เซ้งคลื่น 1800MHz ใหม่ไม่ปัง ทบทวนแผน-หลักเกณฑ์เพื่อประโยชน์ชาติสูงสุด

แม้กลุ่ม “ทรู” จะออกมาประกาศชัดเจนว่า จะไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หลังรับเอกสารการประมูลและได้พิจารณาถ้วนถี่แล้ว

ด้วยเหตุผล คือ ทรูมีปริมาณคลื่นความถี่มากถึง 55 MHz ที่ยังเพียงพอต่อการรองรับปริมาณลูกค้าในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นวอยซ์หรือดาต้า ขณะที่ราคาและข้อกำหนดไม่ได้เอื้อประโยชน์ที่น่าสนใจ

จะทำให้เหลือเพียง “ดีแทค” และ “เอไอไอส” เพียง 2 รายที่มีศักยภาพเข้าหลักเกณฑ์ของ กสทช.

แล้วจะทำให้มีเพียงคลื่นความถี่ 1800 MHz ชุดเดียว 2x15 MHz จากทั้งหมด 3 ชุด ที่จะเปิดประมูลภายใต้เกณฑ์ N-1 คือจำนวนความถี่ที่ประมูล จะน้อยกว่าจำนวนผู้ประมวล 1 หน่วย

คือถ้ามีผู้ประมูล 3 ราย ก็เหลือความถี่ประมูล 2 ชุด ถ้าเหลือ 2 ราย ก็เหลือเพียงชุดเดียว

โดย กสทช. ยังยืนว่ากระบวนการประมูลคลื่นดังกล่าวจะยังคงเดินหน้าต่อไป ถึงแม้ว่าจะเหลือผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว

ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็จะมีการขยายเวลาเปิดรับผู้เข้าร่วมการประมูลไปอีก 30 วัน ถ้ายังไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพิ่ม ก็ให้เปิดการประมูล

วงเงินประมูลเริ่มต้นที่ 37,457 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งก่อน หากมีเหลือรายเดียว ก็รับราคาประมูลนี้ไป

ต้องไปรอดูอีกทีวันที่ 15 มิ.ย.61 ว่า “ดีแทค” และ “เอไอเอส” จะมาตามนัดหรือไม่

โอกาสที่เอไอเอส จะเดินตามรอย “ทรู” ก็ยังมี เพราะปริมาณคลื่นที่มีอยู่ 35 MHz ก็ยังมีเพียงพอ และยังมีภาระจากการประมูลคลื่นครั้งก่อนหน้า

ส่วน ดีแทค ที่ยืนยันว่าจะร่วมประมูล แม้ว่าจะเคยยื่นข้อเสนอให้ กสทช.ปรับรูปแบบการประมูลและลดขนาดปริมาณคลื่นความถี่ลงจาก 15 MHz เหลือ 5 MHz เพื่อเพิ่มทางเลือก และให้เหมาะสมกับความต้องการของเอกชนมากขึ้น แต่ทาง กสทช. ก็ยังยืนกรานตามเดิม

การที่ ดีแทค ได้พันธมิตรอย่าง “บมจ.ทีโอที” ในการใช้คลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz อาจช่วยปลด ล็อคไปได้เปราะหนึ่ง และหากแผนการเยียวยาลูกค้าดีแทคที่เสนอขอใช้คลื่นย่าน 850-900 MHz ที่จะหมดสัมปทาน 15 กันยายน 2561 แต่ กสทช.ไม่เอาออกประมูล เพื่อกันไว้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไปใช้สำหรับรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งพร้อมจ่ายค่าใช้คลื่นจนกว่าจะมีการเปลี่ยนมือ

อาจทำให้ดีแทคลังเล ซึ่งต้องรอดูว่าจะมีการเปลี่ยนใจหรือไม่

แต่ไม่ว่าจะเหลือผู้เล่นกี่ราย หรืออาจไม่มีคนเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้เลย

กสทช. คงต้องกลับไปพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าทำไม ถึงไม่ได้อย่างที่คาดหวัง

ต้องกลับไปพิจารณาถึงรูปแบบการประมูลว่าเหมาะสมหรือไม่

การกำหนดหลักเกณฑ์ผู้เข้าร่วมประมูล อาจต้องเปิดโอกาสให้มีผู้เล่นหน้าใหม่หรือไม่

การกำหนดเงินเริ่มต้นประมูล ให้เริ่มต้นในจุดที่เป็นไปได้

และการจัดแบ่งคลื่นความถี่ให้มีปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

โดยยึดประโยชน์ของชาติที่จะมีรายได้เหมาะสมสูงสุด ประชาชนผู้บริโภคได้รับบริการที่ดีที่สุด ในอัตราค่าบริการที่ต่ำที่สุด ส่วนเอกชนก็มีกำไรเพียงพอที่จะดำรงอยู่และขยายธุรกิจได้


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment