ในปี 2566 การส่งออกไทยครึ่งปีแรกหดตัวที่ -5.4%(YoY) ขณะที่ ในระยะข้างหน้า ยังมีปัจจัยท้าทายกดดัน

ในเดือนมิถุนายน 2566 การส่งออกไทยยังคงหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 แม้มีปัจจัยฐานจากการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูง แต่ก็หดตัวน้อยกว่าคาดการณ์ที่ระดับ -6.4%(YoY) โดยปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกในเดือนดังกล่าวมาจากการส่งออกไปยังตลาดจีนกลับมาขยายตัวได้ในเดือนนี้ที่ 4.5%(YoY) หลังหดตัวลึกในเดือนก่อนหน้าเนื่องจากการส่งออกสินค้าในหมวดหมู่เกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกทุเรียนที่กลับมาขยายตัวได้เนื่องจากผลผลิตในประเทศสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดจีนได้มากขึ้น ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดหลักอื่นๆ ยังคงหดตัว โดยการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ หดตัวที่ -4.8%(YoY) และการส่งออกไปยังยูโรโซนหดตัวที่

-9.0%(YoY) อันเป็นผลจากการส่งออกที่ลดลงในทุกหมวดหมู่สินค้า โดยการส่งออกสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ คอมพิวเตอร์ตามอุปสงค์ที่ลดลง ผลิตภัณฑ์ยางและเคมีภัณฑ์สอดคล้องกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ชะลอตัว โดยแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญได้ส่งผลให้ครึ่งปีแรกมูลค่าการส่งออกทั้งหมดอยู่ที่ 1.41 แสนล้านดอลลาร์ฯ หดตัว -5.4%(YoY) และมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 1.47 แสนดอลลาร์ฯ หดตัว -3.5%(YoY) ส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญกับการขาดดุลทางการค้าที่ -6,307.6 ล้านดอลลาร์ฯ

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า ภาพการส่งออกของไทยจะยังคงถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐฯ และยูโรโซนในเดือนกรกฎาคม และของจีนในเดือนมิถุนายนที่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งนับเป็นความท้าทายสำคัญของการส่งไทยในระยะต่อไป โดยคงขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะในแต่ละตลาด ดังต่อไปนี้

ตลาดสหรัฐฯ ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อยู่ในภาวะชะลอตัวจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข็มงวดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อนหน้าได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอุปสงค์ภายในประเทศให้อ่อนแรงลง ประกอบกับความต้องความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ มีแนวโน้มมลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่ความต้องการเพิ่มสูงเพื่อตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด แต่ขณะเดียวกันไทยก็รับได้อานิสงส์จากการหันมานำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางตัวแทนตลาดจีนมากขึ้นจากผลของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ตลาดยูโรโซน เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในยูโรโซนยังคงถูกกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงส่งผลให้อุปสงค์ในภูมิภาคดังกล่าวยังคงซบเซา โดยเฉพาะอุปสงค์ต่อสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีสัดส่วนราว 30% ของการส่งออกไทยไปยังตลาดดังกล่าว

ตลาดอาเซียน สืบเนื่องจากราคาพลังงานที่ชะลอตัวลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าและมีแนวโน้มจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง จึงส่งผลให้การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างมากในการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดดังกล่าวลดลง

ตลาดจีน เป็นตลาดหลักเดียวในปี 2566 ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นภาพการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวมีโอกาสเติบโตได้จากปัจจัยฐานในช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกสินค้าในหมวดหมู่อาหารที่เป็นสินค้าจำเป็นยังมีแนวโน้มทำตลาดได้และการขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการขนส่งเส้นทางใหม่ผ่าน รถไฟไทย-ลาว-จีนช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออกได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าในหมวดอื่นๆ ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอุปสงค์ภายในจีนที่ยังอ่อนแอ บวกกับแรงกดดันจากจากการชะลอตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐฯ และยูโรโซนเช่นกัน

อีกทั้ง ยังมีความท้าทายอื่น ๆ ที่อาจเข้ามากระทบต่อภาพรวมการส่งออกไทย อาทิ สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ และความผันผวนของค่าเงิน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจัยฐานของการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 มีระดับลดลงโดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้าย จึงอาจเห็นภาพการส่งออกไทยกลับมาเป็นขยายตัวได้บ้าง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงประมาณการภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2566 อยู่ที่ -1.2%

นอกจากนี้ ท่ามกลางสภาวะโลกร้อน ประกอบกับปรากฎการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นขณะนี้ นอกจากผลกระทบหลักที่อาจเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรให้มีปริมาณลดลง ยังส่งผลเกิดสภาวะแห้งแล้งของเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศดังที่เกิดขึ้นบริเวณคลองปานามาซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสำคัญระหว่างสหรัฐฯ และเอเชีย โดยมีสัดส่วนประมาณ 6% ของการขนส่งทางเรือทั่วโลก โดยความแห้งแล้งดังกล่าวส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสำหรับการขนส่งสินค้าผ่านบริเวณดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนผ่านค่าธรรมเนียมผันแปร (Fresh Water Surcharge) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี โดยค่าธรรมเนียมดังกล่าวมีความผันแปรกับระดับน้ำในทะเลสาบกาตุน (Gatun lake) ซึ่งมีหน้าที่ผันน้ำเข้าคลองปานามา เนื่องจากเมื่อเรือขนส่งแล่นบริเวณดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณน้ำในคลองไหลออกสู่มหาสมุทรสำหรับผลกระทบต่อไทย ไทยใช้เส้นทางดังกล่าวในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและแถบฝั่งท่าเรือตะวันออกของสหรัฐฯ (East Coast) ซึ่งไทยมีสินค้าสำคัญที่ขนส่งไปยังท่าเรือดังกล่าว ได้แก่ ยางรถบรรทุกหรือรถบัส ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ โซลาร์เซลล์ ยางรถยนต์นั่ง และปลาทูน่าปรุงแต่ง

อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวอาจมีจำกัด โดยคงขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความยืดเยื้อของปรากฎการณ์เอลนีโญ อีกทั้งแม้ค่าใช้จ่ายในเส้นทางเดินเรือดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นแต่ก็คงไม่สามารถกดดันให้ค่าระวางปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญท่ามกลางแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบให้ข้อจำกัดของขนาดเรือที่ใช้สัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าวอาจมีมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยท้าทายต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้อนาคต


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment