ttb ยึด 3 กลยุทธ์ยกระดับมนุษย์เงินเดือน คนมีบ้าน-มีรถ

ทีเอ็มบีธนชาต เปิดแผนขับเคลื่อนธุรกิจปี 2566 สู่ The Next REAL Change ปักหมุด 3 กลยุทธ์สำคัญ ต่อยอดจุดแข็งรวมกิจการ เดินเกมรุกยกระดับดิจิทัลแบงก์กิ้งสร้าง Ecosystem Play ให้มนุษย์เงินเดือน คนมีรถ-มีบ้าน มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้าน

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องประสบกับปัญหาความผันผวนทางเศรษฐกิจ ถึงแม้วันนี้ปัญหา COVID-19 เริ่มเบาบางลง แต่บาดแผลทางเศรษฐกิจที่ทิ้งไว้ยังคงอยู่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อ คนไทยเองต้องประสบปัญหาเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้นที่กระทบต่อกำลังซื้อ ทำให้ประชาชนที่มีปัญหาด้านสภาพคล่องหรือมีหนี้เดิมอยู่เกิดความยากลำบากทางด้านการเงินมากขึ้น ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนแตะระดับสูงถึง 86.8% ของ GDP ในไตรมาส 3/2565 จากสถานการณ์ที่ต้องเผชิญทำให้พันธกิจของธนาคารเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการจะได้รับและคาดหวังให้ธนาคารสามารถทำให้เป็นจริงขึ้นได้ โดยตั้งแต่รวมกิจการ ทีเอ็มบีธนชาตได้ส่งมอบชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับลูกค้ามากมายผ่านโซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ อาทิ การได้ช่วยให้คนไทยกว่า 2 ล้านคนได้มีความคุ้มครองชีวิตและค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุฟรี ผ่านบัญชี ttb all free และได้ช่วยลูกค้าที่มีหนี้ทำการรวบหนี้ (Debt Consolidation) เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แม้เพิ่งเริ่มต้นแต่ได้มีลูกค้าร่วมโครงการราว 2,000 ราย ช่วยทำให้คนเหล่านี้ประหยัดเงินจากดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายรวมเป็นเงินกว่า 270 ล้านบาท

โดยปี 2566 ยังคงเป็นปีแห่งความท้าทายอันเนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แต่จากความพร้อมของธนาคารที่สะท้อนได้จากความสำเร็จทั้งในแง่ธุรกิจ และการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าของธนาคารที่ผ่านมา ถือเป็นสิ่งชี้วัดว่าธนาคารได้ดำเนินการมาถูกทาง หลังจากนี้ยังคงมุ่งสานต่อพันธกิจ ด้วยการสร้าง The Next REAL Change เดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายในรูปแบบใหม่อีกครั้ง ภายใต้กลยุทธ์หลัก 3 เรื่อง ได้แก่

1. Synergy Realization: การนำจุดแข็งและความแข็งแกร่งจากการรวมกิจการมาต่อยอดพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้า

หลังรวมกิจการทำให้ทีเอ็มบีธนชาตมีความแข็งแกร่งด้วยฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านราย สะท้อนได้จากผลประกอบการปี 2565 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 14,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปีก่อนหน้า และได้รับผลประโยชน์ด้านค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากการรับรู้ Cost Synergy ของการรวมกิจการ ทำให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ลดลงจาก 48% ในปี 2564 มาอยู่ที่ 45% วันนี้ธนาคารถือว่ามีความพร้อมทั้งศักยภาพที่แข็งแกร่งและงบประมาณในการลงทุน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และประสบการณ์ทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า

จากเดิมที่ธนาคารมีสินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน บัญชีเพื่อใช้ เพื่อออม และบัญชีเงินเดือน เป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นและเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าในตลาด ปีนี้ทีเอ็มบีธนชาตจะต่อยอดจุดแข็งของกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปสู่สินเชื่อรถแลกเงิน (ttb cash your car) สินเชื่อบ้านแลกเงิน (ttb cash your home) สินเชื่อ ttb payday loan และกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถ ซึ่งโซลูชันเหล่านี้นอกจากจะมีฟีเจอร์ที่โดดเด่นแล้ว ยังจะสามารถช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่องภายใต้เศรษฐกิจผันผวนของปีนี้ได้ด้วย

2. Digitalization: การยกระดับประสบการณ์ทางการเงินและพัฒนาประสิทธิภาพของธนาคารผ่าน ttb touch เวอร์ชันใหม่

ธนาคารมีเป้าหมายนำดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งมอบประสบการณ์ทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า และขับเคลื่อนองค์กรให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุนของธนาคาร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายก้าวสู่การเป็น Top 3 Digital Banking Platform

ธนาคารมุ่งยกระดับและขยายขีดความสามารถของ ttb touch ให้ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละรายได้อย่างรอบด้าน ซึ่ง ttb touch เวอร์ชันใหม่ได้เปิดตัวไปเมื่อไตรมาส 2/2565 และได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างมาก จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 46% และจำนวนรายการธุรกรรมบนแอปเติบโตขึ้น 25% ถึงแม้ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ttb touch เกิดปัญหาขัดข้องทำให้ทีมงานได้เร่งปรับปรุงแก้ไข และวางแผนพัฒนาความสามารถในการรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันนี้แอปมีความเสถียรและสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญด้วยศักยภาพของ ttb touch เวอร์ชันใหม่ทำให้ธนาคารสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงโปรโมชันต่าง ๆ ให้กับลูกค้าแบบ 1 ต่อ 1 หรือ Segment-of-One ยกระดับการให้บริการลูกค้าได้ โดยธนาคารจะเดินหน้าพัฒนาองค์กรให้เป็น Digital-First Experience เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมส่วนใหญ่ได้เองผ่าน ttb touch เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ในขณะที่พนักงานสาขาจะมีบทบาทสำคัญในการเป็น Trusted Advisor ให้คำปรึกษา แนะนำและให้บริการลูกค้าบนผลิตภัณฑ์และบริการที่ซับซ้อน

3. Ecosystem Play: การสร้างชีวิตทางการเงินของลูกค้าบัญชีเงินเดือน มีรถ มีบ้านให้ดีขึ้นรอบด้าน

ทีเอ็มบีธนชาตเดินหน้าสร้างการเติบโตด้วย New Business Model มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้ามนุษย์เงินเดือน กลุ่มคนมีรถ และกลุ่มคนมีบ้าน ซึ่งเป็น 3 กลุ่มหลักที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญและมีฐานลูกค้าเป็นแต้มต่อ โดยธนาคารจะต้องเข้าไปอยู่ในชีวิตของลูกค้าตลอด Journey และช่วยให้ชีวิตของลูกค้าสามารถบริหารจัดการเรื่องสำคัญได้อย่างรอบด้าน โดยเน้นการทำงานจากทีมภายใน และร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำภายนอก (Partnership) โดยมี ttb touch เป็นตัวขับเคลื่อนให้ลูกค้าบริหารจัดการชีวิตได้อย่างครบวงจร อาทิ สำหรับคนมีรถจะสามารถบริหารจัดการทุกเรื่องเกี่ยวกับรถ เช่น จ่าย-เช็คยอดสินเชื่อรถ ต่อประกันภัยรถและพรบ. เติมเงิน-เช็คยอดบัตรทางด่วน Easy Pass ค้นหาโปรโมชันเกี่ยวกับการดูแลรถ สมัครสินเชื่อรถแลกเงิน แม้กระทั่งการขายรถแบบ e-auction ทุกอย่างสามารถทำบนฟีเจอร์ “My Car” บนแอป ttb touch ได้อย่างสะดวก

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญและเร่งทำคือการเตรียมความพร้อมบุคลากร เพื่อให้สามารถร่วมกัน Transform องค์กรได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการเพิ่มศักยภาพและจำนวนทีมงานด้าน Tech & Data ให้มากขึ้น ที่ผ่านมาธนาคารได้จัดตั้งทีมดิจิทัล ttb spark และ ttb spark academy เพื่อที่มุ่งเน้นเรื่องการสร้าง Talent รุ่นใหม่ที่มีความสามารถสอดรับกับโลกธุรกิจผ่านการขับเคลื่อนนวัตกรรมและดิจิทัลโซลูชัน โดยปัจจุบันมีทีมงาน ttb spark มากกว่า 400 คน ดูแลทั้งในส่วนของฝั่ง Tech และ Beyond Banking Business พร้อมผลักดันและพัฒนาแอป ttb touch ให้มีฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น ด้าน ttb spark academy ได้มีกิจกรรมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำและมีนักศึกษาเข้ามาฝึกงานด้วยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จัดกิจกรรม ttb hackathon: Financial Well-being for Thais ซึ่งมีผู้ร่วมสมัครมากกว่า 100 ทีม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์ในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่เพื่อให้ Talent เหล่านี้สนใจร่วมงานกับธนาคารในอนาคต


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment