{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ไตรมาส 3 แม้ฟื้นตัวแต่เตรียมรับมือ 6 ความเสี่ยง... เงินเฟ้อพุ่ง เงินบาทอ่อน การเมืองไทยร้อนแรง ความขัดแย้งในยุโรป สหรัฐถดถอย จีนล็อกดาวน์
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ครึ่งหลังปี 2565 เศรษฐกิจไทยต้องรับมือกับความท้าทายหลักๆ ได้แก่ 1. เงินเฟ้อพุ่งทะลุ 10% กดดันการบริโภค 2. เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐหากเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่อง 3. การเมืองไทยขาดเสถียรภาพ ส่งผลให้นักลงทุนชะลอโครงการใหม่ 4. ปัญหาความขัดแย้งในยุโรปรุนแรงขึ้น หนุนราคาน้ำมันพุ่งสูง 5. สหรัฐเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็ว แต่เงินเฟ้อยังสูง เฟดจำต้องขึ้นดอกเบี้ยแม้การว่างงานพุ่ง 6. จีนต้องล็อกดาวน์อีกรอบหลังมีการระบาดของโควิดในหลายเมือง ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอหนักกระทบการส่งออกของไทย
การเร่งตัวของราคาสินค้ากลุ่มอุปโภคและบริโภคที่มีต้นทุนจากน้ำมัน อาหารสัตว์ และการขนส่ง เงินเฟ้อสูงกดดันการบริโภคให้ชะลอหรือโตช้ากว่าที่น่าจะเป็น แม้ได้อานิสงส์จากการเปิดเมือง อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อไตรมาสสามน่าจะอยู่ในระดับสูงสุดของปี และมีโอกาสแตะระดับ 10% ได้ จากราคาน้ำมันที่ยังสูง ราคาอาหารสด และที่สำคัญ น่าจะเริ่มเห็นเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ หลังกำลังซื้อฟื้นตัวจากไตรมาส 2 รับการเปิดเมือง อีกทั้งจากฐานต่ำปีก่อน
ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในไทย VS ในสหรัฐฯ
เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตช้าในช่วงไตรมาสสามตามความเสี่ยงทั้ง 6 ประการ แต่ไม่น่าถึงขั้นถดถอย และมีโอกาสขยายตัวได้มากกว่าที่สำนักวิจัยฯ คาดไว้ก่อนหน้าที่ 3.1% โดยเฉพาะจากการเปิดเมืองที่เร็วในเดือนมิถุนายนและการกลับมาของนักท่องเที่ยวมากกว่าที่คาด มีโอกาสเห็น GDP ไทยครึ่งปีหลังขยายตัวมากกว่า 4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนและต่อเนื่องไปปีหน้า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯมีโอกาสจะเข้าสู่ภาวะถดถอยต้นปีหน้า หลังขึ้นดอกเบี้ยแรงเพื่อชะลอการบริโภคและการลงทุน ด้านอัตราการว่างงานน่าจะขยับขึ้น ลดความร้อนแรงของการปรับขึ้นค่าจ้าง ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะได้รับผลกระทบชัดเจน จากการที่ดอกเบี้ยกู้บ้านปรับขึ้นจาก 3% ในปีก่อนเป็นระดับ 6% เป็นการเคลื่อนไหวตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะเวลา 30 ปี ส่งผลให้คนชะลอซื้อบ้าน อีกทั้งยอดขายบ้านใหม่ที่ลดลงจะกระทบการจ้างงานกลุ่มก่อสร้างและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
ในมุมเศรษฐกิจไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบหากสหรัฐเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอย เพราะการถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นภาวะชั่วคราวเพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ และสหรัฐน่าจะฟื้นตัวได้เร็วผ่านการลดดอกเบี้ยและการอัดฉีดทางการคลัง ผลกระทบต่อไทย จะผ่าน 3 ช่องทาง 1. การส่งออกชะลอตามอุปสงค์ตลาดโลก 2. การท่องเที่ยว ที่อาจโตช้าช่วงครึ่งปีแรก แต่อาจไม่มากหากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐไม่ลามไปยุโรปที่เป็นลูกค้าหลักของไทย และ 3. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก เช่น น้ำมัน เหล็ก สินค้าเกษตรน่าจะปรับย่อลง ซึ่งน่าจะสนับสนุนเงินเฟ้อไทยให้ลดลง แต่รายได้ภาคเกษตรอาจชะลอตัวเช่นกัน โดยรวมการถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐไม่ถึงขั้นรุนแรงเป็นวิกฤติรอบใหม่ และวัฏจักรเศรษฐกิจไทยต่างจากสหรัฐ เนื่องจากไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว เงินเฟ้อฝั่งอุปสงค์เริ่มมาในไตรมาส 3 การขึ้นดอกเบี้ยของไทยปีหน้ายังจำเป็นเพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ และน่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่า 4% นับจากไตรมาส 3 ปีนี้ถึงปีหน้า
ทิศทางค่าเงินบาท มีแนวโน้มอ่อนค่าแต่มีโอกาสพลิกกับมาแข็งค่าในช่วงไตรมาส 4
ปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าเหนือระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดือนมิถุนายน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 0.75% กระทบเงินไหลออก และมีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในเดือนกรกฎาคมเพื่อดึงเงินเฟ้อในสหรัฐให้ลดลง ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้เงินไหลออกจากตลาดทุนไทย บาทจึงมีโอกาสแตะระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ถึงจุดสูงสุด ก็คงเห็นการลดลงของเงินเฟ้อเดือนต่อเดือนในช่วงต้นไตรมาส3 โดยน่าจะเห็นเฟดขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.5% ในรอบเดือนกันยายน และอีก 0.25% ในสองรอบการประชุมในไตรมาส 4 ปลายปีนี้น่าเห็นดอกเบี้ยสหรัฐที่ 3.5% ซึ่งการลดความแรงของการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐน่าเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และกลับมาลงทุนในไทย ขณะที่สำนักวิจัยฯ มองว่าบาทมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาส 4 โดยเฉพาะหลังจากที่ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น เงินบาทน่าจะแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐปลายปีนี้ อีกทั้งทางธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นทุกรอบการประชุม คือในเดือนสิงหาคม กันยายนและพฤศจิกายน ที่น่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในช่วงปลายปีนี้ขยับจาก 0.5% ไปสู่ระดับ 1.25% เป็นอย่างน้อยและยังคงเพิ่มต่อเนื่องในปีหน้าเพื่อสกัดเงินเฟ้อให้ลดลง ซึ่งการเร่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยน่าจะเพิ่มความน่าสนใจของสินทรัพย์ในรูปเงินบาทและส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีหลัง
โดยสรุป แม้เรามองเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่า 4% ในช่วงครึ่งปีหลังและต่อเนื่องไปถึงปีหน้า เสมือนแสงรำไรจากการเปิดเมืองและการฟื้นตัวด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภค แต่เราอาจต้องตั้งรับกับความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจทั้งของไทยและต่างประเทศ หรือพายุทั้ง 6 ลูกที่เตรียมกระหน่ำเศรษฐกิจไทยไตรมาสสามและอาจทำให้เติบโตน้อยกว่าที่คาดได้
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS