อุตฯ กำหนดเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว ยกระดับอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืนคู่ชุมชน คาดเริ่มใช้ต้นปี 68

ก.อุตฯ กำหนดเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว มุ่งสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions สอดคล้องกับนโยบาย MIND ยกระดับอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืนคู่ชุมชน คาดเริ่มใช้หลักเกณฑ์ใหม่ ต้นปี 68

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว ครั้งที่ 1/2567 (7 ส.ค.67) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry: GI) ใหม่ เพื่อการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 และสอดคล้องกับนโยบาย MIND ของกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ใช้ “หัว” และ “ใจ” ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ภายใต้ 4 มิติ ได้แก่ มุ่งสร้างความสำเร็จให้ภาคธุรกิจ ดูแลสังคมโดยรอบโรงงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อยกระดับสถานประกอบการให้ดำเนินการตามแนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปลัดฯ ณัฐพล กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ จึงเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ ทักษะคุณภาพแรงงาน และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุลทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน ส่งเสริมและยกระดับสถานประกอบการให้ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นไปตามเป้าหมายการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ตามแนวคิด BCG มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ที่ตอบโจทย์ประเทศไทยและประชาคมโลกสามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายในปี 68 ทุกโรงงานต้องผ่าน GI 100% ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ต้องมุ่งมั่นประกอบกิจการโรงงานให้มีความปลอดภัย ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงงาน

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังให้ความสำคัญควบคู่ไปกับนโยบาย Green Productivity การเพิ่มผลิตภาพเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยการใช้เครื่องมือ เทคนิค ระบบการบริหารจัดการ และแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักการ PDCA (Plan Do Check Act) ในการยกระดับกระบวนการผลิตสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างกำไรและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

ด้านนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ. ได้ปรับหลักเกณฑ์อุตสาหกรรม

สีเขียว ให้สอดรับกับนโยบาย MIND ของกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนี้ ระดับ GI 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) มุ่งเน้นให้โรงงานอุตสาหกรรมร่วมผ่าน i-Industry เพื่อรับทราบนโยบายของ อก. และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงงาน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และความรับผิดชอบต่อสังคม ระดับ GI 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) โรงงานอุตสาหกรรมต้องมีการจัดทำแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ด้านการใช้ทรัพยากร ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ด้านการจัดการของเสีย และอื่น ๆ ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระดับ GI 3 ระบบสีเขียว (Green System) โรงงานอุตสาหกรรมต้องมีการประเมินตนเองผ่าน Thailand i4.0 Checkup เพื่อประเมินระดับความพร้อมสู่องค์กรแห่งยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ DIW Safety Application เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานด้านความปลอดภัย

รวมถึงแสดงผลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินการตามแผนงานด้านสิ่งแวดล้อม และจัดทำแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ระดับ GI 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) โดยโรงงานอุตสาหกรรมต้องได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 3 และได้รับการรับรอง CSR-DIW Continuous หรือ CSR-DPIM Continuous หรือ ผ่านการทวนสอบว่าเป็นไปตามแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม มอก. 26000-2553 หรือ ISO 26000-2010 จากหน่วยรับรอง หรือหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบที่ได้รับการรับรอง มีการจัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร มีการดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินการในสภาวะปกติ ระดับ GI 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) โดยโรงงานอุตสาหกรรมต้องได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 มีการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว กรณีห่วงโซ่อุปทานที่เป็นโรงงานกลุ่มที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก ต้องได้ GI 3 ขึ้นไป

ส่วนกรณีไม่เป็นโรงงานแต่มีการดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องมีมาตรการควบคุมหรือลดผลกระทบที่เกิดขึ้น มีการเสนอแผนความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Plan) หรือแผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission Plan) รวมถึงแสดงผลการกระจายรายได้สู่ชุมชน และผลการประเมินความพึงพอใจเฉลี่ย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

อธิบดีฯ จุลพงษ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรอ. ได้เตรียมมาตรการขับเคลื่อนหลักเกณฑ์ใหม่ ทั้งการประชาสัมพันธ์ อบรมสัมมนาถ่ายทอดความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ พัฒนาระบบสารสนเทศรองรับ การประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่ โดย กรอ. จะหารือกับหน่วยงานที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ภาคธุรกิจที่ได้รับการรับรอง GI ตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป ทั้งด้านการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการอำนวยความสะดวกการจดทะเบียนเครื่องจักร ตลอดจนการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐ โดยปัจจุบันมีจำนวนโรงงานที่แจ้งประกอบการ จำนวน 62,979 โรงงาน ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว จำนวน 56,221 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 89 GI ระดับ 1 จำนวน 49,094 โรงงาน GI ระดับ 2 จำนวน 3,155 โรงงาน GI ระดับ 3 จำนวน 3,450 โรงงาน GI ระดับ 4 จำนวน 454 โรงงาน และ GI ระดับ 5 จำนวน 68 โรงงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค.67)


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment