ค่าเงินบาทเปิดเช้า 19 กันยายน 2567 ที่ระดับ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้า 19 กันยายน 2567 ที่ระดับ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.26 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (กรอบการเคลื่อนไหว 33.06-33.41 บาทต่อดอลลาร์) แต่โดยรวมเป็นทิศทางการอ่อนค่าลง เข้าใกล้โซนแนวต้านแรก 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ในวันก่อนหน้า โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงแรก เข้าใกล้แนวรับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ของราคาทองคำ หลังที่ประชุม FOMC ของเฟด มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ (11 ต่อ 1) ให้ลดดอกเบี้ย -50bps สู่ระดับ 4.75%-5.00% ตามที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี เงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด (Dot Plot) ใหม่ ซึ่งไม่ได้สะท้อนภาพการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด อย่างที่ตลาดคาดหวัง อีกทั้งประธานเฟดยังได้เน้นย้ำว่า การเร่งลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ จะช่วยให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงแบบ Soft Landing ได้ (ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Economic Recession) และช่วยให้เฟดสามารถบรรลุเป้าหมายการจ้างงานเต็มศักยภาพได้ โดยมุมมองดังกล่าวของประธานเฟด ได้หนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงกว่า -50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้สุดท้ายเงินบาททยอยอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแรก 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์

แม้ว่าเฟดจะมีมติเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ตามที่ตลาดคาดหวัง ทว่าถ้อยแถลงของประธานเฟด รวมถึงคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดล่าสุด (Dot Plot) กลับไม่ได้สะท้อนภาพการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดอย่างที่ตลาดคาดหวัง ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมาบ้าง โดยเฉพาะหุ้นสไตล์ Growth และหุ้นเทคฯ อาทิ Nvidia -1.9% หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นพอสมควร ส่งผลให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.29%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.50% ท่ามกลางแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นสไตล์ Growth และหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ LVMH -1.9%, ASML -1.5% ก่อนที่ตลาดจะรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด ซึ่งจะมาหลังตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการไปแล้ว นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้น Novo Nordisk -2.4% หลังมีประเด็นว่า ราคายาเบาหวานยอดนิยม Ozempic เสี่ยงจะถูกปรับลดราคาลงอย่างมากในสหรัฐฯ

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด โดยมีจังหวะปรับตัวลดลงใกล้โซน 3.65% ก่อนที่จะทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.73% หลังคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายใหม่ของเฟด (Dot Plot) และถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ไม่ได้สะท้อนถึงแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดหวังก่อนหน้า สอดคล้องกับ มุมมองของเราที่ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งลดดอกเบี้ย อย่างที่ตลาดกำลังคาดหวัง ทั้งนี้ เราคงเน้นกลยุทธ์ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้เข้าสู่ช่วงขาลงอย่างชัดเจนแล้ว

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงเร็ว หลังเฟดมีมติเร่งลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวัง ก่อนที่จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยเฟดใหม่และถ้อยแถลงของประธานเฟดไม่ได้สะท้อนว่าเฟดจะเดินหน้าเร่งลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดหวัง ซึ่งภาพดังกล่าวยังได้หนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ผ่านการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซน 143 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นสู่โซน 101 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.2-101.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความผันผวนของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟดและถ้อยแถลงของประธานเฟด ได้ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) เคลื่อนไหวผันผวนสูงเช่นกัน โดยราคาทองคำมีจังหวะปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ในช่วงแรก ก่อนปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซน 2,580 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้น ตามการส่งสัญญาณไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยของเฟด

สำหรับวันนี้ อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญหลังตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด คือ ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเราประเมินว่า BOE อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.00% ตามเดิม ทว่า BOE อาจส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้เพิ่มเติม หลังอัตราเงินเฟ้อได้ชะลอลงเข้าใกล้เป้าหมายของ BOE มากขึ้น ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจทำให้การลดดอกเบี้ยของ BOE ไม่ได้เร่งรีบมากนัก อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE เพราะหาก BOE ประเมินภาพเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอลงมากขึ้น หรือ ดูแย่กว่าคาด พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยชัดเจน ก็อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) เสี่ยงอ่อนค่าลงได้บ้าง

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงดัชนีภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ และข้อมูลตลาดบ้านสหรัฐฯ เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด (ว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยได้จริง ตาม Dot Plot ใหม่หรือไม่)

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มกลับมามีกำลังมากขึ้น อีกครั้ง หลังเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดหวัง ซึ่งทำให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมกับกดดันราคาทองคำให้ย่อตัวลง ขณะเดียวกัน บรรยากาศในตลาดการเงินก็อาจอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้นได้ ส่งผลให้บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองสินทรัพย์ไทยได้บ้าง ทำให้ในช่วงระยะสั้น เงินบาทอาจอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัดแถวโซนแนวต้านสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวไปได้ จะมีแนวต้านถัดไปแถว 33.80 บาทต่อดอลลาร์) นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนอย่างฝั่งผู้ส่งออก ก็อาจรอจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงบ้างในการทยอยขายเงินดอลลาร์ ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนของเงินบาทได้บ้าง

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในตลาดช่วงทยอยรับรู้ ผลการประชุม BOE ที่อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงได้บ้าง หาก BOE มีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ (ตลาดมอง BOE จะลดดอกเบี้ยราว -50bps ในปีนี้)

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.60 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment