ดัชนี SMESI มกราคม 2567 ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 55.0

สสว. เผยดัชนี SMESI เดือนมกราคม 2567 ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 55.0 โดยเฉพาะภาคบริการ ในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง แต่ SME ยังมีความกังวลต้นทุนด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) ประจำเดือนมกราคม 2567 เปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.0 จากระดับ 54.3 เป็นผลมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อเนื่องในธุรกิจภาคบริการ ขณะเดียวกันราคาขายสินค้าเกษตรหลายรายการทั้งกลุ่มพืชไร่และพืชสวนที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจการเกษตรขยายตัวได้ดีเช่นกัน

อย่างไรก็ตามในด้านต้นทุน โดยเฉพาะค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งเป็นหนึ่งในความกังวลของผู้ประกอบการ ณ ช่วงเวลานี้ หากพิจารณาแยกตามดัชนีองค์ประกอบปัจจุบัน พบว่า องค์ประกอบด้านปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ กำไร คำสั่งซื้อโดยรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 60.2 67.6 และ 62.4 จาก 57.6 66.0 และ 60.4 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีองค์ประกอบด้านต้นทุนรวม (ต่อหน่วย) การลงทุนโดยรวม และการจ้างงาน กลับปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 37.4 52.3 และ 50.4 จาก 38.7 52.8 และ 50.5 ตามลำดับ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ (SMESI) รายภาคธุรกิจ พบว่า ภาคธุรกิจการเกษตร ค่าดัชนีขยายตัวเพิ่มขึ้นชัดเจนตามราคาสินค้าเกษตร ทั้งพืชไร่และพืชสวนเกือบทั้งหมดปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณผลผลิตที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ขณะที่ธุรกิจภาคบริการขยายตัวได้ดีในหลายสาขาธุรกิจ เช่น กลุ่มบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้าง การซ่อมบำรุง การท่องเที่ยวและการบริการในกลุ่ม นวด สปา หรือบริการทางกีฬา ในการทางกลับกันภาพรวมของธุรกิจภาคการค้าทรงตัว แต่กลุ่มการค้าสินค้าอุปโภคบริโภคยังมียอดขายเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยว รวมถึงการค้าวัสดุก่อสร้างขยายตัวชัดเจน ขณะที่ภาคการผลิตทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับราคาสูงขึ้นยังเป็นปัจจัยหลักที่กระทบต่อต้นทุนของ SME

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ (SMESI) รายภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 57.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 55.5 โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชาวจีน และเกาหลีใต้ โดยกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม และวิถีชีวิต เช่น ปางช้าง ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นชัดเจนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภาคตะวันออก ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 57.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 55.4 เศรษฐกิจในพื้นที่ขยายตัวจากเงินโบนัสที่จ่ายในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ส่งผลดีกับกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร กิจกรรมบริการ สปา นวด รวมถึงบริการด้านยิม หรือ ฟิตเนส

ขณะที่ภาคการผลิตส่วนใหญ่เผชิญกับความกังวลด้านต้นทุน เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีอยู่ที่ 56.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 55.9 เศรษฐกิจขยายตัวเล็กน้อย โดยภาคการค้าได้รับกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงกลุ่มให้เช่าบริการที่พักรายวัน เช่น อพาร์ตเมนท์หรือปล่อยเช่าคอนโด ก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ภาคธุรกิจการเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นจากทั้งผลดัชนีของราคาสินค้าที่สูงขึ้นและการจัดงานเกษตรแฟร์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสรต์ ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าของผู้บริโภค ภาคกลาง ค่าดัชนีอยู่ที่ 54.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.0 เศรษฐกิจภาพรวมค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตามความกังวลของต้นทุนราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง

ในขณะที่ภาคการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น ทั้งจากลูกค้าในกลุ่มครัวเรือน รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่มีการลงทุนขยายหรือปรับปรุงสถานประกอบการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 52.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.4 ผลจากต้นทุนราคาที่สูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายปรับราคาขายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตและภาคการค้า ซึ่งกระทบกับยอดขายของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตามธุรกิจภาคการเกษตรยังขยายตัวดีจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาคใต้ ค่าดัชนีอยู่ที่ 53.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.9 ภาพรวมเศรษฐกิจใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า

เนื่องจากสินค้ามีต้นทุนที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตามภาคการค้าโดยเฉพาะค้าปลีกขยายตัวชัดเจน รวมถึงมีการจ้างลูกจ้างรายวันเพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาคธุรกิจการเกษตรในภาคใต้ยังชะลอตัวต่อเนื่อง แม้ราคาสินค้าเกษตร เช่น ปาล์ม และยางพาราจะปรับตัวดีขึ้น แต่ผลผลิตบางส่วนเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงก่อนหน้า และเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้เนื่องจากเป็นฤดูกาลยางผลัดใบ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า คาดว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 55.3 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นปัจจัยเพิ่มกำลังซื้อในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคบริการ และการค้าส่ง นอกจากนี้ผู้ประกอบการในภาคการค้า ภาคการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ยังคาดว่าธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น ตามคำสั่งซื้อที่เติบโตต่อเนื่องจากปัจจุบัน แต่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลด้านต้นทุนและกำลังซื้อเป็นสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจในภาคการค้าและภาคการผลิต

อย่างไรก็ตาม SME ต้องการให้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือในการควบคุมราคาสินค้า/วัตถุดิบ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อช่วยลดภาระด้านต้นทุน การลดอัตราดอกเบี้ยที่จะช่วยให้ SME มีสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้นและผู้บริโภคก็จะมีเงินคงเหลือเพิ่มขึ้นสำหรับการใช้จ่าย นอกจากนี้ SME ยังคงต้องการให้มีการส่งเสริมมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งเสริมด้านองค์ความรู้ เช่น ระบบบริหารจัดการด้านการเงิน การขาย การจัดการแรงงาน การส่งเสริมการจัดจ้างแรงงานที่มีทักษะที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการเพิ่มพื้นที่แสดงสินค้าเพื่อเพิ่มโอกาสให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment