MPI เดือน ก.พ. ขยายตัว 2.75% คาดปี 65 เพิ่ม 3.5 – 4.5% จับตาสงครามรัสเซีย-ยูเครน

อก.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI อยู่ที่ระดับ 102.00 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.75 คาดทั้งปีขยายตัวร้อยละ 3.5 – 4.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.2 -3.2 พร้อมติดตามผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในรัสเซีย - ยูเครนอย่างใกล้ชิด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 102.00 ขยายตัวร้อยละ 2.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 64.80 นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ประมาณการ MPI ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 3.5 – 4.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.2 - 3.2

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและนโยบายการเปิดประเทศส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ทำให้อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม ถึงแม้ผู้ประกอบการจะเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบนำเข้า โดยในภาพรวมผู้ประกอบการยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้ค่อนข้างดี สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์เท่ากับเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 แม้ว่าราคาสินค้าและบริการหลายรายการจะปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย สศอ. ได้ใช้เครื่องมือระบบเตือนด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) ในการคำนวณ สะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้า ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเช่นกัน ขณะเดียวกัน ยังต้องจับตาดูสถานการณ์ของรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.88 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันเครื่องบิน เป็นหลัก โดยเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบ test & go ส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจใกล้ระดับปกติมากขึ้น และการเดินทางที่เพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการน้ำมันขนส่งเพิ่มสูงขึ้น

เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 40.94 จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การบริโภคค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงตัวแทนจำหน่ายเร่งสต๊อกสินค้าสำหรับจำหน่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.18 จากความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ายังมีปัญหา Supply shock ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ส่งผลให้มีการขาดแคลนชิปในตลาดโลก

ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.22 จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก หลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจใกล้เคียงในระดับปกติ รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศผ่านโครงการต่าง ๆ ของรัฐ และสินค้าเกษตรหลายรายการให้ผลผลิตดีและมีราคาสูง

เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.26 จากผลิตภัณฑ์ชุดกีฬา เสื้อยืด และชุดชั้นใน เป็นต้น มาจากการขยายตัวของตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment