KR-ECI ขยับลงครัวเรือนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับระดับราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง

ดัชนี KR-ECI ขยับลงจากระดับต่ำจากเดือนก่อน สถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงยังสร้างความกังวลต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือน

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกและเชื่อมโยงมาถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยส่งผ่านมาทางระดับราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นส่งผลให้ให้ดัชนี KR-ECI ในเดือนมี.ค. 65 ทรงตัวจากระดับต่ำอยู่ที่ 33.4 และ 36.1 จาก 33.9 และ 33.6 ในเดือนก.พ. 65 แม้ว่าในเดือนมี.ค. 65 ภาครัฐจะออก 10 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ เช่น ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม 100 บาทสำหรับผู้หาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 5,500 คน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาตรการดังกล่าวบรรเทาผลกระทบให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ในขณะที่ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงมีความวิตกกังวลต่อระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงราคาพลังงาน สาธารณูปโภค และบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวัน (เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ ไฟฟ้า น้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าโดยสาร) สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อในเดือนมี.ค. ที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 5.73%YoY โดยกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ได้แก่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (+31.43% YoY) และสินค้าประเภทอาหาร เช่น อาหารปรุงสำเร็จ (บริโภคในบ้าน) เพิ่มขึ้น 6.15%

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อให้เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความรู้สึกของครัวเรือนที่มีต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยค่าดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 หมายถึง ครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่า ภาวะการครองชีพ “ดีขึ้น” ในทางตรงกันข้าม ค่าดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 หมายถึงภาวะการครองชีพ “แย่ลง”หมายเหตุ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทยขยายขอบเขตการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไปยังส่วนภูมิภาค (ต่างจังหวัด) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เมื่อเราพิจารณาในส่วนมุมมองต่อฝั่งรายได้ยังคงมีแนวโน้มแย่ลง ในขณะที่ภาระในการชำระหนี้ของครัวเรือนปรับดีขึ้นอยู่ที่ 17.6 ในเดือนมี.ค. 65 จาก 18.6 ในเดือนก.พ.65 (ดัชนีเพิ่มขึ้นบ่งชี้ถึงความกังวลที่ลดลง) ซึ่งมีสาเหตุบางส่วนมาจากที่ครัวเรือนเริ่มผ่อนสินค้าหมดลง และอาจมีแนวโน้มลดค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ลงทั้งจากสถานการณ์สินค้าราคาสูงขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทั้งโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่หมดลงในเดือนธ.ค. 64 และช้อปดีมีคืนที่สิ้นสุดในเดือนก.พ. 65 ที่ผ่านมา โดยมุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนก.พ.ที่รายงานจากธนาคารแห่งประเทศที่ระบุว่า ยอดซื้อสินค้าคงทนลดลง -1.7% MoM เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่ลดลงคาดว่าปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวคงจะกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนต่อเนื่องไปอีกในระยะข้างหน้า

ที่มา: ผลสำรวจภาวะการครองชีพ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

ราคาสินค้ามีแนวโน้มจะอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง แต่สถานการณ์การจ้างงานยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ ครัวเรือนส่วนใหญ่ต้องการมาตรการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระการครองชีพที่เกิดขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวภาวะการจ้างงานพบว่าการจ้างงานยังไม่ได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัวเต็มที่ โดยแม้ว่าการเลิกจ้างจะอยู่ในระดับต่ำลง แต่การลดเวลาการทำงานล่วงเวลา (OT) และการชะลอรับพนักงานยังปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูง) ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อระดับรายได้ของครัวเรือนต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของภาคครัวเรือน โดยได้มีการสอบเพิ่มเติมถึงมาตรการภาครัฐที่ครัวเรือนอยากให้เกิดขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบพบว่า ครัวเรือนส่วนมาก 39.2% ต้องการให้มีมาตรการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ขณะที่บางส่วนต้องการต่ออายุมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 หลังมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 4 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย.65 นี้

เมื่อพิจารณานโยบายบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์สินค้าราคาสูงที่ได้มีการดำเนินการแล้ว เบื้องต้นภาครัฐได้ออก 10 มาตรการบรรเทาค่าครองชีพ โดยเน้นบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มคนเฉพาะ ขณะที่มีการปรับลดลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 และ 39 เพื่อให้มีสภาพคล่องในการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการภาครัฐเพิ่มเติมในการช่วยบรรเทาผลกระทบของภาระการครองชีพของครัวเรือน ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาสินค้าและภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไป

แนวโน้มการเลิกจ้างปรับดีขึ้นเล็กน้อย

แต่การลดเวลาการทำงานล่วงเวลาและการชะลอรับพนักงานใหม่ยังปรับเพิ่มขึ้น

บ่งชี้ว่าสถานการณจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่

ที่มา: ผลสำรวจภาวะการครองชีพ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

ในระยะข้างหน้าสถานการณ์ราคาสินค้าราคาสูงยังไม่มีแนวโน้มที่จะบรรเทาลงในระยะอันใกล้ แม้การเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนจะมีความคืบหน้าแต่มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียน่าจะยังคงอยู่ต่อไปตลอดทั้งปี ดังนั้นระดับราคาพลังงานมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ในฝั่งของราคาอาหาร เช่น เนื้อสัตว์และผัดสดยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงเช่นกัน เนื่องจากราคาอาหารสัตว์และราคาปุ๋ยปรับเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์รัสเซียและยูเครน โดยเมื่อพิจารณาในฝั่งราคาต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ จากทางฝั่งผู้ประกอบการผ่านดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนมี.ค. ที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 11.4% จึงเริ่มเห็นการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นมาสู่ผู้บริโภคมากขึ้น

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (มี.ค.65) ขยับลงอยู่ที่ 33.4 จาก 33.9 ในเดือนก.พ.65 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าสถานการณ์สินค้าราคาสูงในช่วงที่กำลังซื้อยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน ดังนั้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางมาตรการจากภาครัฐจึงมีความจำเป็นที่จะเข้ามาประคับประคองและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment