จี้ กทท. เร่งงานก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส​ 3

“มนพร เจริญศรี” ลงพื้นที่เช็กความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง​ ระยะที่​ 3 พร้อมติดตามการดำเนินการสรรหาเอกชนร่วมลงทุนใหม่ตาม พรบ.​ ร่วมลงทุนฯ​ พ.ศ. 2562 ของท่าเทียบเรือ​A5 โครงการ SRTO และ​โครงการท่าเทียบเรือ​ A เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ​ ของท่าเรือ

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รชค.) พร้อมด้วยนายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะตรวจราชการร่วมลงพื้นที่ฯ ตรวจเยี่ยมและประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการพัฒนาของท่าเรือแหลมฉบัง โดยมี นายดรุฒ คำวิชิตธนาภา​ กรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. ว่าที่ร้อยตรี รัฐกร เขียวไพศาล นักบริหาร 16 ประจำผู้อำนวยการ กทท. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง คณะผู้บริหาร กทท. และกิจการร่วมค้า​ CNNC​ ร่วมให้การต้อนรับ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

ผู้อำนวยการ กทท. รายงานถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 กิจการร่วมค้า CNNC สามารถดำเนินงานได้แล้วที่ 22.01% โดยมีเครื่องจักรทางทะเล 71 ลำ และกำลังคนจำนวน 520 คน ทั้งนี้ กิจการร่วมค้าฯ​ได้แจ้งปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานว่าจำนวนหินที่ใช้ในโครงการฯ และเครื่องจักรยังมีไม่เพียงพอ จึงมีแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการประสานเหมืองหินให้เร่งผลิตหินให้เพียงพอภายในเดือนนี้ และได้มีการเพิ่มเครื่องจักรในการทำ Geotube ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการก่อสร้างคันหินล้อมพื้นที่ และในส่วนของงานถมทะเลได้เพิ่มเรือ Grab Dredger เข้ามาช่วยในการขุดลอก

อย่างไรก็ตาม กิจการร่วมค้าฯ​ ได้นำเสนอแผนเร่งรัดงานให้ทันตามแผน 4.0 โดยภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2567 วันที่ครบกำหนดส่งมอบพื้นที่ถมทะเล​ 3 จะต้องมีความก้าวหน้าสะสมอย่างน้อยร้อยละ 35.87 เพื่อให้สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 มีความก้าวหน้าสะสมร้อยละ 37.77 ดังนั้นนับจากเดือนมีนาคมนี้จะต้องดำเนินการให้ได้ความก้าวหน้าประจำเดือนอย่างน้อยร้อยละ 4.04

ทั้งนี้ กิจการร่วมค้า CNNC มั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ถมทะเล 3 ได้ทันภายในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ และจะส่งมอบพื้นที่ F1 ของโครงการฯ ให้แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญาได้ภายในปลายปี 2568 และกำหนดส่งมอบแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ ในปี 2569

สำหรับการดำเนินการสรรหาเอกชนร่วมลงทุนใหม่ตาม พ.ร.บ ร่วมลงลงทุนฯ พ.ศ.2562 ของท่าเทียบเรือ A5 ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือสำหรับขนส่งรถยนต์ มีความยาวหน้าท่า 527 เมตร และมีขีดความสามารถขนถ่ายรถยนต์ 700,000 คัน/ปี โดยบริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 เมษายน 2569 ซึ่งภายหลังสิ้นสุดสัญญาต้องดำเนินการเป็นโครงการร่วมลงทุนใหม่ ทั้งนี้ กทท.ได้มีการจัดทำรายงานผลการศึกษาฯ และหลักการโครงการฯ เรียบร้อยแล้ว โดยเสนอผ่าน กระทรวงคมนาคม ตามขั้นตอนของกฎหมาย และขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการตามมติคณะกรรมการ PPP และรอผลสรุปจากที่ประชุม โดย สคร. จะแจ้งให้ทราบผลต่อไป

ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันของโครงการ SRTO ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2561 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 600 ไร่ บริเวณถ้าเทียบเรือ B กับ C มีจำนวนรวม 6 ราง สามารถจอดรถไฟได้สูงสุด 8 ขบวน รองรับตู้สินค้าสูงสุด 2 ล้าน​TEU ต่อปี ได้มีการจัดทำแผนดำเนินการเพิ่มเติม​จำนวน​ 3 แผน​ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟของ กทท. ดังนี้ 1. จ้างเหมาบริการ Reach Stacker จำนวน 2 คัน ภายในเดือนเมษายน 2567 2. จ้างเหมาเปลี่ยนสายไฟฟ้า (Cable Reel) ของ RMG จำนวน 2 คัน (เพิ่มระยะสายจาก 480 เมตรเป็น 600 เมตร) ภายในเดือนกรกฎาคม 2568 3. จ้างเหมาสร้าง RMG จำนวน 2 คัน และ RTG จำนวน 4 คัน (จัดหาเครื่องมือระยะที่ 2) หากดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนจะสามารถสนับสนุนนโยบายการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Shift Mode) จากทางถนนเป็นทางราง เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศให้มีการประหยัดพลังงานมากขึ้น ลดมลภาวะ รวมทั้งลดต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศให้ต่ำลงอีกด้วย

ในส่วนของโครงการท่าเทียบเรือ A เป็นท่าเทียบเรือที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายสำคัญในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนไปเป็นทางรางและทางน้ำ และส่งเสริมการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือกรุงเทพ ในปัจจุบันได้มีการยกเลิกประกาศ กทท. เรื่องให้เรือชายฝั่งที่รับตู้สินค้าขาเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ดำเนินการบรรจุตู้สินค้าลงเรือ (Loading Container) ณ ท่าเทียบเรือชายฝั่ง ข้อที่ 1 “ให้เรือชายฝั่งที่จะดำเนินการบรรทุกตู้สินค้าลงเรือ (Loading Container) ที่ ทลฉ. มาดำเนินการบรรทุกตู้สินค้า ณ ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) เท่านั้น” โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไปนั้น ส่งผลให้ปริมาณตู้สินค้าใน ทลฉ. ลดลง เพราะเจ้าของตู้สินค้าประสงค์จะขนถ่ายตรง ณ TLC เนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกกว่า ซึ่ง กทท. อยู่ระหว่างทบทวนอัตราค่าภาระ โครงสร้าง และนำเสนอ ครม. ต่อไป


COMMENTS

RELATED TOPICS

Please wait a moment