กรมทางรางยันสายสีเหลืองพร้อมกลับมาให้บริการเต็มรูปแบบ

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยนายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีฯ และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบและทดสอบระบบ รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (MRT สายสีเหลือง) ที่ทำการเดินรถตามปกติหลังเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงระหว่างสถานีหัวหมาก (YL11) ถึงสถานีศรีเอี่ยม (YL13) โดยมีนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นหัวหน้าคณะในการทดสอบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน ร่วมทดสอบ ณ สถานีหัวหมาก รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง

ย้อนกลับไปเมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว -สำโรง เกิดเหตุรางนำไฟฟ้าหลุดตกลงมาค้างบนทางเดินฉุกเฉิน และมีชิ้นส่วนอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าร่วงลงสู่พื้นด้านล่าง ช่วงระหว่างสถานีกลันตันถึงสถานีศรีอุดม ซึ่งแม้จะเปิดให้ผู้โดยสารใช้บริการมา แต่ก็ต้องเปลี่ยนขบวน ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทาง โดยปัจจุบันผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการซ่อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมให้บริการตามปกติ ครบทั้ง 23 สถานี (ตั้งแต่สถานีลาดพร้าว - สถานีสำโรง)

ทั้งนี้ ก่อนจะมีการทดสอบการให้บริการตามปกติ ขร. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตาม เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยได้มีการดำเนินการตรวจสอบรอยต่อคานทางวิ่ง (expansion joint) ทั้งโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองและสีชมพู ซึ่งมีการตรวจเช็คมาร์คหัวนอต เพื่อสังเกตการคลายตัวของนอต การเคาะแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของตัวแผ่นเหล็กจากเสียงที่เกิดขึ้น การใช้อุปกรณ์พิเศษรูปตัวแอล สอดไปบริเวณระหว่างหัวนอตกับแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) เพื่อตรวจสอบนอตที่ไม่แนบแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) หรือการขันทอร์กด้วยเครื่องมือตรวจวัดค่าทอร์กที่มีการสอบเทียบ (calibrate) เพื่อตรวจสภาพเกลียวของรูนอตก่อนเปลี่ยนนอตใหม่ให้แนบกับแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) ซึ่งการดำเนินการนี้ ยังมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องต่อไป

ขร. ได้กำชับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้ให้บริการ (EBM) ผู้รับสัมปทานให้เพิ่มความเข้มงวดการตรวจสภาพโครงสร้าง ขบวนรถไฟฟ้า อุปกรณ์ทุกชิ้น โดยเพิ่มความถี่ในการขันทอร์กจาก 4 เดือนเป็น 2 เดือน และถี่กว่านั้นในส่วนที่สำคัญเพื่อป้องกันความผิดพลาดและมีความปลอดภัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ผูัให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองและสายสีชมพูได้ดำเนินการติดตั้งกล้อง image processing ร่วมกับ AI ไว้ใต้ขบวนรถไฟฟ้า เพื่อตรวจจับความผิดปกติของชิ้นส่วนในระบบราง หากมีตำแหน่งคลาดเคลื่อนจากเดิม จะมีการแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมการเดินรถ เพื่อประสานผู้เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งได้ดำเนินการซ่อมบำรุงตามคู่มือและแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนมั่นใจสูงสุดในการใช้บริการระบบราง


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment