กสิกรไทยจับมือจุฬาฯ เนคเทค พัฒนาสุดยอดโปรแกรมคิดและเข้าใจข้อความภาษาไทย

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ (ที่ 3 จากซ้าย) อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือวิจัยนวัตกรรมทางภาษาไทย Thai NLP ในส่วนของภาษาทางการเงินการธนาคารและธุรกิจ สร้างความสามารถให้คอมพิวเตอร์ทำความเข้าใจข้อความที่ลูกค้าพิมพ์เข้ามาในระบบต่าง ๆ เพื่อให้บริการและตอบคำถามลูกค้าโดยแชทบอทบนช่องทางโซเชียลมีเดีย มีความถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างตรงเป้าหมาย สร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า และหวังเป็นต้นแบบให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชนนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน

นางสาวขัตติยา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การพัฒนาโปรแกรมการประมวลผลทางภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) หรือ NLP ซึ่งเป็นการพัฒนานวัตกรรมการประมวลผลภาษาไทยซึ่งเรียกว่า Thai NLP ในส่วนของภาษาทางการเงินการธนาคารและธุรกิจ ทั้งนี้คอมพิวเตอร์ AI จะฉลาดไม่ได้เลยถ้าไม่มีเทคโนโลยี NLP ที่แปลภาษามนุษย์ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว องค์ประกอบหลักจึงเป็นเรื่องของภาษาและคอมพิวเตอร์ และสำหรับภาษาไทยนั้นคงไม่มีใครเข้าใจได้ดีเท่าคนไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่มีบุคลากรที่มีความแข็งแกร่งทั้งทางด้านภาษาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ เนคเทค เป็นสถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และทำการวิจัยเรื่องนี้มายาวนาน ส่วนธนาคารกสิกรไทยก็เป็นผู้นำด้านธุรกิจการเงินการธนาคารที่พร้อมสนับสนุนข้อมูลเพื่อให้งานวิจัยออกมาใช้ได้จริงกับภาคธุรกิจ เกิดเป็นความสำเร็จในการพัฒนา Thai NLP ครั้งนี้ ซึ่งธนาคารได้มีการทดลองใช้งานระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงได้เห็นความก้าวหน้าของความสามารถในการแปลความหมายของภาษาไทยในเชิงลึกได้แม่นยำมากขึ้น อันจะเป็นต้นแบบในการนำไปพัฒนาต่อยอดใช้งานสำหรับธุรกิจธนาคารและองค์กรอื่น ๆ ต่อไป

สำหรับธนาคารกสิกรไทย ได้มีการนำ Thai NLP นวัตกรรมการประมวลภาษาไทยเข้ามาใช้เพื่อสร้างความสามารถให้คอมพิวเตอร์ทำความเข้าใจข้อความที่ลูกค้าพิมพ์เข้ามาในระบบต่าง ๆ เพื่อการให้บริการและตอบคำถามลูกค้าโดยแชทบอทบนช่องทางโซเชียลมีเดียให้มีความถูกต้องแม่นยำและรวดเร็วได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการประมวลผลเพื่อทำความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง (Customer Insight) จากการเก็บความเห็นลูกค้าซึ่งแต่ก่อนธนาคารต้องจ้างบริษัทภายนอกดำเนินการเพื่อทำการวิจัยซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงหลายล้านบาทและได้ความเห็นลูกค้าในปริมาณไม่มาก ปัจจุบันธนาคารสามารถเก็บความเห็นลูกค้าได้ครอบคลุมทั้งฐานของธนาคารในช่องทางต่าง ๆ ในเวลาอันรวดเร็วและนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างตรงเป้าหมาย เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า ตัวอย่างธุรกิจในต่างประเทศที่นำ NLP มาใช้ ก็มี E Market Place ในจีนที่ใช้ NLP มาช่วยประมวลผลสิ่งที่ลูกค้าพูด เขียน และอ่าน เป็นส่วนประกอบการนำเสนอสินค้าที่ตรงใจลูกค้า หรือใช้แชทบอทแทนพนักงานในการแนะนำสินค้าและบริการหลังการขาย

เมื่อ Thai NLP สามารถพัฒนาให้คอมพิวเตอร์ฉลาดได้ธนาคารจะมี Virtual Assistant ที่จะสามารถเป็นเพื่อนกับลูกค้าคอยช่วยเหลือลูกค้าให้ได้รับบริการที่เกินความคาดหวัง และได้รับความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เราเห็นว่าในอนาคต NLP จะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจทั้งของธนาคารและธุรกิจอื่น ๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยวิเคราะห์และจัดการเอกสาร และองค์ความรู้ของธนาคาร ช่วยคัดกรองผู้สมัครเข้าทำงานกับธนาคาร สรุปเนื้อหาสำคัญที่จำเป็นต่อการอนุมัติสินเชื่อออกมาจากเอกสารประกอบการขอสินเชื่อรวมถึงยังสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบเอกสารสัญญาและธุรกรรมต่าง ๆ ได้ในอนาคต


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment