{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ธ.ก.ส. ดัน 7 โครงการสร้างการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำร่องสาขาใน 9 ภาคและสำนักงานใหญ่ ธ.ก.ส. ร่วมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมสนับสนุนสินเชื่อ Green Credit วงเงิน 6,000 ล้านบาท ผ่านแหล่งเงินทุนพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างแนวร่วมจากภาคธุรกิจมาช่วยดูแลภาคเกษตรกรรม
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งภัยธรรมชาติ มลพิษทางอากาศ และโรคอุบัติใหม่ ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้ดำเนินนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 (เมษายน 2564 - มีนาคม 2565) ได้วางเป้าหมายตัวชี้วัดที่ชัดเจนในการดำเนินโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย
(1) โครงการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน โดยส่งเสริมกระบวนการพัฒนาร่วมกับเครือข่าย เติมองค์ความรู้ให้เกษตรกร หันมาพัฒนาการผลิตในรูปแบบเกษตรธรรมชาติ เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางอาหารและการสร้างต้นแบบเกษตรกรรมในแต่ละภูมิภาค เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้และจุดประกายในด้านการทำเกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรผสมผสานหรือเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ลดการพึ่งพาการใช้ทรัพยากรภายนอก โดยเฉพาะการลดใช้สารเคมี มาใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสามารถเพิ่มพื้นที่ตามโครงการแล้วกว่า 67,000 ไร่ และเพิ่มต้นแบบการทำเกษตรกรรมยั่งยืนในแต่ละภูมิภาคจำนวน 9 แห่ง
(2) โครงการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการพัฒนาศักยภาพ กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจ ชุมชนที่เป็นผู้ใช้น้ำไปสู่ชุมชนผู้ผลิต เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยเติมองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำบาดาลและระบบกระจายน้ำบาดาล เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการนำน้ำมาใช้ในกระบวนการผลิตทางการเกษตร โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 843 แห่ง ทั่วประเทศ
(3) โครงการลดการเผาตอซังข้าวเพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 เพื่อลดการเผาที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและฝุ่นละออง PM 2.5 รวมถึงสนับสนุนให้เกิด Zero Waste หรือการลดขยะจากฟางข้าว ขยายผลเพิ่มใน 8 จังหวัดภาคกลางและเตรียมขยายผลเพิ่มในภาคอื่น ๆ โดยส่งเสริมและร่วมกับชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาตอซังข้าว ผ่านการจัดกิจกรรมการให้ความรู้ การเข้าไปช่วยแก้ปัญหา และสร้างแนวร่วมเป็นเครือข่าย ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าร่วมโครงการ คิดเป็นพื้นที่ทำนารวม 23,004 ไร่ สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ เช่น อัดฟางก้อนขาย 1 ไร่ ได้ประมาณ 40 ก้อน ๆ ละ 25 บาท มีรายได้ประมาณ 1,000 บาท/ไร่ การนำฟางข้าวมาทำเป็นกระถางต้นไม้ โดยฟางข้าว 2 กิโลกรัม ทำกระถางได้ 1 ใบ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรต้นแบบเพิ่มขึ้น 30,000 บาทต่อปี และยังมีรายได้เสริมจากการนำไปเพาะเห็ดฟาง
(4) โครงการลดการเผาอ้อยเพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และราชบุรี ซึ่งมีพื้นที่การผลิตรวม 1,598,133 ไร่ ลง อย่างน้อย ร้อยละ 20 ของพื้นที่การผลิตทั้งหมด เพื่อช่วยลดฝุ่นและก๊าซเรือนกระจกจากการเผาใบอ้อยและนำไปสู่การปลูกอ้อยแบบปลอดสารและมีคุณภาพ โดยจัดทำ MOU ระหว่างธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงงาน ชุมชน และส่วนราชการในพื้นที่ พร้อมเปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ การให้ความรู้ สร้างแรงจูงใจและให้สิทธิประโยชน์ เช่น การขายอ้อยที่ปลอดการเผาให้กับโรงงานได้ในราคาที่สูงขึ้น การปรับไปเป็นสินเชื่อ Green Credit ที่มีอัตราดอกเบี้ยลดลงและเงื่อนไขที่ผ่อนปรน เป็นต้น ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการคิดเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยรวม 363,184 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 22.72 นอกจากนี้ใบอ้อยที่ถือเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ ยังนำไปแปรรูป และขายเป็นเชื้อเพลิง สร้างรายได้หมุนเวียนให้กับเกษตรกร
(5) โครงการสินเชื่อผ่านแหล่งเงินทุนพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) วงเงิน 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการระดมทุนจากภาคธุรกิจ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนภาคเกษตรกรรม ในการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) การส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ การสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาด รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดย ธ.ก.ส. นำเงินทุนดังกล่าวไปสนับสนุนให้เกษตรกรและชุมชน ผ่านโครงการสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) โครงการสินเชื่อรักษ์ป่าไม้ไทยยั่งยืน ซึ่งมีเกษตรกรและชุมชนนำเงินไปสร้างผลผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปแล้วกว่า 4,500 ล้านบาท สามารถสร้างแนวร่วมในการผลิตอาหารปลอดภัยไปแล้วกว่า 1,000 ตัน และเพิ่มปริมาณต้นไม้ในประเทศอีกกว่า 200,000 ต้น
(6) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) เพื่อลดการใช้ทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารพลังงานและทรัพยากร ในส่วนของสาขาธนาคารทั่วประเทศ โดยจัดทำสาขาต้นแบบ ภาคละ 1 แห่ง รวม 9 แห่ง เพื่อวางแนวทางในการบริหาร การกำกับและติดตามการลดใช้พลังงาน เช่น ไฟฟ้า น้ำมัน วัสดุอุปกรณ์ที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มในการทำงาน โดยคำนวณเป็นค่าแฟคเตอร์ในการวัดผล เพื่อพัฒนาไปสู่มาตรฐานในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
(7) โครงการลดผลกระทบจากกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขององค์กร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาสภาวะแวดล้อมให้ดีขึ้น โดยนำอาคารสำนักงานใหญ่ ธ.ก.ส. มาเป็นต้นแบบในด้านการประหยัดพลังงานและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การลดปริมาณขยะ การนำน้ำเสียมาปรับคุณภาพเพื่อใช้รดต้นไม้ โครงการติดตั้ง Solar Roof Car park โครงการกังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการติดตั้งเครื่องควบคุมความเร็วรอบมอเตอร์ (VSD) และโครงการ ปรับ ลด ปลด เปลี่ยน เพื่อลดพลังงาน รวมถึงการรณรงค์ให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นายธนารัตน์ กล่าวอีกว่า ในปีบัญชี 2565 (เมษายน 2565 - มีนาคม 2566) ธ.ก.ส. ยังคงเดินหน้าในด้านการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก และโครงการยกระดับธนาคารต้นไม้สู่ชุมชุนไม้มีค่า โดยมีเป้าหมายปลูกต้นไม้รวมสะสม จำนวน 250,000 ต้น โครงการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เป้าหมายสะสมเพิ่มเป็น 1,000 แห่งทั่วประเทศ การลดการเผาวัสดุการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกข้าวและอ้อยเพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 โดยเพิ่มเป้าหมายลดพื้นที่การเผาเพิ่มอีกจำนวน 363,000 ไร่ โครงการลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร โดยมีเป้าหมายลดลงเฉลี่ยร้อยละ 5 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) ที่จะยกระดับการเพิ่มค่าแฟกเตอร์ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งนี้ ธ.ก.ส. มุ่งมั่นในการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้ภาคเกษตรกรรมเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนแก่เกษตรกรเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและยกระดับคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS