โรคพิษสุนัขบ้า พุ่ง 2 เท่า

โรคพิษสุนัขบ้า พุ่ง 2 เท่า! 

ตั้งแต่ต้นปี 2561 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 3 ราย ที่จังหวัดสุรินทร์ สงขลา และตรัง โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย ไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีน

รายงานของกรมปศุสัตว์ ระบุว่า 2 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. – ก.พ. 2561) มีสุนัขติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 315 ตัว ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560 ถึง 2 เท่า ส่วนมากพบในสุนัข ร้อยละ 90 รองลงมาเป็นแมวและวัวตามลำดับ ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากเจ้าของไม่นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกัน 

สาเหตุที่โรคพิษสุนัขบ้าระบาดเพิ่มขึ้น 2 เท่า เนื่องจากการชะลอฉีดวัคซีนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากการท้วงติงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ห้ามไม่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้งบในการจัดซื้อวัคซีน เพราะเข้าใจว่าไม่ใช่หน้าที่ของท้องถิ่นและเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกับกรมปศุสัตว์ เนื่องจากกรมปศุสัตว์ได้งบประมาณส่วนนี้ไปแล้ว ท้องถิ่นก็ไม่ควรไปฉีด ทำให้ทุกท้องถิ่นยกเลิกการจัดซื้อวัคซีนและหยุดฉีดพร้อมกัน รวมถึงพบว่าบางท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนปลอมไร้คุณภาพ แต่ราคาสูงเกินจริง สตง.จึงทักท้วงและเรียกเงินคืน ทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น

รวมถึงปัญหาจากการพัฒนากฎหมายหลายเรื่อง เช่น ผู้ที่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้นั้น ต้องเป็นสัตวแพทย์หรือผู้ช่วยสัตวแพทย์เท่านั้น และหากท้องถิ่นจะฉีดเองต้องยืนยันให้ได้ว่าไม่ได้ฉีดซ้ำตัวเดิมที่กรมปศุสัตว์ฉีดไปแล้ว เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นการทุจริต 

ล่าสุด สตง. แจง ไม่ได้เป็นต้นเหตุทำโรคพิษสุนัขบ้าระบาด 

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เผยถึงกระแสการกล่าวอ้างว่าการทักท้วงของสตง. ทำให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องหยุดชะงักเป็นเวลา 1-2 ปีนั้น น่าจะคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง เนื่องจาก สตง. มีความพยายามจะแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด และไม่ได้นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมแจงว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือเวียนแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยังนายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันแล้ว

ประกาศ! พื้นที่โรคพิษสุนัขบ้าระบาดแล้ว 15 จังหวัด

ล่าสุด กรมปศุสัตว์ประกาศให้ “นนทบุรี” เป็นพื้นที่พิษสุนัขบ้าระบาดเพิ่มอีกหนึ่งจังหวัด รวมปัจจุบันมีจังหวัดที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดง (พบการแพร่ระบาดในคนและมีผู้เสียชีวิต) เพิ่มเป็น 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สุรินทร์ ชลบุรี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สงขลา ระยอง ตาก ศรีสะเกษ ตรัง และสระแก้ว 

หลักเกณฑ์ในการประกาศพื้นที่โรคระบาดของกรมปศุสัตว์ คือ หากเจ้าหน้าที่หรือสัตวแพทย์ได้รับแจ้ง ตรวจพบว่ามีสัตว์ป่วยหรือตาย รู้ว่าเป็นโรคระบาดในที่สาธารณะ เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการกักตัวสัตว์ไว้ แม้จะพบสัตว์ติดเชื้อเพียงตัวเดียวแต่มีการติดเชื้อในคนด้วย สามารถประกาศเป็นเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้าได้ตามดุลยพินิจของกรมปศุสัตว์แต่ละจังหวัด หรือไม่ประกาศก็ได้หากกรมปศุสัตว์สามารถควบคุมโรคได้ หลังจากนั้นต้องนำสัตว์ที่สัมผัสโรคมากักไว้ 60 วัน หากพบว่าสุนัขและแมวติดเชื้อเพิ่มก็นำไปทำลาย

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นแล้วตาย!

จากการสำรวจความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า พบว่าคนไทยยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยประชาชนร้อยละ 60 คิดว่าโรคพิษสุนัขบ้ารักษาหาย ร้อยละ 59 คิดว่าไม่เป็นไรหากถูกสุนัขหรือแมวข่วนเป็นแผลเล็กน้อยจึงไม่ทำความสะอาดแผลเบื้องต้นและไม่ไปพบแพทย์เพื่อขอรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือไม่ไปรับวัคซีนให้ครบจำนวนครั้ง

โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด โดยไวรัสนี้จะอยู่ที่น้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ และสามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ทางบาดแผล ถ้าเชื้อจากน้ำลายเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลแล้ว เชื้อไวรัสจะอยู่บริเวณกล้ามเนื้อที่ใกล้บาดแผลนั้น และแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนกระทั่งเดินทางเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลายที่เลี้ยงกล้ามเนื้อนั้นๆ จากเส้นประสาทส่วนปลาย เชื้อไวรัสจะเดินทางต่อไปยังไขสันหลัง โดยมีอัตราความเร็วในการเดินทางอยู่ที่ 12 – 24 มิลลิเมตรต่อวัน

เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ไขสันหลังได้แล้ว ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการมีไข้ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเรียกว่าอาการระยะฟักตัว อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1 -7 วัน จากนั้นเชื้อไวรัสจะเดินทางเข้าสู่สมองอย่างรวดเร็ว ในอัตราประมาณ 200 - 400 มิลลิเมตรต่อวัน ดังนั้นหากแผลยิ่งอยู่ใกล้สมองเท่าไหร่ ระยะฟักตัวยิ่งสั้นขึ้น

วิธีปฐมพยาบาลและการรักษา

หากถูกสัตว์กัด ข่วนหรือเลียบริเวณแผล ให้รีบล้างแผลด้วยการฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง หรือล้างด้วยแอลกอฮอล์และทำแผลด้วยทิงเจอร์ไอโอดีนหรือเบตาดีน จะช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสได้ จากนั้นให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนกันบาดทะยัก หากสุนัขที่กัด มีอาการตามลักษณะของโรคพิษสุนัขบ้า หรือเป็นสุนัขจรจัดให้รีบฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ที่สำคัญต้องรับวัคซีนให้ครบจำนวนครั้งตามที่หมอนัด


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment