ค่าเงินบาทเปิดเช้า 26 พฤศจิกายน 2567 ที่ระดับ 34.74 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 26 พฤศจิกายน 2567 ที่ระดับ 34.74 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.61 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อยในลักษณะ Sideways Up (กรอบการเคลื่อนไหว 34.47-34.75 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่า โดยรวมเงินดอลลาร์จะทยอยอ่อนค่าลง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ตอบรับข่าวโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เลือกสก็อต เบสเซนต์ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฯ คลังคนใหม่ในรัฐบาล Trump 2.0 ทว่า เงินบาทยังคงถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงหนักกว่า -2.4% ในช่วงคืนที่ผ่านมา หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง จากข่าวอิสราเอลใกล้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hezbollah ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดก็มองว่า หากสก็อต เบสเซนต์ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฯ คลังคนใหม่ได้จริง ก็จะช่วยลดโอกาสที่รัฐบาล Trump 2.0 จะดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าที่รุนแรง รวมถึง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณมากขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทก็อาจถูกกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมน้ำมันดิบ หลังราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องถึง -3% ในช่วงคืนที่ผ่านมา หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมาก ตอบรับข่าวโดนัลด์ ทรัมป์ แต่งตั้งสก็อต เบสเซนต์ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฯ คลังคนใหม่ ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างมองว่ารัฐมนตรีคลังคนใหม่อาจมีความเข้าใจตลาดการเงินมากขึ้นและอาจดำเนินมาตรการที่ส่งผลเชิงบวกต่อตลาดการเงิน อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดก็เลือกที่จะทยอยเข้าซื้อหุ้นสหรัฐฯ ขนาดเล็กเป็นหลัก ทำให้หุ้นเทคฯ ใหญ่เผชิญแรงขายออกมาบ้าง อาทิ Nvidia -4.2%, Tesla -4.0% ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.30% ขณะที่ดัชนีหุ้นขนาดเล็ก Russell 2000 พุ่งขึ้น +1.47%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.06% แม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ตอบรับข่าวโดนัลด์ ทรัมป์ แต่งตั้งสก็อต เบสเซนต์ เป็นรัฐมนตรีฯ คลังคนใหม่ ทว่า ตลาดหุ้นยุโปรก็เผชิญแรงกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มธุรกิจอาวุธสงคราม อาทิ Shell -1.1%, BAE Systems -2.7% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซน 4.28% หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ว่าที่รัฐมนตรีฯ คลังคนใหม่ สก็อต เบสเซนต์ อาจดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ส่งผลดีต่อตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดบอนด์สหรัฐฯ อาทิ พยายามไม่ให้นโยบายกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น หรือพยายามควบคุมการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ซึ่งภาพดังกล่าวช่วยคลายความกังวลผลกระทบของนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 ต่อตลาดบอนด์สหรัฐฯ ได้พอสมควร อย่างไรก็ดี การปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็เป็นไปอย่างจำกัด ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน ทั้งนี้ เราคงมองว่า บอนด์ระยะยาวมีความน่าสนใจในการถือครองอยู่ ทว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว (เน้น Buy on Dip)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ในลักษณะ Sideways Down โดยเงินดอลลาร์เผชิญแรงกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ที่ตอบรับข่าวโดนัลด์ ทรัมป์ แต่งตั้ง สก็อต เบสเซนต์เป็นรัฐมนตรีฯ คลังคนใหม่ รวมถึงข่าวความคืบหน้าของการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่ม Hezbollah ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงสู่โซน 106.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.6-107.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน และมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คลายความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกว่า -2.2% สู่โซน 2,630-2,640 ดอลลาร์ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจคงรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงพอสมควรในช่วงนี้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่าน รายงานการประชุม FOMC ของเฟดล่าสุด (รับรู้ในช่วงราว 02.00 น. ตามเวลาประเทศไทยของวันพุธนี้) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลักดังกล่าว

ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศในเดือนตุลาคม โดยนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ยอดการส่งออก (Exports) อาจขยายตัวราว +5.2%y/y ตามการทยอยฟื้นตัวของการค้าโลก ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) อาจโตราว +6.3%y/y ทำให้โดยรวมดุลการค้าอาจขาดดุล -300 ล้านดอลลาร์ จากที่เกินดุลเกือบ 400 ล้านดอลลาร์ ในเดือนกันยายน

นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ความคืบหน้าของการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่ม Hezbollah รวมถึง สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้พอสมควร โดยเฉพาะในส่วนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้ง ทองคำและน้ำมันดิบ

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเริ่มกลับมามีกำลังมากขึ้น หลังราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงหนัก ส่งผลให้เงินบาทเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าว แม้ว่าโดยรวม เงินดอลลาร์จะเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways หรือมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้างก็ตาม ทำให้เงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งหากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ ก็อาจอ่อนค่าต่อทดสอบแนวต้านสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน โดยเรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปได้ หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์และขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) แถวโซนแนวต้านดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ เงินบาทอ่อนไหวต่อทิศทางราคาทองคำพอสมควร ทำให้ เงินบาทก็อาจอ่อนค่าได้เร็ว แรง กว่าที่ประเมินไว้ หากราคาทองคำปรับตัวลงหนัก ซึ่งต้องจับตาว่า ราคาทองคำจะปรับตัวลงต่อหลุดโซนแนวรับราคาทองคำ (XAUUSD) แถว 2,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (แนวรับถัดไป แถว 2,540-2,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์)

อนึ่ง หากราคาทองคำเริ่มรีบาวด์ขึ้นได้ราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในกรณีที่ตลาดกลับมากังวลปัจจัยเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์อีกครั้ง ซึ่งต้องติดตามทั้งสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับ Hezbollah ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง นอกจากนี้ เราประเมินว่า บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อาจช่วยชะลอแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานยอดการค้าระหว่างประเทศของไทย เพราะหากดุลการค้าเกินดุล สวนทางกับที่ตลาดคาดไว้ ก็อาจช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ ขณะที่ หากยอดการส่งออกขยายตัวแย่กว่าคาด จนทำให้ขาดดุลการค้าหนักกว่าที่ตลาดมองไว้ ก็อาจยิ่งกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงต่อได้ไม่ยาก

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.60-34.85 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment