungthai COMPASS มองว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad จะกระจายสู่ผู้ประกอบการท้องถิ่นมากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ และหากไทยมีการประชาสัมพันธ์สิ่งที่เป็นจุดแข็งของประเทศ เช่น อาหาร แหล่งท่องเที่ยว ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย จะมีส่วนช่วยดึงดูดให้ Digital Nomad รัสเซียสนใจประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจภาคบริการและการท่องเที่ยวของไทยเติบโต โดยมีหลากหลายธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์จากนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว เช่น

1) ธุรกิจผู้ประกอบการกลุ่มโรงแรม เกสต์เฮาส์ โดยจากผลสำรวจพบว่า Digital Nomad รัสเซียนิยมเข้าพักโรงแรมมากถึง 23% รองลงมาเป็นเกสต์เฮาส์ 17% และรีสอร์ต 16% ตามลำดับ

2) กลุ่มร้านอาหาร ร้านกาแฟ Co-working Space เนื่องจาก Digital Nomad รัสเซียเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลายของอาหารและเครื่องดื่มค่อนข้างมาก

3) ผู้ประกอบการกลุ่มบริษัทนำเที่ยว และร้านเช่ารถ โดย Digital Nomad รัสเซียนิยมเดินทาง โดยรถจักรยานยนต์ เนื่องจากสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ได้อย่างสะดวกสบาย ค่าใช้จ่ายไม่สูง และหาร้านเช่ารถได้ง่าย

Recommendation

Krungthai COMPASS แนะนำผู้ประกอบการ และภาคส่วนต่างๆ เตรียมปรับตัวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว Digital Nomad ชาวรัสเซีย ดังนี้

ภาคธุรกิจ ควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการทำงานระยะไกล และส่งเสริมทักษะด้านภาษาและดิจิทัลให้กับบุคลากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ รวมถึงควรติดตามเทรนด์ที่อยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว เพื่อปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม และออกแพ็คเกจที่พัก บริการ และกิจกรรมที่ยืดหยุ่น ส่วนภาครัฐควรสนับสนุนการพัฒนานโยบายด้านภาษี สิทธิประโยชน์การลงทุน และสร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อดึงดูด Digital Nomad ชาวรัสเซียให้เลือกไทยเป็นจุดหมายปลายทางในการทำงานและท่องเที่ยว

ผู้ประกอบการกลุ่มโรงแรม เกสต์เอาส์ พัฒนาห้องพัก

รูปแบบห้องพัก: ห้องพักขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่เพียงพอสำหรับผู้เข้าพัก 1-2 คน เนื่องจาก Digital Nomad ชาวรัสเซียมักนิยมเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวถึง 34% และอีก 30% เดินทางมากับเพื่อน โดยอาจมีการออกแบบห้องพักที่สามารถปรับห้องนอนเป็นห้องทำงานได้ เช่น การเลือกเตียงที่สามารถเก็บได้ (Foldable Bed) มีพื้นที่จัดเก็บอุปกรณ์ทำงาน โต๊ะและเก้าอี้ทำงานที่รองรับการนั่งทำงานระยะเวลานาน มีบริการปลั๊กไฟ Universal มีบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต Wi-Fi ทั่วถึงทุกห้องพัก หรือมีช่องทางเชื่อมต่อ LAN ในห้องพัก นอกจากนี้ ควรมีการจัดแสงสว่างที่เหมาะสมทั้งการทำงานและการพักผ่อน

สิ่งอำนวยความสะดวก: ควรมีการให้บริการพื้นที่ทำงานส่วนกลาง และห้องประชุม ที่สามารถเข้าใช้ได้แบบ 24/7 เนื่องจากมีการทำงานใน Time-zone ที่แตกต่างกัน รวมถึงระบบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่มีเสถียรภาพ ความเร็วสูง และอาจมีการติดตั้งเครื่องสำรองไฟในพื้นที่ทำงานและห้องพักเพื่อให้ลูกค้าสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องแม้เกิดปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง นอกจากนี้ อาจมีบริการเสริมโรงอาบน้ำบันยา สไตล์รัสเซีย เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

พัฒนาทักษะด้านภาษาและดิจิทัลสำหรับบุคลากร

อบรมทักษะภาษา: ผู้ประกอบการควรพิจารณาฝึกอบรมบุคลากรให้มีทักษะการสื่อสารภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ และภาษารัสเซีย เป็นต้น

พัฒนาทักษะด้านดิจิทัล: เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ เช่น ระบบการจองออนไลน์ เครื่องมือที่ช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลลูกค้าและช่วยประสานงานภายในโรงแรม

พัฒนาแพ็คเกจและโปรแกรม

เนื่องจาก Digital Nomad มักมีระยะเวลาการเข้าพักระยะยาว ผู้ประกอบการควรมีการปรับแพ็คเกจการเข้าพักที่มีความยืดหยุ่นทั้งราคา วันที่เข้าพัก และบริการ นอกจากนี้ควรมีการจัดโปรแกรม Workshop เพื่อสร้างเครือข่ายและแรงบันดาลใจในการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายความเครียดและลดปัญหาความโดดเดี่ยวจากการเดินทางคนเดียวลงได้

ผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านกาแฟ และ Co-working Space

พัฒนาพื้นที่นั่งทำงาน: การพัฒนาพื้นที่นั่งทำงานสำหรับ Digital Nomad ควรมีการออกแบบที่รองรับการทำงานในรูปแบบต่างๆ และจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าทุกประเภท เช่น โซนทำงานส่วนตัว โซนทำงานกลุ่ม โซนพักผ่อน และ ห้องประชุม โดยมุ่งสร้างบรรยากาศที่แตกต่างจากที่บ้านหรือสำนักงานเพื่อกระตุ้นแรงบันดาลใจและลดความเครียด นอกจากนี้ควรมีการเลือกใช้โต๊ะและเก้าอี้ที่รองรับสรีระเพื่อทำให้สามารถนั่งทำงานได้เป็นเวลานาน

สิ่งอำนวยความสะดวก: มีบริการมุมกิจกรรม เช่น มุมออกกำลังกาย มุมเล่นเกมส์ หรือห้องพักสายตา หรือมีบริการเก้าอี้นวด เพื่อผ่อนคลายความเครียด ให้กลับมาพร้อมทำงานต่ออย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ควรมีบริการยืมอุปกรณ์เสริมสำหรับทำงาน เช่น หน้าจอคอม กล้อง เป็นต้น รวมถึงอาจมีการพัฒนาเว็บไซต์สำหรับการจองห้องทำงานเพิ่มเติม

พัฒนาแพ็คเกจ: ควรมีการจัดแพ็คเกจที่มีความยืดหยุ่นให้ Digital Nomad สามารถจัดสรรได้เองตามความต้องการรายบุคคล เช่น ซื้อแพ็คเกจเช่าห้องทำงานเพียงอย่างเดียว หรือ แพ็คเกจห้องทำงานพร้อมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

Krungthai COMPASS เชื่อมั่นว่าภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว Digital Nomad ของไทยในประเด็นดังต่อไปนี้

1. ยกระดับนโยบายด้านภาษี สิทธิประโยชน์การลงทุน และสร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อดึงดูด Digital Nomad รัสเซีย

2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ภาครัฐควรสนับสนุนการพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และ Wi-Fi ฟรี ในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และ ควรมีการส่งเสริมพื้นที่ในการสร้าง co-working spaces ที่สามารถรองรับ Digital Nomad ได้

3. ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายธุรกิจ ภาครัฐควรสนับสนุนการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจระหว่างนักธุรกิจท้องถิ่นกับ Digital Nomad และนักลงทุนจากรัสเซีย เพื่อขยายตลาดและเพิ่มโอกาสในการร่วมมือทางธุรกิจ พร้อมส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจด้าน Deep Tech7 เพื่อสร้างระบบนิเวศของ Digital Business ที่ครบวงจร ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่าง Start up นักลงทุน และนักวิจัย ช่วยกระตุ้นการลงทุนในไทยได้อย่างยั่งยืน

4. สนับสุนนกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว Digital Nomad รัสเซีย เพื่อเป็นการโปรโมทการท่องเที่ยวไทยให้แก่นักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว

ท้ายที่สุด การเติบโตของตลาด Digital Nomad ไม่เพียงแค่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทย แต่ยังเปิดโอกาสให้ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำระดับโลก สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีไลฟ์สไตล์ผสมผสานระหว่างการทำงานและการท่องเที่ยว โดยหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันและมีการวางแผนอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคการท่องเที่ยวไทยได้อย่างยั่งยืน

ธนา ตุลยกิจวัตร

กัญธิณพัส วชิรเขื่อนขันธ์

กัญธิณพัส วชิรเขื่อนขันธ์

Krungthai COMPASS


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment