{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
"สุริยะ" ยันเดินหน้านโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายต่อเนื่อง จ่อชง ครม. ชุดใหม่ต่ออายุมาตรการ การันตีครบทุกสี-ทุกสายภายใน ก.ย. 68 เตรียมจ้างที่ปรึกษาศึกษาการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าอย่างละเอียด พร้อมมอบ สนข. ศึกษาแนวทางจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ยึดโมเดลต่างประเทศ มั่นใจช่วยลดค่าครองชีพ-แก้ปัญหาจราจรติดขัด ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสายว่า ตามที่ได้เปิดใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายใน 2 โครงการ ได้แก่ รถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้โดยสารให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้รายงานว่า จำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567) เพิ่มขึ้น 26.32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ จากข้อมูลยังระบุว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดง มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 51.15% และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เพิ่มขึ้น 17.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกัน ปริมาณผู้โดยสารยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้โดยสารประจำเดือนกรกฎาคม 2567 พบว่า มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง รวม 2,166,099 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ที่มีผู้ใช้งานจำนวน 2,014,473 ราย ขณะที่ รถไฟชานเมืองสายสีแดง มีผู้ใช้บริการรวม 982,825 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ที่มีผู้ใช้บริการ 899,389 ราย
ขณะเดียวกัน ยืนยันว่า นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น จะเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ต่ออายุมาตรการที่จะครบในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 อีกทั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... สอดคล้องกับแผนที่กำหนดไว้ว่า ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะสามารถใช้ได้ในทุกเส้นทาง ทุกสี ภายในเดือนกันยายน 2568 อย่างแน่นอน เพื่อลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางให้กับประชาชน
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนแนวคิดการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาลนั้น ล่าสุดอยู่ระหว่างการเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษารายละเอียดต่าง ๆ อย่างรอบคอบถึงแนวคิดดังกล่าวในทุกมิติ พร้อมทั้งพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย และคำนวณรายได้และค่าใช้จ่าย ทั้งต่อวัน, ต่อเดือน และต่อปี ซึ่งเป้าหมายของการซื้อคืนโครงการรถไฟฟ้านั้น เพื่อให้ประชาชนจะได้รับบริการรถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง และลดค่าครองชีพด้านการเดินทางให้กับประชาชน พร้อมทั้งต้องการผลักดันให้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยยืนยันว่า จะไม่กระทบกับเอกชนที่เป็นคู่สัญญาอยู่ในปัจจุบัน และได้รับรายได้กลับไปอย่างเหมาะสม
“การพิจารณาแนวทางซื้อคืนรถไฟฟ้าครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการยึดสัมปทานคืนจากเอกชน แต่เป็นการซื้อคืนระบบเดินรถรวมถึงสิทธิการเดินรถ แล้วจ้างเอกชนรายเดิมเดินรถ โดยเปลี่ยนสัญญาจากรูปแบบ PPP Net Cross เป็น PPP Gross Cost ซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด หากกระบวนการศึกษาเสร็จสิ้น จะแจ้งให้ประชาชนได้ทราบความคืบหน้าต่อไป“ นายสุริยะ กล่าว
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าว และนำรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ส่งเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่จะจัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงการคลัง เพื่อสนับสนุนในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น รวมถึงยังเป็นการแก้ปัญหาจราจรจิดขัด
ทั้งนี้ ล่าสุด สนข. รายงานว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนในการศึกษา Congestion Charge จากหน่วยงาน UK PACT โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดนโยบายเพื่อใช้กำหนดรูปแบบ และวิธีการ ตลอดจนค่าธรรมเนียม ในการนำรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามาในเขตพื้นที่ที่มีการติดขัดของการจราจรสูง โดยจะต้องศึกษามาตรการที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ปริมณฑล และประเทศไทย ซึ่งในพื้นที่นั้น ๆ จะต้องมีการพัฒนาระบบขนส่งด้วยรถไฟฟ้า และรถขนส่งสาธารณะอย่างครอบคลุม และมีความสะดวกในการใช้งานแล้ว
สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดได้มีการใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร อิตาลี สวีเดน สิงคโปร์ เป็นต้น โดยดำเนินการเพื่อช่วยสนับสนุน และส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยมลพิษ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทาง สนข. ได้เคยมีการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น (Pre-Feasibility) ของการใช้มาตรการ Congestion Charge โดยการสนับสนุนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของ เยอรมนี (GIZ)
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS