{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส คาดปีนี้จีดีพีไทยเติบโต 3.5% ยืนเป้าดัชนี 1800 จุด แนวโน้มระยะสั้นช่วงไตรมาส 2 หวั่นตลาดผันผวนจากเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยที่กำลังกลับเป็นขาขึ้น ชูธีมการลงทุน“กลุ่มเมตาเวิร์ส-ธุรกิจที่รับประโยชน์จากรถยนต์ไฟฟ้า-กลุ่มเฮลท์แคร์-กลุ่มที่ได้อานิสงค์จากการเปิดประเทศ” มาแรง เตือนปัจจัยเสี่ยงค่าเงินผันผวน-การเมือง-การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล-เทคโนโลยี
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จัดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “สู่การลงทุนเหนือชั้น ฝ่ายุค Digital-Metaverse–EV” เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 โดยนายธนวัฒน์ ปัจฉิมกุล ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวในหัวข้อ “DBS CIO Insight 2Q22 Anchor in the Storm” ว่า แม้เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบทางลบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะเป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัว และลดความเสี่ยงของภาวะอัตราเงินฝืดหรือ “stagflation”
ทั้งนี้ ธนาคารดีบีเอสและฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้นจีนเป็น “Overweight” หลังจากที่รัฐบาลประกาศนโยบายหนุนเศรษฐกิจและหุ้นจีนราคาไม่แพง พร้อมกับแนะหุ้นกลุ่ม “quality” และตราสารหนี้กลุ่ม Investment Grade ในประเทศพัฒนาแล้ว โดยหุ้นที่เป็น ธีมเด่นคือกลุ่มเฮลท์แคร์ (Healthcare) และการลงทุนทางเลือก เช่นโครงสร้างพื้นฐานและทองคำ
ส่วนมุมมองต่อภาพรวมเศรษฐกิจปี 2565 ประเมินว่า เงินเฟ้อสูงยัง สร้างแรงกดดันต่อธนาคารกลาง โดยฝ่ายวิจัย DBS คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐหรือ เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งในปี 2565 และธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB จะหยุดทำคิวอี
ทั้งนี้ ธนาคารดีบีเอส และฝ่ายวิจัย บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส คาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะเติบโต 3.5% ส่วนปีหน้าจีดีพีขยายตัว 4.2% ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาประเมินว่าจีดีพีปีนี้โต 3% ส่วนปีหน้า 2% ด้านประเทศจีนประเมินจีดีพีปีนี้ 5.3% ปีหน้า 5% และประเทศในยุโรปจะมีอัตราการขยายตัวของจีดีพี 3% ขณะที่ปีหน้า 2.5%
“เศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ จีน ยุโรปอินเดีย จะเติบโตชะลอลง ขณะที่ ขณะที่เศรษฐกิจหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรุนแรงของสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2564 จะฟื้นตัวเร่งขึ้นในปีนี้ เช่น ญี่ปุ่น กลุ่ม ASEAN หลายประเทศยกเว้นสิงคโปร์”
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะได้รับผลลบจากราคาน้ำมันสูงและเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อ จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19ที่คลี่คลาย และการฟื้นตัวของภาคบริการเช่นการเดินทาง ท่องเที่ยว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการขยายตัว
ส่วนแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยน ประเมินค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังมีแนวโน้มแข็งขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และสถานการณ์ยูเครน ทำให้นักลงทุนโยกไปถือเงินดอลลาร์ ซึ่ง เป็น safe haven ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ (Fed fund rate) จะเพิ่มขึ้นมาที่ 2.5% ในปลายปีนี้ และ 3.50% ในช่วงกลางปีหน้า หนุนโดยเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง ประกอบด้วยความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล เทคโนโลยี รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
ด้านนางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนในปีนี้ยังคงยืนเป้าหมายดัชนีอยู่ที่ระดับ 1800 จุด อิงกับค่าพีอีเรโชว์ 18.9 เท่า
โดยตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงสิ้นสุดวันที่ 12 เมษายน 2565 (YTD) นักลงทุนต่างชาติกลับมามียอดซื้อสุทธิ 1.1 แสนล้านบาท จากช่วง 5 ปีย้อนหลัง คือ ปี 2560-2564 นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิทุกปี รวมขายสุทธิสะสมเท่ากับ 6.7 แสนล้านบาท
ส่วนภาพรวมการลงทุนในไตรมาส 2/2565 นางสาวอาภาภรณ์ คาดว่าดัชนีหุ้นยังผันผวน โดยได้รับผลกระทบจาก อัตราเงินเฟ้อที่สูงจากต้นทุนผลัก (Cost Push) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสปรับเพิ่มดอกเบี้ยอัตรา 0.5% ในการประชุม 3-4 พ.ค.นี้ สงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมทั้งการขึ้นเครื่องหมาย XD หุ้นจำนวนมากในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ขณะที่โควิดยังแพร่ระบาดต่อเนื่อง และหนี้ภาคครัวเรือนสูง อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นในช่วงไตรมาส 2/2565 ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดเมือง เปิดประเทศ (Reopening) เงินสะพัดจาการหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงการที่ไทยได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนโดยตรงไม่มากนัก กลยุทธ์การลงทุน เน้นสร้างพอร์ตให้มีคุณภาพแข็งแกร่งและเติบโตได้ยั่งยืนในระยะยาว โดยเลือกซื้อสะสมหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีในจังหวะราคาหุ้นอ่อนตัว
สำหรับธีมการลงทุนในปีนี้ บล.ดีบีเอสฯ แนะนำเลือกลงทุน ธุรกิจในโลกอนาคต หรือเมตาเวิร์ส ซึ่งถือเป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังมาแรงทั่วโลก ธุรกิจที่รับประโยชน์จากยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่มีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ (Healthcare) เนื่องจากสังคมสูงวัยที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าและบริการด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น กลุ่มธนาคารและประกันที่ได้อานิสงค์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น กลุ่มสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมทั้งกลุ่มท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว หากไม่มีโควิดสายพันธ์ใหม่ที่รุนแรงเข้ามาเพิ่ม
ด้านนายสมนึก จันทร์รัสมี ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมดัชนีหุ้น ในส่วนของภาพหลัก “ไม่เปลี่ยน” โดยยังเป็น “ขาลง”ในระยะกลาง ดังนั้น ทิศทางหลักจึงเป็น “การปรับตัวลง” หากจะมีการปรับขึ้นจะมีนัยสำคัญแค่การรีบาวด์ฯทางเทคนิคเท่านั้น เนื่องจากดัชนีหุ้นในช่วงที่ผ่านๆมา ยังขาดแรงส่งในทางบวกหรือยังตกอยู่ใต้อิทธิพลด้านลบ (Overbought + Divergence) ด้วยปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ทิศทางตลาดฯในไตรมาส 2/2565 มีทิศทางของการอ่อนตัวลงโดยมี “แนวรับ(ย่อย)” ที่มีโอกาสถูกทดสอบจะอยู่ที่ระดับ 1640 ,1620 จุด หรืออาจถึง 1600 – 1580 จุด
สำหรับกลยุทธ์การเก็งกำไร กรณีดัชนีสูงกว่า 1700 จุด ให้เน้น “ซื้อค่าบวก” เพื่อลุ้น หรือ“รอขาย” ที่แนวต้าน 1710 – 1720, (1750) จุด แต่ถ้ากรณีดัชนีต่ำกว่า 1700 จุด, เน้น “ซื้ออ่อนตัว” ที่ 1640, 1620 หรือ 1600 – 1580 จุด เพื่อลุ้น / รอขาย เมื่อมีการปรับขึ้นตามมา
ขณะที่นายพงศ์ภัทร สิริพิพัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า มุมมอง SET50 ตลาดยังคงมีความเสี่ยงขาลง หากยังไม่สามารถกลับไปยืนเหนือ 1010-1015 ได้ ยังมีโอกาสที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแกว่งตัวลงในระยะกลาง ลงทดสอบ 960 หรือต่ำกว่าได้ ต้องขึ้นไปยืนเหนือจึงจะยกเลิกมุมมองดังกล่าว เชิงปัจจัย การขึ้นดอกเบี้ยเร็วของเฟดและการลดขนาดงบดุลยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นในระยะกลางจนกว่าเราจะเห็นเงินเฟ้อพีค โดยในส่วนของการลดขนาดงบดุล ต้องติดตามว่าจะเป็นการปล่อยให้หมดอายุหรือขายออกมาในตลาด หากเป็นกรณีหลังจะกดดันตลาดได้สูง ส่วนประเด็นเรื่องยูเครน-รัสเซีย จุดเปลี่ยนที่สำคัญอยู่ที่ขอบเขตความขัดแย้งจะขยายตัวไปจนถึงสวีเดน-ฟินแลนด์ที่จะเข้าร่วมนาโต้หรือไม่ หากเข้าร่วมได้สำเร็จจะเป็นปัจจัยที่แพร่ขยายพื้นที่รบของสงครามได้และเป็นความเสี่ยงสูงต่อตลาดหุ้น ส่วนจีนลด RRR เป็นบวกต่อตลาดได้ในระยะสั้น
ส่วนทองคำ การปรับตัวลงมีแนวรับที่ไม่ควรต่ำกว่าที่ 1960/1915 จึงจะยังเป็นการแกว่งตัวขึ้น หากหลุดต่ำกว่าแนวรับสองจะพักฐานนานหรือจบรอบ ส่วนการขึ้นมีแนวต้านที่ 2010 กับ 2070 การทะลุ 2070 ได้จึงจะขึ้นรอบใหม่ มิฉะนั้นตอนนี้ยังแกว่งตัวในกรอบ
ค่าเงินบาท ทิศทางค่าเงินบาทระยะกลางหากทะลุ 34 ได้จะขึ้นหรืออ่อนค่ารอบใหม่ หากพักฐานต้องไม่หลุดต่ำกว่า 33.2 จึงจะเป็นการแกว่งตัวขึ้นเพื่อทะลุ 34 โดยส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐ ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 6 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีและการทำ QT จะส่งผลให้บาททิศหลักยังเป็นการอ่อนค่าต่อเนื่อง ตอนนี้แกว่งตัวเพื่อรอเบรกทะลุ 34 หากยังไม่หลุด 33.2
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS