ทีมกรุ๊ป เตือนระวังพายุฤดูร้อน แนะใช้น้ำรู้คุณค่า แม้ภัยแล้ง 65 ไม่รุนแรง

ทีมกรุ๊ป เตือนเฝ้าระวังพายุฤดูร้อนไปจนถึงช่วงสงกรานต์ พร้อมรณรงค์ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดช่วงหน้าแล้ง แม้ปีนี้ ไทยจะไม่เผชิญภัยแล้งรุนแรง-ฝนทิ้งช่วง เหมือนปีก่อนๆที่ผ่านมา

นายชวลิต จันทรรัตน์ วิศวกรแหล่งน้ำ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศ แจ้งว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2565 จากการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์แล้งในปี 2565 พบว่า ปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้ฤดูแล้งปีนี้ มีอากาศร้อนน้อยกว่าปีก่อนๆ เมื่อเข้าสู่เดือนเมษายน อากาศจะแปรปรวน มีฝนตก ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการกลางเดือนพฤษภาคม โดยจะไม่เกิดฝนทิ้งช่วงหรือหากมีก็จะเป็นการทิ้งช่วงสั้นๆ ซึ่งนับเป็นผลดีต่อการบรรเทาปัญหาภัยแล้งปีนี้

ส่วนสถานการณ์น้ำและแผนจัดการน้ำของไทยปี 2565 ภาพรวมทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำมากกว่าที่คาดการณ์เกือบทุกภาค โดยสถานภาพน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ต่างๆ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 พบว่ามีปริมาณน้ำรวม 43,570 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นน้ำใช้การ 20,027 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีมากกว่าปี 2564 และมากกว่าปี 2563 ขณะที่ 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำใช้การอยู่รวม 4,271 ล้านลูกบาศก์เมตร มีมากกว่าปี 2564 และมากกว่าปี 2563 เช่นกัน เป็นสถานการณ์น้ำที่อยู่ในเกณฑดี เพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภค เช่นเดียวกับสถานการณ์น้ำในเขื่อนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีด้วยเช่นกัน โดยปีนี้เขื่อนต่างๆ ได้วางระบบการบริหารจัดการน้ำต้นทุนในเขื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามมาตรการมาตรการฤดูแล้งและมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. กำหนด ด้วยการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งการเก็บกักน้ำในทุกแหล่งน้ำให้มากที่สุด, การจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตร เร่งรัดการขุดบ่อบาดาล ทำให้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว อย่างไรก็ตามพื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่ที่ชาวนาเสี่ยงปลูกข้าวนาปรังในหลายจังหวัดภาคกลาง ที่ปลูกข้าวนาปรังเกินแผนแล้วกว่า 1 ล้านไร่ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำที่ต้นข้าวบางส่วนจะเสียหายและแห้งเหี่ยวตายไปกับความแห้งแล้ง

นายชวลิต ยังกล่าวอีกว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนจัดและอบอ้าวติดต่อกัน ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ฝั่งประเทศเวียดนาม มาปะทะกับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน และลมอุ่นจากประเทศพม่าเป็นระลอกๆ ลักษณะนี้ส่งผลให้อากาศแปรปรวน เกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก ในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงกลางเดือนเมษายน

“ ปรากฏการณ์ลานีญา ที่ทำให้มีความชื้นมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติในปีนี้ ส่งผลให้สภาพอากาศไม่ร้อนมากและไม่เกิดความแห้งแล้งรุนแรงเหมือนปีก่อนๆ แต่กลับทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนและมีพายุลมแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้ป้ายและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง และต้นไม่ใหญ่ต้องระมัดระวังไว้ด้วย รวมทั้งฝนมาเร็ว แต่เพื่อลดการเผชิญความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภค และบริโภคตลอดฤดูร้อน ขอฝากให้ทุกภาคส่วน ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนด้วย” นายชวลิต กล่าว


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment