เศรษฐกิจจีนไตรมาส 2/66 โตต่ำกว่าคาด ทั้งปี 66 คาดโต 5.2%

เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2/2566 เติบโตต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 6.3%YoY อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เติบโตได้ที่ 5.5%

แม้ว่าในไตรมาสที่ 2/2566 จะมีปัจจัยหนุนสำคัญจากเรื่องฐานที่ต่ำจากสถานการณ์การล็อกดาวน์ในเซี่ยงไฮ้ปีก่อนหน้าแต่เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ที่ 6.3% YoY ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 7.1% YoY (Bloomberg Consensus) เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงโดยเฉพาะในส่วนของการใช้จ่ายผู้บริโภคที่คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ โดยในเดือนมิ.ย.66 ตัวเลขยอดค้าปลีกเติบโตชะลอลงอยู่ที่ 3.1% YoY จาก 12.7% YoY ในเดือนพ.ค.66 หลังผู้บริโภคเริ่มมีความไม่มั่นใจต่อมุมมองเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานและระดับรายได้ในอนาคต ในขณะที่ตัวเลขการว่างงานของกลุ่มคนอายุ 16-24 ปี เดือนมิ.ย.66 อยู่ในระดับสูงที่ 21.3% ซึ่งคาดว่าเกิดจากปัญหาตำแหน่งที่ต้องการของแรงงานจบใหม่กับตำแหน่งงานที่เปิดรับไม่สอดคล้องกัน ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะกระทบต่อความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจ้างงานและระดับรายได้ในระยะต่อไป นอกจากนี้สถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อเศรษฐกิจจีนโดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ -7.9%YoY จาก -5.4%YoY ในครึ่งแรกของปี 2565 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนุนสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งแรกของปีมาจากภาคบริการเป็นหลัก โดยครึ่งปีแรกภาคบริการเติบโตที่ 6.4% YoY และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของจีน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 สามารถเติบโตได้ที่ 7.2% YoY นอกจากนี้การลงทุนในอุตสาหกรรม High tech เติบโตได้ถึง 12% โดยเฉพาะการลงทุนใน High-Tech Service ที่เติบโตได้ถึง 51.6% YoY ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวช่วยหนุนให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจจีนยังสามารถเติบโตได้อยู่ที่ 5.5%

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 หลังปัจจัยเรื่องฐานต่ำหมดลง เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี โดยทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังเผชิญความท้าทายทั้งในเรื่องความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ความไม่ชัดเจนและข้อจำกัดด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคทั้งการคลังและการเงิน รวมถึงสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์

เมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่ช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เนื่องจากปัจจัยเรื่องฐานต่ำที่หมดลง อีกทั้งจีนยังเผชิญโจทย์ท้าทาย ดังนี้

ความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด : การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนหลักของเศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง เมื่อพิจารณาตัวเลขบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (Saving Deposit) ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในเดือน พ.ค. 66 อยู่ที่ 130,428.93 พันล้านหยวน ขยายตัวอยู่ที่ +17.36% YoY นอกจากนี้ ในฝั่งของปริมาณเงินพบว่าการขยายตัวของปริมาณเงิน M2 ที่รวมเงินฝาก สูงกว่าปริมาณเงิน M1 ที่เป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจค่อนข้างมาก สะท้อนว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ยังต้องการเก็บเงินมากกว่านำออกมาใช้จ่าย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.66 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.2% ด้านดัชนีราคาผู้ผลิตอยู่ที่ -5.4% ซึ่งปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งเมื่อมองไปในระยะข้างหน้ายังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวของการใช้จ่ายที่ชัดเจน ดังนั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้สะท้อนถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนที่อาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

Source: CEIC

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่เพียงพอ และยังไม่ชัดเจน รวมถึงทางการมีข้อจำกัดในการออกนโยบายการเงินและการคลังมากขึ้น: ทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายไตรมาส 2/2566 ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิง (LPR) 1 ปี และ 5 ปี ลงอยู่ที่ 3.55% และ 4.20% รวมถึงขยายเวลามาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีออกมาในช่วงเดือนพ.ย.2565 เช่น การขยายระยะเวลาปล่อยกู้ แต่จีนยังไม่มีแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน หรือทิศทางการแก้ไขปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นรูปธรรม จึงอาจทำให้ภาคธุรกิจยังไม่กล้านำเงินออกมาลงทุน และครัวเรือนยังไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้ จีนได้เผชิญข้อจำกัดในการออกนโยบายการเงินและการคลังที่เพิ่มมากขึ้น

ด้านนโยบายการเงิน : แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่มีแรงกดดันในส่วนของเงินเฟ้อ โดยระดับเงินเฟ้อปัจจุบันของจีนอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายทางการ แต่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของจีนจะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และจีนกว้างขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน และเงินหยวนมีแรงกดดันในทิศทางอ่อนค่า ทำให้ระดับของการปรับลดดอกเบี้ยทำได้จำกัด อย่างไรก็ดี ล่าสุดธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของจีนได้ลดผลกระทบดังกล่าวผ่านการลดดอกเบี้ยสกุลเงินดอลลาร์ แต่ข้อจำกัดในการดำเนินการปรับลดดอกเบี้ยในภาพใหญ่ยังคงอยู่

ด้านนโยบายการคลัง จีนเผชิญแรงกดดันด้านหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นอยู่ในระดับสูง ที่ 48% ของ GDP ณ สิ้นปี 2565 เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ถูกนำไปใช้เพิ่มขึ้นจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ และรายได้จากการขายที่ดินที่ลดลงจากสถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่คลี่คลาย ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นในโครงก่อสร้างพื้นฐานจึงทำได้อย่างจำกัด

ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังมีทิศทางเข้มข้นขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยล่าสุดจีนได้มีการระงับการส่งออกแร่แกลเลียมและเจอร์เมเนียมที่มีความสำคัญต่อการผลิตสินค้าอิเลกทรอนิกส์ เช่น semiconductor ไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการตอบโต้ต่อสหรัฐฯ ที่มีการตั้งข้อกำหนดให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ semiconductor รายใหญ่หยุดขายอุปกรณ์ผลิต semiconductor ให้จีน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลายในระยะเวลาเป็นอันใกล้จึงจะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจจีนโดยเฉพาะในฝั่งการค้าและโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว

จากโจทย์ท้าทายดังกล่าว ทางการจีนคาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 แต่คงเป็นมาตรการที่จำกัด จึงทำให้เศรษฐกิจจีนในครึ่งหลังของปีน่าจะโตในอัตราชะลอลง แต่ยังคงบรรลุเป้าหมายของทางการปี 2566 ที่ 5.0%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าในปี 2566 นี้ เศรษฐกิจจีนจะยังสามารถเติบโตได้ที่ 5.2% ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายของภาครัฐที่ 5% โดยมองว่าจีนจะมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม โดยเฉพาะมาตรการที่เข้ามาฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคการบริโภคและภาคธุรกิจ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม หรือการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) รวมถึงมาตรการในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ติดตามแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนได้ในการประชุม Politburo ในเดือนก.ค.66 นี้

กล่าวโดยสรุปเศรษฐกิจจีนในครึ่งหลังของปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง โดยคาดว่าจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยจีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายของภาครัฐที่ตั้งไว้ที่ 5% ได้ ท่ามกลางความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตามอง


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment