การประชุมกนง. วันที่ 29 มี.ค. 66 คาดกนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25

ในการประชุมกนง. ที่จะถึงนี้ คาดว่ากนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับ 1.75% อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้อาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับแรงกดดันจากแนวโน้มนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเริ่มลดลง เนื่องจากธนาคารกลางหลักอย่าง Fed เริ่มส่งสัญญาณเตรียมหยุดขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้

ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเดือนก.พ. ที่ออกมาล่าสุดสะท้อนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธปท. ที่ 1-3% ส่งผลให้กนง. อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ที่ร้อยละ 0.25 ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปของไทยลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนที่ 3.8%YoY ซึ่งการที่เงินเฟ้อยังอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายของกนง. นั้นเป็นปัจจัยสนับสนุนให้กนง. ยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมที่จะถึงนี้ อนึ่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต หากมีสถานการณ์ที่ส่งผลให้กนง. จำเป็นต้องมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี ทิศทางเงินเฟ้อที่ชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปีนี้จะกลับสู่กรอบเป้าหมายของกนง. โดยอยู่ที่ราว 2.8% ขณะที่เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางผลกระทบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วของธนาคารกลางหลักอย่าง Fed และ ECB ประกอบกับปัญหาธนาคารชาติตะวันตกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น กนง. คงจะต้องให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้

นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Fed เริ่มเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว ส่งผลให้แรงกดดันจากแนวโน้มนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเริ่มลดลง ทั้งนี้ จากการประชุม FOMC ล่าสุดในวันที่ 21-22 มี.ค. ที่ผ่านมา Fed มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ตามคาด ขณะที่ส่งสัญญาณว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้สิ้นสุดลง ส่งผลให้แรงกดดันจากแนวโน้มนโยบายการเงินแบบตึงตัวของ Fed นั้นมีลดลง อย่างไรก็ดี ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ยังมีความไม่แน่นอน โดยคงขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงเสถียรภาพด้านการเงินในระยะข้างหน้า ท่ามกลางปัญหาภาคธนาคารในประเทศตะวันตก โดยหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย แล้วส่งผลให้ Fed อาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า คงต้องติดตามว่ากนง. จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายตามหรือไม่


COMMENTS

RELATED TOPICS

Please wait a moment