ธอส. จัดทำ 7 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยฝนตกหนัก น้ำท่วมภาคเหนือ

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ช่วยเหลือพี่น้องชาวภาคเหนือ ที่ประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ด้วยการจัดทำ “มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2567” โดยลูกค้าและประชาชนที่ประสบภัยสามารถติดต่อสาขาธนาคารทั่วประเทศ เพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” พร้อมร่วมส่งกำลังใจให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่ใกล้เคียง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพของประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ธอส. จึงจัดทำ “มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2567” ทั้งสิ้น 7 มาตรการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชน ประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 : สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่อยู่ระหว่างการใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (MRR -0.50%, MRR -1.00% หรือ MRR เป็นต้น) กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ ทางธรรมชาติสามารถขอลดเงินงวด 50% จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 2.00% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน

มาตรการที่ 2 : สำหรับลูกค้ากู้ใหม่ หรือลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหาย/ผลกระทบจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 2.00% ต่อปี นาน 1 ปี, ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย MRR -3.30% ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับ 3.245% ต่อปี), ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR -2.40% ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับ 4.145% ต่อปี) และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้ กรณีลูกค้าสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี, กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป อัตราดอกเบี้ย เท่ากับ MRR -0.50% ต่อปี

มาตรการที่ 3 : สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลา ประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ย

ตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 : สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาท (ตัดเงินต้นทั้งหมด) จากนั้น เดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน บวกอีก 100 บาท และเมื่อผ่อนชำระครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกค้ากลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 : สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระ โดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ (พิจารณาเป็นรายกรณี) มาตรการที่ 6 : สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและ ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือ เท่านั้น (พิจารณาเป็นรายกรณี)

มาตรการที่ 7 : พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติกับบริษัทประกันภัยที่ธนาคารจัดให้ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่ประสบภัยทุกราย อย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันสามารถแจ้งความเสียหายโดยใช้ภาพถ่าย จ่ายตามความเสียหายจริงไม่เกิน 20,000 บาท และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครอง ภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงอีกไม่เกิน 30,000 บาท ต่อปี (รายละเอียดและเงื่อนไขเป็นไปตามกรมธรรม์)

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการตามมาตรการที่ 1-6 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567 และมาตรการที่ 7 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ G H Bank Call Center โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Application : GHB ALL GEN และ www.ghbank.co.th


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment