ราคาเนื้อสุกรปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี… คาดกระทบค่าใช้จ่ายด้านอาหารของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นราว 8-10%

เศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา แม้ยังคงไม่ได้ฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดิมก่อนโควิด-19 แต่กลับเริ่มเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ สะท้อนผ่านราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งราคาพลังงานและอาหารสด โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยราคาเนื้อสุกร (เนื้อแดง)ล่าสุดขยับมาอยู่ที่ราวกิโลกรัมละ 200 บาทและคาดว่าราคาอาจจะขยับสูงขึ้นอีก ส่งผลให้ผู้ประกอบการขายปลีกเนื้อสุกร (หมูเขียง) โดยเฉพาะรายย่อย และผู้ประกอบร้านอาหารหลายรายเริ่มแบกรับต้นทุนไม่ไหว จนต้องทยอยปรับเพิ่มราคา หรือแม้กระทั่งชะลอ/หยุดขายชั่วคราว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาเนื้อสุกรปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทำให้เกิด Pent-up demand ประกอบกับมีความต้องการบริโภคเนื้อสุกรในช่วงเทศกาลปลายปี ขณะที่ปริมาณเนื้อสุกรมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยมีสาเหตุมาจาก

- ปัญหาโรคระบาดในสุกรที่กระจายเป็นวงกว้าง ทำให้จำเป็นต้องกำจัดสุกรที่มีความเสี่ยงจำนวนมากเพื่อควบคุมโรค ยิ่งกดดันให้ปริมาณสุกรขาดตลาดมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งโรคดังกล่าวยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาโรค

- ต้นทุนการผลิตเนื้อสุกรปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และต้นทุนค่าอาหารสัตว์ซึ่งคิดเป็นกว่า 70% ของต้นทุนทั้งหมดก็ปรับเพิ่มขึ้น โดยวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงขึ้นตามค่าขนส่งและยังต้องเสียภาษีนำเข้า เช่น ราคากากถั่วเหลืองปรับเพิ่มขึ้นกว่า 30% ตลอดจนต้นทุนในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดในฟาร์มที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มราว 500 บาทต่อตัว

- เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร โดยเฉพาะรายย่อยลดการเลี้ยงสุกรลง บางส่วนปิดกิจการหรืออาจจะยังไม่มีความมั่นใจที่จะกลับมาเลี้ยงสุกรเต็มกำลัง เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อสุกรในช่วง ล็อกดาวน์จากแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ประกอบกับในช่วงก่อนหน้าภาครัฐขอให้ตรึงราคาเนื้อสุกรไว้ เกษตรกรจึงต้องแบกรับต้นทุนจำนวนมากและเกิดภาวะขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง

จากปัญหาความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานที่ต้องใช้เวลาในการคลี่คลาย รวมถึงปัจจัยด้านฤดูกาลที่สภาพอากาศร้อนอาจทำให้สุกรเติบโตช้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า ราคาเนื้อสุกร (เนื้อแดง) ในช่วงครึ่งแรกปี 2565 จะยังยืนสูงและอาจปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีนและช่วงเทศกาลสงกรานต์ ภายใต้สมมติฐานที่การระบาดของโควิดในประเทศไม่ลุกลามจนส่งผลกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น การห้ามส่งออก การช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในด้านต้นทุนและมาตรการทางการเงิน โครงการหมูธงฟ้า การขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ในการตรึงราคา เป็นต้น มีส่วนช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้บ้าง แต่คงต้องรอจนกว่าผลผลิตสุกรรอบใหม่จะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง ราคาเนื้อสุกรจึงจะย่อตัวลง ทั้งนี้ คาดว่าราคาเนื้อสุกรเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2565 จะยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูง โดยราคาอาจอยู่ในกรอบ 190-220 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นราว 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

การเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสุกรส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งผู้ประกอบการขายปลีกเนื้อสุกร (หมูเขียง) โดยเฉพาะรายย่อย ผู้ประกอบการร้านอาหาร ตลอดจนส่งผ่านมายังผู้บริโภคทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

- ผู้ประกอบการขายปลีกเนื้อสุกร (หมูเขียง) โดยเฉพาะรายย่อยที่มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 รายทั่วประเทศไม่สามารถแบกรับต้นทุนทั้งราคาเนื้อสุกรหน้าฟาร์มที่แพงขึ้นและการเพิ่มขึ้นของค่าขนส่ง ตลอดจนไม่สามารถแข่งขันราคาได้เหมือนผู้ประกอบการรายใหญ่ นอกจากนี้ผู้บริโภคบางรายอาจเปลี่ยนไปบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอื่นที่ราคาถูกกว่าแทน ทำให้ขายได้ปริมาณน้อยลงจนอาจทำให้จำเป็นต้องปิดกิจการ

- ผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารที่ใช้เนื้อสุกรเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น ร้านชาบู-หมูกะทะ เป็นต้น จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แม้ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารอาจจะเริ่มฟื้นตัวบ้างภายหลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยกลับมาฟื้นตัว แต่กลับต้องมาเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงอีกทำให้หลายรายจำเป็นต้องปรับเพิ่มราคาอาหาร แต่คาดว่าคงเพิ่มราคาได้ในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาในธุรกิจร้านอาหารมีค่อนข้างสูง

- ผู้บริโภคจะต้องเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารที่เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยผู้บริโภคมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายอาหารสดต่อคนต่อเดือนราว 50% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายอาหารทั้งหมด ซึ่งส่วนนี้ผู้บริโภคจะต้องแบกรับราคาเนื้อสุกรที่เพิ่มขึ้นโดยตรงหากไม่มีทางเลือกในการหันไปหาอาหารประเภทอื่น ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับรับประทานอาหารนอกบ้านและซื้ออาหารที่ปรุงสำเร็จต่อคนต่อเดือนมีสัดส่วนราว 50%2 ผู้บริโภคก็อาจจะต้องแบกรับต้นทุนบางส่วนจากการขึ้นราคาค่าอาหาร

ทั้งนี้ จากราคาเนื้อสุกรที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคบางส่วนหันไปบริโภคเนื้อสัตว์อื่นๆ ทดแทน ซึ่งจะผลักดันให้ราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อไก่ปรับสูงขึ้นตาม นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารอื่นๆ เช่น ผัก น้ำมันพืชก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จากราคาเนื้อสัตว์ (เนื้อสุกรและเนื้อไก่) และวัตถุดิบอาหารที่สำคัญอื่นๆ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น น่าจะกดดันให้ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของผู้บริโภคต่อคนต่อเดือนในปี 2565 เพิ่มขึ้นราว 8-10% ซึ่งส่วนนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่ก็เริ่มมีสัญญาณปรับตัวสูงขึ้น เช่น ค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ค่าเดินทาง เป็นต้น สวนทางกับรายได้ครัวเรือนที่ยังคงเปราะบางซึ่งสะท้อนถึงกำลังซื้อครัวเรือนที่น่าจะยังไม่ฟื้นตัวดีนัก


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment