ไทยพาณิชย์ จัดสัมมนา SME OF THE FUTURE อนาคต SMEs ไทยไปต่ออย่างไรดี

ธนาคารไทยพาณิชย์ เดินหน้ายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เตรียมความพร้อมบุกตลาดต่อเนื่องช่วงครึ่งปีหลัง จัดงานสัมมนา “SME OF THE FUTURE อนาคต SMEs ไทยไปต่ออย่างไรดี” เจาะลึกภาพรวมเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก ส่องปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายในแง่มุมต่างๆ รวมทั้งอัพเดทเทรนด์ของโลกเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อธุรกิจ เจาะลึกเฉพาะสำหรับกลุ่มธุรกิจนำเข้า-ส่งออก และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) เพื่อปูแนวทางในการปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับโลกธุรกิจในอนาคตที่กำลังจะมาถึง มุ่งมั่นพาเอสเอ็มอีไทยก้าวสู่อีกขั้นของความสำเร็จเพิ่มยอดขายเติบโตอย่างยั่งยืน ระดมผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจและเศรษฐกิจร่วมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำโดย นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส EIC นางสาวโชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการคลัสเตอร์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต EIC นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมด้วย นายธีรวิทย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ Head of Strategy and Commercial บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด นางสาวศิลินลักษ์ ตุลยานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟู้ดส์ อีควิปเม้นท์ จำกัด นางสาวณัฐธนภัสสสร์ ไชยนรินทร์ ผู้จัดการแผนกธุรกิจต่างประเทศ บริษัท ทรอปิคานา ออยล์ จำกัด และ นายมิตรดนัย สถาวรมณี ผู้ร่วมก่อตั้ง แบรนด์ Plantae และ CORO FIELD ร่วมเป็นวิทยากร เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้เราเริ่มเห็นสัญญานที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเริ่มคึกคักอีกครั้ง แม้จะการฟื้นฟูให้สมบูรณ์เท่าระดับเดิมอาจต้องใช้เวลา แต่ก็เป็นบทบาทหนึ่งของธนาคารที่จะเร่งสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างปกติให้ได้เร็วที่สุด กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีจึงร่วมมือกับศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดงานสัมมนา “SME OF THE FUTURE อนาคต SMEs ไทยไปต่ออย่างไรดี” โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อมุ่งสนับสนุนการเสริมศักยภาพให้เอสเอ็มอีสามารถปรับกลยุทธ์รวมทั้งรูปแบบธุรกิจให้เท่าทันเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตได้ โดยเน้นไปยังกลุ่มธุรกิจการนำเข้า-ส่งออกที่กำลังฟื้นตัวตามเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะเทรนด์อาหารสุขภาพที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักวิเคราะห์จาก EIC ผู้บริหารทางด้านธุรกิจตลาดเงิน ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ร่วมให้ความรู้ใน 4 หัวข้อสัมมนา ได้แก่ 1) วิเคราะห์อนาคตภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกสำหรับเอสเอ็มอี 2) สิ่งที่ต้องรู้สำหรับธุรกิจนำเข้า-ส่งออกและการบริหารความเสี่ยง 3) ปรับกลยุทธ์สำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 4) การใช้เทคโนโลยีเป็นขุมพลังใหม่เพื่อยกระดับธุรกิจและลดต้นทุน ครอบคลุมมิติสำคัญที่จำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจเพื่อรับมือกับอนาคต

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไปเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวจากหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐที่มีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อและนโยบายการเงินตึงตัว และความเสี่ยงด้านอุปทานพลังงานในยุโรป ทางด้านอาเซียนนั้นเศรษฐกิจมีการขยายตัวแข็งแกร่งขึ้นในไตรมาส 2 ตามปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศและการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ในส่วนของประเทศไทย เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือน โดยตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาขยายตัวได้ 2.5% จากการเร่งตัวของการบริโภคในประเทศและการฟื้นตัวของภาคบริการ ในระยะต่อไปภาคท่องเที่ยวและภาคบริการจะกลายเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากขึ้น สำหรับภาคการส่งออกและลงทุนอาจมีการชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยอีไอซีมองว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรรีบปรับตัวให้สอดคล้องกับปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยควรคำนึงถึงการลดต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสม เน้นปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและบริหารจัดการวัตถุดิบ ทั้งในแง่ของการจัดหาซัพพลายเออร์ที่เหมาะสม ประกอบกับการหาวัตถุดิบทดแทนและเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจให้ปรับตัวในวิกฤติได้รวดเร็ว ควรเริ่มปรับใช้ Data analytics ในการเข้าใจความต้องการของลูกค้า นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารจัดการและปรับปรุงในระยะยาว


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment