นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายเวลาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2566 ถึง 15 กันยายน 2566 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ เรื่องค่าไฟฟ้า ในช่วงที่เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว ราคาเชื้อเพลิงต่าง ๆ ในตลาดโลกยังคงผันผวน
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามนโยบายของกระทรวงการคลังที่มอบหมายให้กรมสรรพสามิตดำเนินมาตรการภาษีเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 นั้น ด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่ยุติ ทำให้สถานการณ์ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีแนวโน้มที่ยังคงมีความผันผวน รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมในประเทศเพิ่งฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการทางภาษีต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งยังต้องมีการใช้และสำรองน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาในการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงเตรียมรับมือกรณีสถานการณ์ราคา LNG ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ รวมถึงเพื่อควบคุมไม่ให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชน และความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เป็นต้นทุนการผลิตในทุกภาคส่วนของทุกอุตสาหกรรม”
กรมสรรพสามิตจึงเสนอขยายเวลาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตา ที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนและภาคธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยให้เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ซึ่งครม. อนุมัติให้ขยายเวลาจัดเก็บออกไปอีก 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2566
“การดำเนินมาตรการภาษีในครั้งนี้แม้จะส่งผลให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันประมาณ 8,050 ล้านบาท โดยสูญเสียจากน้ำมันดีเซล (บี0) ประมาณ 7,920 ล้านบาท และจากน้ำมันเตาประมาณ 130 ล้านบาท ก็ตาม แต่กรมสรรพสามิตให้ความสำคัญต่อการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนและภาคธุรกิจซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ อย่างไรก็ดี การดำเนินมาตรการภาษีในครั้งนี้ไม่กระทบต่อเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิต เนื่องจากรายได้ที่สูญเสียดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปรวมในเป้าหมายตั้งแต่ต้น” นายเอกนิติ กล่าว
COMMENTS
RELATED TOPICS