ไบโอเทค สวทช. จัดตั้งศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีด้านมันสำปะหลัง สร้าง 4 หลักสูตรอบรมผู้เชี่ยวชาญไทยและเพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขง

ไบโอเทค สวทช. แถลงข่าว ปิดโครงการ TTC Project สามารถขยายเครือข่ายความร่วมมือตลอดห่วงโซ่มูลค่า จัดตั้งศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีด้านมันสำปะหลัง พร้อมพัฒนา 4 หลักสูตรสำคัญอบรมแก่ผู้เชี่ยวชาญกว่า 150 คนในไทยและเพื่อนบ้าน

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า สวทช. ได้ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนพัฒนางานวิจัยด้านมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่งานวิจัยต้นน้ำ เช่น เทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์สะอาด ระบบการสร้างต้นพันธุ์มันสำปะหลังสายพันธุ์ไทยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การพัฒนาแนวทางการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากต้นพันธุ์ปลอดโรคอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี mini stem cutting และการพัฒนาต้นแบบชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test เป็นต้น งานวิจัยกลางน้ำ เช่น การวิเคราะห์ฐานข้อมูลค่ามาตรฐานกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรการผลิตของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย และงานวิจัยปลายน้ำ เช่น ต้นแบบผลิตภัณฑ์ช้อน ส้อม และมีดไบโอพลาสติกจากมันสำปะหลัง ต้นแบบวัสดุทดแทนไม้ธรรมชาติจากเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่มันสำปะหลัง และพัฒนากระบวนการผลิตฟลาวมันสำปะหลังระดับอุตสาหกรรมจากมันสำปะหลังชนิดขมที่มีปริมาณไซยาไนด์สูง พร้อมทั้งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฟลาวมันสำปะหลังให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังระดับอุตสาหกรรม

ดร.วรินธร สงคศิริ หัวหน้าโครงการ TTC และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่า จากความสำเร็จโครงการและองค์ความรู้ที่สั่งสมกว่า 20 ปี ทีมวิจัยไบโอเทค มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปยังอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศลุ่มน้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา ลาว เวียดนาม ไทย และยังได้ทำงานร่วมกับประเทศจีนอีกด้วย ทีมวิจัยจึงได้ริเริ่มโครงการชื่อ TTC เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญของห่วงโซ่มันสำปะหลัง ประกอบด้วย เกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลัง นักวิชาการ บุคลากร และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศลุ่มน้ำโขง ทั้งนี้ มันสำปะหลังถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ โดยในปี 2566 ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 70% และหากรวมกับประเทศเพื่อนบ้านลุ่มแม่น้ำโขง จะพบว่ามีส่วนแบ่งตลาดโลกสูงถึง 95%

ผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการ TTC พบว่า สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่มูลค่ามันสำปะหลัง โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งจากภาครัฐและเอกชน จำนวน 154 คน จากประเทศในแถบลุ่มน้ำโขงและสาธารณรัฐประชาชนจีน สามารถขยายเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังตลอดห่วงโซ่มูลค่าผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ

1.1 การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีด้านมันสำปะหลัง (Cassava Information Center)

1.2 การพัฒนาหลักสูตร คู่มือ และสื่อสำหรับการจัดอบรม 4 หลักสูตร ได้แก่ การปลูกมันสำปะหลัง การผลิตแป้งและแปรรูป การจัดการของเสียและการผลิตก๊าซชีวภาพ และการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง

1.3 การอบรมผู้เชี่ยวชาญใน 4 หลักสูตรข้างต้น โดยจัดอบรมในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

1.4 การถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการ

1.5 กิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่ต่อยอดจากโครงการ เช่น โครงการการวิเคราะห์ฐานข้อมูลค่ามาตรฐานกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรการผลิต และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย โครงการการพัฒนาโมเดลนำร่องในการสนับสนุนและขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบองค์รวมโดยผ่านกลไกมหาวิทยาลัย (CIGUS Model) โดยใช้อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังเป็นต้นแบบ รวมทั้งโครงการการส่งเสริมความยั่งยืนและความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพในภูมิภาคอาเซียนจากข้อมูลและประสบการณ์ของประเทศไทย สนับสนุนโดย สมาคมแป้งมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment