KKP เปิดแผนปี 2566 ระวังปล่อยสินเชื่อตั้งเป้าโต 13% เร่งขยายฐานผ่านแพลตฟอร์ม Edge และ Dime

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เผยปี 2566 ยังคงมีความน่ากังวลในเรื่องเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น และเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้การทำธุรกิจต้องเติบโตอย่างระมัดระวัง เน้นขยายฐานลูกค้าสินเชื่อในกลุ่มที่มีศักยภาพ และผลักดันผ่านแพลตฟอร์ม Edge (เอดจ์) และ Dime (ไดม์) ใน ตั้งเป้าสินเชื่อรวมไว้ที่ร้อยละ 13

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่าสำนักวิจัยของกลุ่มธุรกิจฯ KKP Research วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น และเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างและอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อ แผนธุรกิจสำหรับปี 2566 จึงเป็นการเติบโตแบบระมัดระวัง โดยขยายฐานลูกค้าที่มีศักยภาพและต่อยอดการเชื่อมโยงธุรกิจของกลุ่มฯ ผ่านการขายขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้อง (cross-selling) นอกจากนั้น กลุ่มธุรกิจฯ ยังมุ่งเดินหน้าใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มการออมและการลงทุนดิจิทัลของกลุ่มอย่างเต็มศักยภาพ ทั้ง Dime (ไดม์) และ Edge (เอดจ์) ที่จะเปิดตัวในระยะต่อไป โดยปัจจุบัน แอปพลิเคชัน Dime มีผู้ดาวน์โหลดแล้วกว่า 100,000 ราย และจะมีการจับมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อขยายฐานลูกค้าและพัฒนาฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น

สำหรับภาพรวมผลประกอบการในปีที่ผ่านมาว่า “ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร สำหรับปี 2565 มีกำไรสุทธิ 7,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 จากปีก่อน โดยส่วนใหญ่มาจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ที่สินเชื่อรวมขยายตัวถึงร้อยละ 21.4 จากการขยายตัวในสินเชื่อทุกประเภท ด้านธุรกิจตลาดทุน ยังคงความสามารถในการสร้างรายได้ที่ดี โดยธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ยังคงครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่งของตลาด สำหรับธุรกิจการจัดการกองทุนก็มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจการลงทุนยังคงเติบโตได้ดีจากฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Equity and Derivative Trading) ที่ทำกำไรได้ดีในสภาวะผันผวน ด้านวานิชธนกิจมีรายได้ในระดับที่ดีจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ในขณะที่ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) ปัจจุบันมีปริมาณทรัพย์สินภายใต้คำแนะนำ (Asset Under Advice, AUA) อยู่ที่กว่า 7 แสนล้านบาท”

นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (Mr.Philip Chen Chong Tan, President, Kiatnakin Phatra Bank Public Company Limited) ให้รายละเอียดในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ว่า “ปี 2565 เป็นปีที่ธนาคารมีผลประกอบการดีเป็นประวัติการณ์ โดยสินเชื่อมีการขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 21.4 ในปี 2565 ส่งผลให้มีการเติบโตของทั้งรายได้จากดอกเบี้ย และจากค่าธรรมเนียม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยง แนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2566 จึงยังคงเป็นการเติบโตแบบมีกลยุทธ์ (Smart Growth) หรือการเลือกขยายสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพและสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน การเดินหน้าเจาะตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ของธนาคารคือ ‘รถเรียกเงิน’ และการใช้ประโยชน์จากช่องทางดิจิทัลของธนาคารมากขึ้น ไม่ว่าแอป KKP Mobile หรือแอปของบริษัทในกลุ่มอย่าง Edge เพื่อเชื่อมโยงบริการของธนาคารเข้ากับบริการด้านการลงทุนที่เป็นความชำนาญของกลุ่มธุรกิจฯ”

นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงข้อมูลทางการเงินของผลการดำเนินงานปี 2565 ว่า กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 7,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 และมีกำไรเบ็ดเสร็จ 10,120 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.2 จากปี 2564 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 758 ล้านบาทและเป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 1,077 ล้านบาท ในส่วนของการตั้งสำรองสำหรับปี 2565 ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 154.4 นอกจากนี้ ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 19,081 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.5 ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 8,457 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.0 จากปี 2564 และธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio)คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 16.26 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเท่ากับร้อยละ 12.88

ทางด้าน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (Dr. Pipat Luengnaruemitchai, Chief Economist, KKP Research, Kiatnakin Phatra Securities Public Company Limited) กล่าวว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แม้จะมีความหวังฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยว และการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าที่คาด แต่อีกด้านหนึ่งเป็นการฟื้นตัวท่ามกลางพายุเศรษฐกิจโลก ที่ถาโถมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว จนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้อาจไม่ทั่วถึง

การคาดการณ์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะชะลอตัวลงจากปีก่อน และหลายเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ด้วยปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางไม่สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินช่วยพยุงเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะกระทบกับภาคการส่งออกของไทยโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก

“ตัวเลขการส่งออกของไทยซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจไทยในข่วงสองปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าช่วงปลายปีที่ผ่านมา ภาคส่งออกเริ่มหดตัว และมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูง และจากมูลค่าเฉลี่ยของการส่งออกในระยะ 5 ปีหลัง การส่งออกไทยได้แตะจุดสูงสุดไปแล้วในปีที่แล้ว ดังนั้นจึงยากที่จะเติบโตในระดับสูงต่อไปในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยคาดว่าการส่งออกในปีนี้จะหดตัวอย่างน้อยในครึ่งปีแรก ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีเมื่อเศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัว และการส่งออกทั้งปีจะติดลบ 1.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ KKP Research ได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จาก 2.8% เป็น 3.6% โดยมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว และการเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดของจีนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้จะไปแตะระดับ 25 ล้านคน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 19 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ด้วยการกระจุกตัวของภาคท่องเที่ยวไทยและห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ยาวเหมือนกับภาคการผลิตจะทำให้มีเพียงบางจังหวัดหรือบางภาคเศรษฐกิจเท่านั้นที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการฟื้นตัวนี้

ในภาพรวมความเสี่ยงเศรษฐกิจที่ต้องติดตามในปีนี้ได้แก่ 1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะมาถึงเร็วและรุนแรงแค่ไหน และกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร 2. เงินเฟ้อโลกและเงินเฟ้อไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงจะสามารถกลับมาสู่ระดับปกติได้เร็วเพียงใด และ 3. การเปิดเมืองของจีนจะราบรื่นตลอดทั้งปีหรือไม่ รวมไปถึงความเสี่ยงจากการระบาดของโควิดที่ยังไม่สามารถมองข้าม นอกจากนี้ปีนี้ ยังเป็นปีที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งซึ่งอาจเพิ่มตัวแปรที่กระทบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment