{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
KBank Private Banking จัดงานสัมมนา 2565-2566 Family Wealth Outlook หัวข้อ รู้ทันภาษีทรัพย์สินที่เปลี่ยนไป จัดการอย่างไรไม่ให้เสียประโยชน์ เพื่อให้ข้อมูลด้านภาษีทรัพย์สิน รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภาษีทรัพย์สินและกฎหมายในประเทศไทย ที่ พร้อมแนะนำแนวทางการบริหารจัดการสินทรัพย์เพื่อให้การส่งต่อทรัพย์สินของครอบครัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยถือเป็นผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์รายแรกในไทยที่ส่งมอบ “บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว (Family Wealth Planning Service)” ซึ่งบริการนี้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าบุคคลสินทรัพย์ในด้านการเก็บรักษา (Wealth Preservation) และ การส่งต่อ (Wealth Transfer) ซึ่งในอดีตการเก็บรักษาและการส่งต่อทรัพย์สินในครอบครัวไม่ยุ่งยากและไม่ซับซ้อน เนื่องจากทั้งปริมาณของทรัพย์สินและจำนวนของสมาชิกครอบครัวมีไม่มาก แต่ในปัจจุบันยังมีปัจจัยด้านภาษีในระดับโลกที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภาษีจากความร่วมมือของหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมไปถึงในประเทศไทย ที่มีทั้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก ภาษีการขายหุ้น และภาษีลาภลอย ที่ค่อยๆ ทยอยมีผลบังคับใช้ อีกทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ทำให้การจัดเก็บและการส่งต่อทรัพย์สินซับซ้อนยิ่งขึ้น
นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อลดช่องโหว่ของการเก็บภาษี รัฐบาลต่างๆ จึงพยายามที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศ ซึ่งหลักๆ ก็คือการรับรู้แหล่งเงินได้ของผู้เสียภาษีที่ดูจากทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องที่อยู่กับสถาบันการเงิน ที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ได้ ปัจจุบันมีระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษี 2 ระบบ คือ
1) Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA) เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศคู่สัญญา เป็นการรายงานข้อมูลแหล่งเงินได้ของผู้ถือสัญชาติอเมริกันไปยังสรรพากรสหรัฐฯ ซึ่งระบบนี้จะกระทบต่อคนไทยที่ถือสัญชาติอเมริกัน ทั้งนี้ ประเทศคู่สัญญาจะเลือกแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสหรัฐฯ หรือไม่ก็ได้
2) Common Reporting Standards (CRS) เป็นระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างสมาชิกในกลุ่มประเทศ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ที่มีจำนวนสมาชิกกว่า 140 ประเทศ และไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิก เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลแหล่งเงินได้ของคนที่มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีของประเทศคู่สัญญาระหว่างกัน
โดยในเดือนกันยายน 2561 ประเทศไทยได้เข้าร่วมกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีของ OECD และในเดือนกันยายนปี 2566 กรมสรรพากรของไทยเริ่มส่งข้อมูลทางภาษีเต็มรูปแบบเมื่อมีการออกกฎหมายลำดับรองเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเมื่อมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีผ่านระบบ CRS จะส่งผลกระทบต่อคนไทย / บริษัทไทย ดังนี้
ภาษีเงินได้ สำหรับคนไทยที่มีเงินได้ในต่างประเทศ ไม่มีผลกระทบในเรื่องเสียภาษีแต่อย่างใด ในขณะที่บริษัทไทยที่มีรายได้ในต่างประเทศ ต้องนำมารวมเสียภาษีในไทย หากไม่นำมารวม กรมสรรพากรจะทราบข้อมูลทันที
ภาษีการรับมรดก สำหรับคนไทยที่ได้รับทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ เช่น บัญชีเงินฝาก หุ้น เงินลงทุน ต่าง ๆ เป็นมรดก ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีการรับมรดกในไทย กรมสรรพากรจะทราบข้อมูลทันที ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการรายงานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ มีเพียงการรายงานข้อมูลทางการเงินเท่านั้น
การนำเงินได้ต่างประเทศกลับเข้าประเทศไทย ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนไทยที่มีเงินได้จากการทำธุรกรรมในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ / ครั้ง ต้องนำกลับเข้าประเทศไทยภายใน 360 วัน นับแต่วันทำธุรกรรม เว้นแต่มีการขอผ่อนผัน ถ้ามีการส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐของไทย ธปท. จะทราบทันที หากไม่นำกลับเข้ามาภายในเวลาที่กำหนด โดยไม่มีการยื่นขอผ่อนผัน
ดังนั้น KBank Private Banking แนะนำให้ขอคำปรึกษา การวางแผนภาษีจากผู้เชี่ยวชาญ โดยผู้เสียภาษีไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลยังสามารถใช้สิทธิประโยชน์ของอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยมีกับประเทศคู่สัญญาต่างๆ ได้
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านภาษีทรัพย์สินและกฎหมายในประเทศไทยที่ส่งผลต่อความมั่งคั่ง ไม่ว่าจะเป็น
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง – จากการที่กรมธนารักษ์ประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่สำหรับรอบปี 2566 -2569 โดยราคาประเมินเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 8% ซึ่งจะเริ่มต้นในปีหน้า จะกระทบต่อฐานภาษีที่ใช้คำนวณภาระภาษีของเจ้าของที่ดินซึ่งจะอิงตามราคาประเมินใหม่ การยกเลิกมาตรการปรับลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดิน 90% ที่ภาครัฐประกาศยกเลิกไปในปีนี้ รวมทั้งการยกเลิกการลดหย่อนจำนวนภาษีที่ดินฯ ที่ได้บรรเทา ตาม พ.ร.บ. บทเฉพาะกาลในปี 2566 ทำให้เจ้าของที่ดินต้องรับภาระภาษีที่ดินที่มากขึ้น ทั้งนี้ สำหรับเจ้าของที่ดินในเขตกรุงเทพฯ ทาง กทม. อยู่ในระหว่างการศึกษาเกณฑ์การรับที่ดินจากเอกชน เพื่อจัดทำสวนสาธารณะ สนามกีฬาเพื่อผลประโยชน์ทางด้านภาษีแก่เจ้าของที่ดิน อย่างไรก็ดี ภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณาปรับเพิ่มอัตราภาษีสำหรับที่ดินที่ทำการเกษตรในเขตกรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน
ภาษีลาภลอย – การจัดเก็บจากมูลค่าที่ดินและห้องชุดที่ปรับเพิ่มขึ้น ตามแนวก่อสร้างโครงการคมนาคมพื้นฐานของรัฐ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ ในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร โดย ครม. มีมติอนุมัติร่างพ.ร.บ. ภาษีการได้รับประโยชน์นี้ ตั้งแต่ปี 2561 แต่ยังไม่ได้บังคับใช้ อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มจะนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง
ภาษีมรดก – การจัดเก็บภาษีมรดกจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเจ้าของมรดกเสียชีวิตไปแล้ว ในกรณีที่มรดกมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท โดยจะเรียกเก็บจากผู้รับมรดก ยกเว้นในกรณีที่ผู้รับมรดกเป็นคู่สมรส แต่ในกรณีที่เป็นบุพการี หรือ ผู้สืบสันดานจะเสียในอัตรา 5% ในขณะที่บุคคลอื่นเสีย 10% โดยทรัพย์สินที่จะถูกเรียกเก็บภาษีจะต้องเป็นทรัพย์สินที่มีทะเบียน อาทิ อสังหาริมทรัพย์ บัญชีเงินฝากทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น
ภาษีการให้ / รับให้ – กฎหมายได้ระบุการให้โดยไม่ต้องเสียภาษีไว้ โดยแบ่งทรัพย์สินออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) อสังหาริมทรัพย์ พ่อแม่ให้ลูก มูลค่าไม่เกิน 20 ล้านต่อปี โดยลูกสามารถรับโอนอสังหาฯ จากพ่อและแม่ รวมกัน 40 ล้านบาทต่อปี 2) สังหาริมทรัพย์ ในกรณีที่พ่อแม่ให้ลูก มูลค่าไม่เกิน 20 ล้านต่อปี และรับโอนสังหาริมทรัพย์ จากบุคคลอื่น ตามโอกาสพิเศษ มูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ส่วนที่เกินจะต้องเสียภาษีที่อัตรา 5%
ทั้งนี้ เพื่อให้การส่งต่อทรัพย์สินในครอบครัว ไม่สร้างภาระให้กับผู้รับมอบ KBank Private Banking แนะนำให้เจ้าของทรัพย์สินวางแผนการส่งต่อ เช่น ทยอยส่งมอบทรัพย์สินให้มูลค่าไม่เกินที่กฎหมายกำหนด การทำพินัยกรรมโดยระบุการส่งมอบให้ไปถึงรุ่นหลาน การคงทรัพย์สินไว้ในกองมรดก เนื่องจากหากไม่มีการแบ่งออกจากกองมรดก ภาษีก็ยังไม่เกิด แต่ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาในเรื่องดอกผลของทรัพย์มรดก ว่าถือเป็นมรดกหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา รวมไปถึงการใช้เครื่องมืออย่างทรัสต์ต่างประเทศ หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต เป็นต้น
ภาษีการขายหุ้น – เป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ เก็บจากธุรกรรมจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าที่ขาย หรือ 0.11 % รวมภาษีท้องถิ่น โดยโบรกเกอร์หักจากรายได้จากการขายและนำส่งกรมสรรพากรทุกเดือน แทนผู้ขาย ซึ่งภาษีการขายหุ้นนี้ได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 ทั้งนี้ KBank Private Banking คาดว่าช่วงเวลานี้อาจจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่ภาษีนี้จะกลับมามีผลบังคับใช้
นายพีระพัฒน์ กล่าวปิดท้ายว่า การพัฒนาของระบบการจัดเก็บภาษีที่เข้มงวดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งระบบไอทีแพลตฟอร์มที่ทันสมัยที่ได้รับการพัฒนาและนำมาใช้แทนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานจัดเก็บภาษีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ช่องโหว่ในการเลี่ยงหรือหลบภาษีน้อยลง อย่างไรก็ตาม KBank Private Banking มองว่าการกระจายทรัพย์สินหรือการลงทุนไปในต่างประเทศยังเป็นทางเลือกที่ดีในการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอยู่ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงเรื่องภาษีทรัพย์สินและกฎหมายในประเทศไทย ที่อาจจะกระทบต่อความมั่งคั่ง หากไม่มีการวางแผนให้ดีทรัพย์สินที่มีมากมาย อาจสร้างภาระทางด้านภาษีที่หนักอึ้งให้แก่ลูกหลาน ดังนั้น KBank Private Banking จึงแนะนำให้ลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงที่มีภาระทางภาษีมากกว่าคนทั่วไปเลือกการบริหารและวางแผนภาษีแทนการหลบภาษีหรือปิดบังข้อมูลแหล่งเงินได้ และควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีเพื่อวางแผนการบริหารภาษีและสินทรัพย์ของครอบครัวโดยคำนึงถึงต้นทุนทางภาษีที่ต้องแบกรับ และวางแผนป้องกันพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม และที่สำคัญคือควรรีบลงมือทำ
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS