บัญชีกลางช่วยเซฟงบกว่า 7.8 หมื่นล้าน

กรมบัญชีกลางเผยผลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ปี 64 ประหยัดงบประมาณได้กว่า 7.8 หมื่นล้านบาท

นางแก้วกาญจน์ วสุพรพงศ์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับ ดูแล และพัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และประกาศเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างในระบบสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง ทำให้ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม และสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน อีกทั้งยังช่วยประหยัดเงินงบประมาณจากโครงการต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ตุลาคม 2563 – กันยายน 2564) หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและก่อหนี้แล้วจำนวนทั้งสิ้น 5,247,846 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 98.34 ของจำนวนโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด โดยมีมูลค่าที่จัดหาได้ 1,333,622.22 ล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณได้ 78,667.29 ล้านบาท หรือประหยัดได้ร้อยละ 5.57 ของวงเงินงบประมาณในการจัดหา

สำหรับวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่สามารถประหยัดงบประมาณได้มากที่สุดในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ได้แก่การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) ซึ่งในปีนี้ประหยัดงบประมาณได้ร้อยละ 15.14 ของวงเงินงบประมาณในการจัดหา แต่การจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่ามากที่สุด ได้แก่การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งมีมูลค่าถึง 919,989.69 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55.66 ของมูลค่างบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด รองลงมาคือวิธีเฉพาะเจาะจง และวิธีคัดเลือกตามลำดับ และเมื่อจำแนกปริมาณการจัดซื้อจัดจ้างตามวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่าหน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงมากที่สุด เป็นจำนวน 5,200,064 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 97.45 ของจำนวนโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด

โฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวในตอนท้ายว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 กรมบัญชีกลางเตรียมแผนเร่งรัด การเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 โดยจะเร่งรัดการเบิกจ่ายให้มีการก่อหนี้ภายในไตรมาส 2 เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว รวมถึงมีแผนที่จะปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้หน่วยงานของรัฐ มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน และสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยทั้ง SMEs และ Startup ให้เข้าถึง การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมากขึ้น ที่สำคัญต้องมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน อย่างเป็นธรรม


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment