สสว.เตือนเอสเอ็มอีหลายกลุ่มรับมือผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน

สสว. ออกมาเตือนเตือนเอสเอ็มอีไทยกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับเทียม ผลไม้สดและแปรรูป ข้าวและธัญพืชเตรียมรับมือผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานสถานการณ์และวิเคราะห์เตือนภัยเอสเอ็มอี เกี่ยวกับการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ว่า สถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก สำหรับเศรษฐกิจไทยเนื่องจากรัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าสำคัญและเป็นประเทศเป้าหมายที่ไทยต้องการขยายความสัมพันธ์ทั้งด้านการค้าการลงทุน เพราะเป็นประตูที่จะขยายการค้าไปสู่กลุ่มประเทศในภูมิภาคยูเรเซีย

นอกจากนี้ยังเป็นตลาดหลักของการท่องเที่ยวไทย ขณะที่ยูเครน เป็นประเทศที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกรวม 134.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นส่วนของเอสเอ็มอี 15.10 ล้านเหรียญสหรัฐด้วยอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 30% สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวม โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการประกอบการในทุกวิสาหกิจให้เพิ่มสูงขึ้น

ในปี 2564 ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี มีการส่งออกสินค้าไปรัสเซียและยูเครนอยู่ในอันดับที่ 29 และอันดับที่ 70 ตามลำดับ สินค้าส่งออกได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับเทียม ผลไม้สดและแปรรูป ข้าวและธัญพืช โทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสาร ฯลฯ แม้ว่าโดยภาพรวมจะยังไม่เห็นผลกระทบทางตรงที่ชัดเจนนัก นอกเหนือจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวม 565 ราย ที่มีการส่งออกไปยัง 2 ประเทศ ต้องเตรียมการรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากภาวะวิกฤติดังกล่าว ”

ผอ.สสว. เผยอีกว่า เมื่อประเมินผลกระทบในมิติด้านการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย พบว่า ประเทศไทยขาดดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ไทยส่งออกสินค้าไปรัสเซียมูลค่ารวม 1,028 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า และพลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก จำนวนนี้เป็นการค้าของเอสเอ็มอีคิดเป็นมูลค่า 146.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 83.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนเอสเอ็มอีที่ส่งออกรวม 442 ราย จากจำนวนผู้ส่งออกทั้งหมด 906 ราย สินค้าส่งออกสำคัญของเอสเอ็มอี ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับเทียม ผลไม้สดและแปรรูป โทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสาร ฯลฯ ส่วนการนำเข้าสินค้าจากรัสเซีย มีมูลค่ารวม 1,752 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบ เหล็กกล้า ปุ๋ย อลูมิเนียมและยานอวกาศและส่วนประกอบ

นอกจากนี้รัสเซียเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของการท่องเที่ยวไทยโดยในปี 2562 ก่อนวิกฤติ COVID-19 นักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนถึง 1,481,837 คน สร้างรายได้จากท่องเที่ยวจำนวน 102,895.03 ล้านบาท ซึ่งหากสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้นต่อเนื่องจนสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้เป็นปกติ แต่ความขัดแย้งยังไม่คลี่คลายอาจจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทย รวมถึงการดึงดูดการค้าการลงทุนระหว่างกันได้

ส่วนการค้ากับยูเครน ไทยอยู่ในสถานะขาดดุลการค้าเช่นกัน โดยไทยส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่ารวม 134.8 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ของปรุงแต่งจากพืชผัก ผลไม้ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลาหรือสัตว์น้ำ ฯลฯ จำนวนนี้เป็นการส่งออกของเอสเอ็มอีคิดเป็นมูลค่า 15.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.6 โดยเอสเอ็มอีที่ส่งออกมีจำนวน 123 รายจากจำนวนผู้ส่งออกทั้งหมด 322 ราย สินค้าส่งออกหลักของเอสเอ็มอี ได้แก่ ผักและผลไม้แปรรูป ข้าวและธัญพืช อัญมณีและเครื่องประดับเทียม ฯลฯ ส่วนการนำเข้าสินค้าจากยูเครน มีมูลค่ารวม 251.7 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เหล็กกล้า กากและเศษที่เหลือจากอุตสาหกรรมอาหาร ไขมันและน้ำมันจากสัตว์และพืช ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากวิกฤติการณ์สู้รบครั้งนี้ มีตั้งแต่การส่งออกสินค้า รวมถึงการค้าการลงทุนที่จะชะลอตัว ขณะที่การนำเข้าสินค้าทั้งด้านวัตถุดิบ ด้านการเกษตรและพลังงานจะยากลำบากขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี จะได้รับผลกระทบด้านราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น เช่น กลุ่มอาหารสัตว์ เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบทั้งด้านเกษตร พลังงาน ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลต่อค่าขนส่งและต้นทุนสินค้าเพิ่มสูงขึ้น และหากสถานการณ์มีความยืดเยื้อ อาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศข้างเคียง ได้แก่ โปแลนด์ เบลารุส ฮังการี มอลโดวา สโลวาเกีย และ โรมาเนีย ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีมูลค่าส่งออกรวม 101.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,300 ล้านบาท

ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ส่งออกและนำเข้าสินค้าจากรัสเซียและยูเครนจะต้องเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ทีเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถรับมือและแก้ปัญหาได้ทันการณ์


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment