{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหาร การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าราคาต่ำ สินค้าไม่มีคุณภาพ และสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศ จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากร เข้มงวดกวดขัน กับการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อจำหน่ายจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการนำเข้ามาเพื่อจำหน่าย ซึ่งสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่อาจไม่ได้มาตรฐานผ่านออกจากอารักขาของกรมศุลกากร ก่อนได้รับการอนุญาตจาก สมอ. กระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงการเร่งป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า ส่งออก นำผ่าน และจำหน่าย ยาเสพติด บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และสินค้าอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อสังคมอีกด้วย
ในด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กรมศุลกากรได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง โดยบูรณาการด้านการข่าวอย่างต่อเนื่องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานภายใต้โครงการความร่วมมือด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction TaskForce : AITF) หน่วยงานภายใต้โครงการความร่วมมือด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ท่าเรือ (Seaport Interdiction Task Force : SITF) รวมถึงหน่วยงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศอีกด้วย
โดยในระหว่างวันที่ 1 - 6 กันยายน 2567 กรมศุลกากรได้เร่งระดมกำลังปฏิบัติการปราบปรามสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด และสินค้าอื่นๆ ซึ่งมีผลงานการจับกุมที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
1. สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง ได้ทำการตรวจสอบสินค้าที่ต้องสงสัยว่าสำแดงประเภทพิกัดและอัตราอากรไม่ถูกต้อง โดยมีการสำแดงชนิดสินค้าเป็น AXIAL FAN MOTOR (พัดลมใช้กับเครื่องทำความเย็น) ผลการตรวจสอบ พบเป็นพัดลมที่มีใบพัดพร้อมตะแกรงและมอเตอร์ครบชุดสมบูรณ์ จำนวน 1,100 ชิ้น มูลค่ารวม 1.18 ล้านบาท ซึ่งสินค้าดังกล่าวมีการสำแดงประเภทพิกัดและอัตราอากรไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) แต่ไม่พบว่า มีการยื่นเอกสารดังกล่าวเพื่อประกอบการนำเข้าแต่อย่างใด
กรณีนี้เป็นความผิดฐานสำแดงประเภทพิกัดและอัตราอากรไม่ถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงอากร โดยเจตนาฉ้ออากร เป็นเหตุให้อากรขาด และปฏิบัติพิธีการศุลกากรไม่ครบถ้วน ตามมาตรา 202 และ 208 ประกอบมาตรา 252 และ 243 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
และในวันเดียวกัน กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ดำเนินการตรวจยึดสินค้า ที่ไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม จำนวน 2 คดี โดยคดีแรก ได้มีการขอหมายค้นเพื่อเข้าตรวจสอบโกดังเก็บสินค้าแบ่งให้เช่าในพื้นที่แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เนื่องจากได้รับแจ้งว่า มีการเก็บสินค้า ที่ไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมไว้เป็นจำนวนมาก ผลการตรวจค้น พบสินค้ามีเมืองกำเนิดต่างประเทศ เบื้องต้นไม่พบเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง แบ่งเป็น สินค้าที่ไม่มีหนังสือรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เช่น หมวกกันน็อค ลำโพง หม้ออเนกประสงค์ จำนวน 10,000 ชิ้น มูลค่า 4.4 ล้านบาท เลื่อยโซ่ยนต์ ผิดกฎหมายกว่า 300 ชิ้น มูลค่า 0.57 ล้านบาท สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ จำนวน 4,000 ชิ้น มูลค่า 0.4 ล้านบาท และอุปกรณ์สูบกัญชา จำนวน 2,000 ชิ้น มูลค่า 1 ล้านบาท รวมมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท
กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 และ 246 ประกอบมาตรา 166 และ มาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ในคดีที่ 2 ได้ทำการตรวจสอบสินค้าที่มีเมืองกำเนิดจากสาธารรัฐประชาชนจีน สำแดงชนิดสินค้าเป็นตู้ลำโพง จำนวน 1,300 ชิ้น เมื่อทำการตรวจสอบ พบเป็นลำโพงประกอบสำเร็จพร้อมใช้งานประเภทลำโพงบลูทูธ จำนวน 1,300 ชิ้น มูลค่ารวม 0.68 ล้านบาท ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่กำหนดให้เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แต่ไม่พบว่ามีหนังสือรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อประกอบการนำเข้าแต่อย่างใด
กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 202 และ 208 ประกอบ มาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 6 กันยายน 2567) กรมศุลกากรมีสถิติ การจับกุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทั้งสิ้น 30 คดี จำนวน 255,366 ชิ้น มูลค่ารวม 75.43 ล้านบาท
2. บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้เข้าตรวจสอบพัสดุภัณฑ์ ณ ที่ทำการบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สาขาสมุทรปราการ เนื่องจากได้รับแจ้งว่ามีของที่ยังไม่ได้เสียภาษีอากร ของต้องห้าม – ต้องจำกัดหรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ขนส่งมายัง ณ ที่ทำการของบริษัทฯ จึงเชิญสำนักงานป้องกันบุหรี่ผิดกฎหมายและการยาสูบแห่งประเทศไทยเข้าร่วมสังเกตการณ์ ผลการตรวจสอบ
พบบุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 395,200 มวน มูลค่า 1.9 ล้านบาท และบุหรี่ไฟฟ้าประเภทใช้แล้วทิ้ง จำนวน 720 ชิ้น มูลค่า 0.252 ล้านบาท รวมมูลค่า 2.1 ล้านบาท ซึ่งของดังกล่าวมีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่พบเอกสารหรือหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จึงทำการอายัดไว้เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 และ 246 ประกอบกับมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 6 กันยายน 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมบุหรี่ จำนวน 1,850 คดี มูลค่า 190.47 ล้านบาท และบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 371 คดี มูลค่า 104.55 ล้านบาท มูลค่ารวม 295.03 ล้านบาท
3. ยาเสพติด
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ได้ทำการวิเคราะห์พัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศที่มีความเสี่ยงลักลอบนำเข้ายาเสพติด ณ ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพ พบพัสดุต้องสงสัย 1 หีบห่อ ระบุต้นทางจากประเทศสเปน จึงทำการ X-Ray และพบความผิดปกติ จึงร่วมกับกองสืบสวนและปราบปราม พร้อมหน่วยงานภายใต้โครงการความร่วมมือด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction TaskForce : AITF) และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ทำการตรวจสอบโดยละเอียด เมื่อเปิดกล่องพบอาหารเสริม 1 ถุง ภายในมีผงสีขาวซุกซ่อนอยู่ภายในบรรจุภัณฑ์ หลังจากทดสอบด้วยน้ำยา พบว่า เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โคเคน (COCAINE) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 257 กรัม มูลค่า 0.77 ล้านบาท จึงได้ร่วมกันยึดพัสดุดังกล่าวเพื่อส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
กรณีนี้เป็นความผิดฐานนำของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นความผิดตามมาตรา 244 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ได้ทำการวิเคราะห์ใบขนสินค้าขาออกที่มีความเสี่ยงส่งออกยาเสพติด พบใบขนสินค้าต้องสงสัยระบุปลายทางสหราชอาณาจักร สำแดงชนิดสินค้าเป็นเสื้อยืด จึงประสานหน่วยงานภายใต้โครงการความร่วมมือด้านปราบปรามและสกัดกั้น
ยาเสพติดในพื้นที่ท่าเรือ (Seaport Interdiction Task Force : SITF) และทำการตรวจสอบ พบช่อดอกกัญชาอบแห้งอยู่ในถุงพลาสติกใสสุญญากาศ จำนวน 200 กิโลกรัม มูลค่า 2 ล้านบาท
กรณีนี้เป็นการพยายามส่งของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรออกไปนอกราชอาณาจักร โดยสำแดงชนิดของ ปริมาณ น้ำหนักและประเภทพิกัดเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัด อันเป็นความผิดฐานสำแดงเท็จ หลีกเลี่ยงข้อจำกัดตามมาตรา 202 208 และมาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 6 กันยายน 2567) กรมศุลกากรมีสถิติ การจับกุมยาเสพติด ทั้งสิ้น 148 คดี มูลค่ารวม 1,058.98 ล้านบาท
4. การลักลอบนำเงินตราข้ามพรมแดน
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 กรมศุลกากร โดยด่านศุลกากรอรัญประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 1 ได้ทำการจับกุมผู้กระทำความผิดในการลักลอบนำเงินตราเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้แจ้งรายการเกี่ยวกับเงินตราต่อพนักงานศุลกากร ขณะเดินทางผ่านด่านพรมแดนบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จำนวน 3 ราย
รายที่ 1 เป็นชายสัญชาติอินโดนีเซีย ลักลอบนำเข้าธนบัตรไทยชนิด 1,000 บาท จำนวน 1,191 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,191,000 บาท รายที่ 2 เป็นหญิงสัญชาติไทย ลักลอบนำเข้าธนบัตรไทยชนิด 1,000 บาท จำนวน 2,100 ฉบับ รวมเป็นเงิน 2,100,000 บาท และรายที่ 3 เป็นชายสัญชาติไทย ลักลอบนำเข้าธนบัตรไทยชนิด 1,000 บาท จำนวน 1,466 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,466,000 บาท รวมจำนวนเงินที่ลักลอบนำเข้ามาทั้ง 3 ราย มูลค่ารวม 4.757 ล้านบาท
กรณีนี้เป็นความผิดฐานพยายามนำเงินตราไทยเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่แจ้งรายการเกี่ยวกับเงินตราต่อพนักงานศุลกากรในขณะผ่านศุลกากร เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 242 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และเป็นการฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (ฉบับที่ 6)
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 6 กันยายน 2567) กรมศุลกากรมีสถิติ การจับกุมการลักลอบนำเงินตราเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งสิ้น 44 คดี มูลค่ารวม 110.42 ล้านบาท
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS