{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) จัดงานสัมมนาแฟล็กชิปประจำปี KKP YEAR AHEAD 2024 เพื่อฉายภาพทิศทางเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์การลงทุน ตลอดจนวิเคราะห์อุตสาหกรรมสำคัญให้แก่ลูกค้าของกลุ่มธุรกิจฯ โดยระดมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนของ KKP อาทิ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บล.เกียรตินาคินภัทร นายทวีศักดิ์ เผ่าพัลลภ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บล.เกียรตินาคินภัทร ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ฯลฯ ตลอดจนวิทยากรรับเชิญจากหลากหลายสาขา เช่น ดร.สันติธาร เสถียรไทย แพทองธาร ชินวัตร นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นิ้วกลม-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือผู้เชี่ยวชาญของกองทุนระดับโลกอย่าง Oaktree Capital Management มาแลกเปลี่ยนมุมมองในหลากหลายเวทีภายใต้ตีม “เส้นทางสู่ความมั่งคั่ง (Pathway to Prosperity)” ทั้งนี้ นางกุลนันท์ ซานไทโว ประธานธุรกิจ กลุ่มงานลูกค้าบุคคล กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมนำคณะผู้บริหารต้อนรับลูกค้า ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงประเด็นที่ต้องจับตามองทางเศรษฐกิจปีนี้ ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย ความไม่แน่นอนทางการเมืองโลก และแนวโน้มของเศรษฐกิจไทย
สำหรับเศรษฐกิจโลกในภาพรวมคาดว่าจะอยู่ในภาวะชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน จากการถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังจากที่เติบโตแข็งแกร่งกว่าคาดในปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ด้วยปัจจัยสองประการ คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีโมเมนตัมที่แข็งแกร่ง ซึ่งช่วยชะลอผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และธนาคารกลางยังคงดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวังและพยายามหลีกเลี่ยงวิกฤตภาคการเงิน
ในประเด็นเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อในสหรัฐมีแนวโน้มลดลง แต่เศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่งจะทำให้เงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมาย แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้ แต่อาจจะปรับลดได้เพียง 4 ครั้งในปีนี้ เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ของตลาด 6-7 ครั้ง และประเด็นสุดท้าย คือความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ และไม่สามารถมองข้ามไปได้
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว และการส่งออก แต่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่การเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตช้า ทั้งจากปัญหาโครงสร้างประชากร และความสามารถความสามารถในการแข่งขัน สัญญาณเหล่านี้ทำให้การปฏิรูปเชิงโครงสร้างมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง
ด้านนายทวีศักดิ์ เผ่าพัลลภ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวให้คำแนะนำการลงทุนในปี 2567 ว่า KKP มองว่าตราสารหนี้ทั่วโลกเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนที่สุดในปีนี้ เนื่องจากมีการได้อัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับความเสี่ยง โดยแนะนำผสมหุ้นกู้เอกชนที่มีคุณภาพดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งรายได้และผลตอบแทนต่อความเสี่ยง
นอกจากนี้ จากสาเหตุต่างๆ ทั้งการปรับลดการลงทุนในกลุ่มพลังงาน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมไปถึงเทรนด์การลดคาร์บอน และการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศหลัก ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค มีความผันผวน และเงินเฟ้อสูงกว่าที่ผ่านมา จึงยังควรลงทุนในกลุ่ม Real Asset เช่น ในกลุ่มของสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) รวมไปถึง สินทรัพย์ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก (Global REITs) และโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก (Global Infrastructure) เพื่อช่วยรับมือด้านความเสี่ยงเงินเฟ้อกับความผันผวนเหล่านี้
สุดท้าย คือ การลงทุนตราสารทุน ควรเลือกหุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพสูง มีผลกำไรสม่ำเสมอ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูง จึงควรเลือกลงทุนในบริษัทที่มีงบดุลที่แข็งแรง และไม่มีหนี้เยอะเกินไป เพราะจะสามารถรับมือกับต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นและสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า
ในส่วนของหุ้นทั่วโลก KKP มองว่าการปรับขึ้นของหุ้นน่าจะกระจายออกจากกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ซึ่งปรับขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา สำหรับคำแนะนำตามรายอุตสาหกรรม KKP มีมุมมองด้านบวกต่ออุตสาหกรรม Semi-Conductor, Energy, Communication Service และ Consumer Staples
สำหรับหุ้นไทยในปี 2567 คาดว่าจะเห็นการเติบโตกำไรที่โดดเด่นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หนุนโดยภาคท่องเที่ยวเป็นหลักและภาคส่งออกที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นบ้าง การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการบริโภคอาจจะเติบโตโดดเด่นมากถ้ารัฐบาลออกมาตรการ Digital Wallet ได้สำเร็จนอกจากนั้นหุ้นไทยอาจได้รับแรงหนุนจากเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติหลังจากที่ถูกเทขายอย่างหนักในปีที่ผ่านมา โดยหากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว ประกอบกับมูลค่าหุ้นไทยยังมีราคาต่ำอยู่ รวมถึงแรงกดดันจากค่าเงินต่างๆ ลดลง อาจมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลกลับเข้ามา สอดคล้องกับมุมมองนี้ KKP มีมุมมองที่เป็นบวกต่อการลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้นสำหรับปีนี้ โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยมากกว่าปกติ เพื่อรับประโยชน์จากโอกาสที่หุ้นไทยอาจฟื้นตัว ซึ่งนับว่าเป็นการปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยขึ้นเป็น Overweight ครั้งแรกในรอบ 15 ปีของ KKP อย่างไรก็ตาม จากปัญหาเชิงโครงสร้าง และการขาดเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในพอร์ตการลงทุนระยะยาวยังคงต้องให้น้ำหนักส่วนใหญ่กับหุ้นต่างประเทศ
นอกจากนี้ภายในงาน KKP Year Ahead 2024 ยังมีการเสวนาหัวข้อพิเศษ “Reviving Thailand: เศรษฐกิจไทย..เปลี่ยนอย่างไรให้ไปไกลกว่าเดิม” โดยดร.สันติธาร เสถียรไทย กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และอดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนชื่อดังในนามปากกา “นิ้วกลม” และดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บล.เกียรตินาคินภัทร
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เริ่มต้นฉายภาพเศรษฐกิจไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาว่าทุกครั้งเศรษฐกิจหลังจากวิกฤตยังไม่เคยกลับไปเติบโตได้เท่าเดิม จนไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจกำลังโตต่ำกว่าศักยภาพหรือศักยภาพลดลงมาเรื่อย ๆ จากที่ประเทศไทยเคยได้ชื่อเป็น ‘miracle’ ของเอเชียในช่วง 1990s ที่เศรษฐกิจเติบโตมากกว่า 7% แต่เมื่อเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้งการเติบโตของเศรษฐกิจก็ลดลงเหลือ 5% เครื่องจักรเปลี่ยนจากการลงทุนมาเป็นการส่งออก เมื่อถึงวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 เศรษฐกิจเติบโตลดลงเหลือ 3% พร้อมกับที่เครื่องจักรถูกเปลี่ยนจากการส่งออกมาเป็นการท่องเที่ยว จนท้ายที่สุดคือวิกฤตโควิด-19 ที่ทุกคนหวังว่าเมื่อโรคระบาดผ่านพ้นไป เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ กระนั้น เศรษฐกิจหลังจากโควิด-19 กลับเติบโตลดลงไปอีกเหลือไม่ถึง 3% โดยมีการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว การส่งออกที่กำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่นเรื่องแรงงาน เป็นแรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณบ่งชี้ไปสู่การปฏิรูปสิ่งที่เป็นข้อจำกัดเชิงโครงสร้างเพื่อการกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ดร.สันติธาร เสถียรไทย มองว่าประเทศไทยตอนนี้เหมือน “นักกีฬาสูงอายุ” ทั้งโดยตัวเลขคือมีแรงงานอายุเฉลี่ย 41 ปีเทียบกับอาเซียนที่ไม่เกิน 30 ปี และโดยอาการที่วิ่งได้ช้าลง ดังนั้น การแก้ปัญหานี้ไม่มีทางลัด การใช้ยากระตุ้นสุดท้ายจะเป็นผลร้าย มีแต่ต้องปรับตัวใหม่ทั้งหมด ออกกำลังกายมากขึ้น ดูแลอาหารการกิน และเล่นด้วยความฉลาดมากกว่าแข่งกับนักกีฬาหนุ่มตรง ๆ โดยทางออกมีอยู่ 3 เรื่อง คือ ก-ข-ค เริ่มจาก ข. ไข่ หรือขนาดของตลาดไทยที่เล็กกว่าคู่แข่งหลายประเทศ ความน่าสนใจจึงน้อยกว่า ต้องแก้ไขด้วยการเปิดกว้างมากขึ้น และเป็นประเทศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งโยงไปสู่เรื่องที่ 2 คือก. ไก่ หรือกฎกติกาว่าต้องส่งเสริมให้ทำธุรกิจง่ายขึ้น แก้ไขกฎระเบียบที่ยุ่งยากซับซ้อนโดยไม่จำเป็น และเรื่องสุดท้ายคือ ค. โครงสร้างพื้นฐานและคน ที่ต้องมีการลงทุนในเรื่องดิจิทัล ความยั่งยืน สังคมสูงวัย ต้องมีการ Upskill/Reskill ให้แรงงานสามารถใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่
ดร.สันติธาร ปิดท้ายว่าในสถานการณ์โควิด เมืองไทยแก้วิกฤตได้อย่างดีมาก ผ่านการมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (common vision) มีภาพความสำเร็จที่ชัดเจน และมีการประเมินผลที่สอดรับ แต่ปัญหาคือถ้าไม่มีวิกฤต เมืองไทยมักไม่สามารถผนึกกำลังทำสิ่งเหล่านี้ได้ โจทย์จึงเป็นการทำอย่างไรให้ประเทศสามารถมีวิสัยทัศน์ระยะยาว ที่ไม่เพียงแค่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตเฉพาะหน้า แต่ยังปูทางสำหรับอนาคต โดยเฉพาะในเวลานี้ ที่มีเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกสำหรับทุกคนอย่างเช่น AI ไทยควรถือเป็นโอกาสสำหรับปิดช่องว่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งใหม่สำหรับเกือบทุกประเทศเหมือนๆ กัน การตกคลื่นลูกที่แล้วมา ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถเป็นผู้นำในคลื่นลูกต่อไปได้
ด้านสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ เล่าว่าคนรุ่นใหม่ ๆ จำนวนมากตอนนี้ยังมีความหวังกับประเทศไทยและอยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่คำถามคือเราสร้างพื้นที่ให้คนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน เราจึงควรต้องพัฒนาระบบการเมืองของประเทศให้เอื้อต่อการที่กลุ่มต่าง ๆ จะได้เสนอแนวคิดและทดลองแก้ไขปัญหา โดยสราวุธยกตัวอย่าง 2 ประเทศที่เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนถึงการเปิดพื้นที่ให้คนเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ประเทศแรกคือนามิเบียที่แบ่งกันชัดเจนระหว่างคนรวยกับคนจน บ้านคนรวยจะมีกำแพงสูงเพราะระแวงขโมย ขณะเดียวกันก็จะมีเขตที่เป็นชุมชนของคนจนโดยเฉพาะ เป็นการออกแบบเมืองที่แบ่งแยกกันและผู้คนไม่ได้มีส่วนร่วม
ส่วนประเทศที่ 2 คือเดนมาร์กที่จะตรงข้ามกับนามิเบียคือการออกแบบเมืองจะมีการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก คนชรา คนป่วย เป็นการเฉลี่ยความต้องการคนในสังคมร่วมกันตามปรัชญาพื้นฐานของคนเดนมาร์กที่เรียกว่า “HYGGE” หรือ “ฮุกกะ” คือบรรยากาศที่อบอุ่นใจกับผู้คนรอบข้าง ซึ่งในความหมายกว้าง ไม่ได้หมายถึงแค่พื้นที่ส่วนตัวอย่างเช่นบ้าน แต่รวมไปถึงพื้นที่สาธารณะและอาจจะรวมถึงพื้นที่อื่น ๆ อย่างการเมือง เศรษฐกิจและสังคมด้วย ดังนั้นแล้วสำหรับประเทศไทยต้องเลือกว่าจะเดินไปทางไหน โดยเชื่อว่าการเปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันจึงจะเป็นการดึงศักยภาพของประเทศออกมาได้สูงสุด พร้อมสนองรับต่อความท้าทายในมิติต่างๆ ได้
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS