พาณิชย์-DITP” ปลื้มสินค้า BCG ไทย แจ้งเกิดในงาน Milan Design Week 2022

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า DITP ได้เร่งดำเนินการขยายผลสินค้า BCG ที่มีการออกแบบดีต่อยอดสู่ตลาดสากล โดยงาน Milan Design Week นับเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของผู้คนในแวดวงการออกแบบทั่วโลก ทั้งอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ การตกแต่งภายใน ไลฟ์สไตล์ และนวัตกรรมการออกแบบ รวมถึงสื่อมวลชนต่างๆ จะมารวมตัวกันที่มิลานอย่างคึกคัก เพื่ออัพเดตเทรนด์สินค้าและความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการออกแบบจากทั่วโลก ซึ่ง DITP ได้นำสินค้าไทยเข้าร่วมงาน Milan Design Week มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2554 ดำเนินงานโดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า ซึ่งในปีนี้นิทรรศการ Slow Hand Design จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Uncertainty = Certainty คัดสรรผลงานดีไซน์ที่ได้รับรางวัล DEmark ที่มีแนวคิดสอดคล้องกับการออกแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable Design) ตอบโจทย์เทรนด์โลก อาทิ สินค้า BCG (Bio-Circular Green economy) ที่นำเสนอนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยภูมิปัญญา และผลงานของนักออกแบบรุ่นใหม่จากโครงการ Talent Thai มาจัดแสดงรวมแล้วกว่า 45 แบรนด์ จากทั่วประเทศ เพื่อตอกย้ำและสร้างการยอมรับสินค้าไทยที่มีจุดเด่นด้านความประณีตและการผลิตผลงานอย่างตั้งใจ สร้างผลงานสินค้าหัตถอุตสาหกรรม สินค้าไลฟ์สไตล์ ที่สามารถตอบโจทย์การค้าในเชิงพาณิชย์ในระดับสากล

นิทรรศการ Slow Hand Design จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 6 - 12 มิถุนายน 2565 บนพื้นที่กว่า 280 ตร.ม เต็มพื้นที่อาคาร 2 ชั้น ของ My Own Gallery ตั้งอยู่ใน Superstudio Piu ทำเลสำคัญของงานมิลานดีไซน์วีคในย่าน Tortona Design District เป็นที่น่ายินดีว่านิทรรศการ Slow Hand Design จากประเทศไทย ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานในงาน Milan Design Week 2022 เป็นอย่างมาก ตลอดระยะเวลา 7 วันที่ได้จัดแสดง มีผู้ที่สนใจแวะเวียนมาชมกว่า 30,000 ราย โดยผู้เข้าชมให้ความสนใจในภาพรวมของนิทรรศการ Slow Hand Design และสินค้าไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มีการใช้วัสดุจากธรรมชาติรวมถึงมาตรฐานของการออกแบบของไทยผ่านรางวัล DEmark ที่ได้รับการยอมรับในแวดวงการออกแบบระดับโลก โดยชื่นชมว่าสินค้าไทยมีจุดเด่นที่สินค้ามีความเรียบง่ายแต่มีสไตล์ ยิ่งเมื่อรู้ว่ามีการนำเอาวัสดุเก่าหรือวัตถุดิบที่ไม่มีคุณค่าแล้วกลับมารีไซเคิลใหม่เพื่อแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้ายิ่งทำให้ตัวงานดูมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในงานนี้ ได้แก่ ภาชนะและสินค้าไลฟ์สไตล์ แบรนด์ Sonite ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น แกลบ (rice husk) และเปลือกมะพร้าว (coconut fiber) สินค้าตกแต่งบ้านแบรนด์ 103 Paper ผลิตจากกระดาษรีไซเคิล สินค้าไลฟ์สไตล์ แบรนด์ Qualy ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล จากแห อวนเก่า สินค้าเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ HOOG ผลิตจากเส้นใยพลาสติกจากเยื่อกาแฟ (Coffee Chaff) สินค้าเรือคายัควัสดุผิวทำจากไม้ไผ่และรถมอเตอร์ไซต์ EV แบรนด์สัญชาติไทย Stallions ออกแบบโดยนักออกแบบ dots studio สินค้าภาชนะเซรามิก แบรนด์ lamunlamai craft studio ที่มีเทคนิคการเคลือบผิว โดยใช้วัสดุจาก food waste เช่น เปลือกไข่และแครอท สินค้ากระเป๋าทำจากใบไม้ แบรนด์ Mr.Leaf จาก จ.เชียงใหม่ สินค้าผ้าทอมือ handcraft ย้อมสีธรรมชาติ จากแบรนด์ JUTATIP จ.ขอนแก่น และสินค้า wall decoration ผลงานปลากัด จากแบรนด์ KORAKOT จ.เพชรบุรี เป็นต้น

“ทั้งนี้กรมได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์สินค้า BCG ไทยในช่วงก่อนและระหว่างการเข้าร่วมงานดังกล่าว ผ่านสื่อดิจิทัลด้านธุรกิจและการออกแบบ ระดับโลก Designwanted ซึ่งมีผู้ติดตามกลุ่ม นักออกแบบ สถาปนิก เจ้าของธุรกิจแนวดีไซน์เข้าถึง 35 ประเทศทั่วโลก มียอดผู้ติดตามกว่า 1,000,000 คน เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทยที่มีการออกแบบดีและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้กรมยังมีแผนงานส่งเสริมสินค้ากลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดนำสินค้า BCG ไปเข้าร่วมแสดงในเวทีระดับโลกที่สำคัญอื่นๆ อาทิ เข้าร่วม London Design Week 2022 และเข้าร่วมงาน Maison & Objet Paris 2022 ในช่วงเดือนกันยายน 2565 นี้อีกด้วย” นายภูสิตกล่าวเสริม


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment