EXIM BANK มู่งสู่แบงก์เพื่อการพัฒนา เร่ง “ซ่อม สร้าง เสริม”

EXIM BANK พลิกโฉมสู่ “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย” ชู เร่ง “ซ่อม สร้าง เสริม”ช่วยผู้ประกอบการทุกระดับ พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ นำทัพธุรกิจไทยรุกตลาดโลกอย่างสมดุล

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงแนวนโยบายและบทบาทของ EXIM BANK ภายหลังเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ว่า จากนี้ไปตนเองได้ตั้งเป้าหมาย EXIM BANK ต้องทำหน้าที่ “เครื่องยนต์รุ่นใหม่” ผลักดันให้ประเทศไทยหลุดจากภาวะติดหล่มข้างต้น โดยใช้นโยบาย Dual-track Policy ชูบทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank)” ควบคู่กับการเป็น “ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs (One Stop Trading Facilitator for SMEs)”

โดยภารกิจหลักของ EXIM BANK ในปี 2564 ได้แก่ การเร่ง “ซ่อม สร้าง เสริม” การพัฒนาประเทศไทย การเร่ง “ซ่อม” และ “สร้าง” ภาคอุตสาหกรรมของไทยให้เติบโตไปสู่อนาคตประคับประคองผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่ประสบวิกฤต สร้างอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (เช่น เทคโนโลยีด้านสุขภาพ รถยนต์ไฟฟ้า) เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) โครงสร้างพื้นฐาน และการปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมขนานใหญ่

การเร่ง “สร้าง” ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย ตั้งแต่รายย่อยไปจนถึงรายกลางและรายใหญ่ ทำให้ Supply Chain ภาคส่งออกไทยแข็งแกร่งและเชื่อมโยงกับการลงทุนภายในประเทศและระหว่างประเทศ เป็นสะพานเชื่อมต่อโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านเติมเต็มช่องว่างทางธุรกิจให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ โดยเฉพาะการแชร์ความเสี่ยงในช่วงเริ่มต้นของโครงการ สร้างผู้ส่งออก SMEs รายใหม่ให้ส่งออกได้และแข็งแรงขึ้น เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ที่มีต้นทุนต่ำกว่าในระยะถัดไป

สนับสนุนซัพพลายเออร์และผู้ประกอบการทั้งหมดใน Supply Chain การส่งออก

สร้างช่องทางในลักษณะ Thai Pavilion นำสินค้าไทยสู่ตลาดโลกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำของโลก

การเร่ง “เสริม” ศักยภาพการแข่งขันของผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยในตลาดหลักและตลาดใหม่ (New Frontiers) อย่างสมดุล

สนับสนุนให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้ โดยเฉพาะประเทศที่ธุรกิจไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นของโครงการลงทุน

ป้องกันความเสี่ยง พร้อมเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการไทย

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK วันนี้ต้องมีจุดยืนที่มีเสน่ห์ เพื่อทำให้องค์กรโตขึ้น ชัดเจนขึ้น และช่วยพัฒนาประเทศได้มากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการช่วยให้นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพเข้าไปรับงานในต่างประเทศได้มากขึ้น ควบคู่กับการขยายโครงการลงทุนภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน ควบคู่กับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ โดยสร้างนวัตกรรมหรือกระบวนการผลิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน EXIM BANK จะเข้าไปดูแลผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถค้าขายหรือลงทุนระหว่างประเทศได้โดยสะดวกขึ้น สามารถบริหารความเสี่ยงและเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ นำไปสู่การพัฒนาภาคส่งออกและการลงทุนของไทยตลอดทั้ง Supply Chain ของไทยให้เชื่อมโยงกับ Supply Chain ของโลกในยุค New Normal ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนหลักการแห่งความยั่งยืน

“ผมตั้งใจเข้ามาทำหน้าที่นายธนาคารยุคใหม่เพื่อการพัฒนา เดินหน้าปรับเปลี่ยน EXIM BANK ขนานใหญ่ให้สามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น และเป็นกลไกให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ปรับตัว เปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคใหม่ได้ เส้นทางใหม่ของ EXIM BANK ครั้งนี้มีเป้าหมายชัดเจนที่จะ ‘ฝันให้ใหญ่’ สู่การเป็น Thailand Development Bank แล้ว ‘ไปให้ไกล’ สู่ New Frontiers โดย ‘ไม่ทิ้งคนตัวเล็ก’ หรือ SMEs เพราะทุกภาคส่วนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงประเทศ” ดร.รักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ หลังจากในปีที่ผ่านมาหดตัวสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ขณะที่ความต้องการซื้อสินค้าภายในประเทศยังเปราะบางและการท่องเที่ยวยังไม่มีทีท่าจะฟื้นตัวได้ในเร็ววัน การฟื้นตัวของภาคการส่งออกจึงเป็นความหวังในระยะสั้น แต่การผลักดันให้เศรษฐกิจไทยและภาคการส่งออกเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวยังติดขัดปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการ ทำให้ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา GDP ไทยโตเฉลี่ยเพียง 2% เทียบกับ GDP โลกที่โต 3% และประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามโตถึง 6% สอดคล้องกับการส่งออกของไทยโตเฉลี่ยเพียง 2% น้อยกว่าเฉลี่ยของโลกที่ 3% และการส่งออกเวียดนามที่โตถึง 15%

ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังเผชิญปัญหา “ความย้อนแย้ง” ในเชิงโครงสร้างของผู้ประกอบการ แม้มีจำนวน SMEs มากถึง 3.1 ล้านราย คิดเป็น 99.5% ของทั้งระบบ ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีเพียง 1.5 หมื่นรายหรือ 0.5% ของทั้งระบบ แต่กลับมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสูงเกือบ 60% ของ GDP รวม อีกทั้งเมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ย GDP ต่อกิจการ พบว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจสูงกว่า SMEs ถึง 350 เท่า ยิ่งตอกย้ำว่าแม้ SMEs มีจำนวนมาก แต่ยังสร้างแรงส่งต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าที่ควร นอกจากนี้ SMEs ส่วนใหญ่ยังค้าขายอยู่ในประเทศ มีไม่ถึง 1% ของ SMEs ทั้งหมดที่สามารถเป็นผู้ส่งออกได้และสัดส่วนนี้แทบไม่ขยับเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ SMEs ส่วนใหญ่เผชิญการแข่งขันที่รุนแรงและข้อจำกัดต่าง ๆ ภายในประเทศ ลดทอนโอกาสการเติบโตและการเป็นเครื่องยนต์สำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจและการส่งออกของไทยเปรียบเสมือนรถยนต์ที่กำลัง “ติดหล่ม” และต้องการการผลักดันให้เคลื่อนไปข้างหน้าในหลายมิติ ได้แก่ 1. การลงทุน สัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชนต่อ GDP ในปี 2563 อยู่ที่ 16.6% ลดลงจาก 18.7% ในปี 2553 2. การพัฒนานวัตกรรม สัดส่วนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ต่อ GDP ในปี 2561 ของไทยอยู่ที่ 1% เทียบกับเกาหลีใต้และไต้หวันซึ่งอยู่ที่ 4.5% และ 3.4% ตามลำดับ ทำให้การส่งออกของไทยยังเน้นสร้างมูลค่าผ่านปริมาณมากกว่าราคา 3. การเชื่อมโยง Supply Chain ของโลกยุคใหม่ ตามกระแส Megatrend 4. การสร้างผู้ส่งออกรายใหม่ โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ เพื่อให้เป็นนักรบเศรษฐกิจที่จิ๋วแต่แจ๋ว มีภูมิคุ้มกันในยามวิกฤตและแรงส่งใหม่ช่วยผลักดันประเทศให้เติบโต นอกจากนี้ เศรษฐกิจและการส่งออกของไทยยังถูกกดดันจากกระแส Disruption ในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี การเกิดโควิด-19 สงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขหรือพัฒนาก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยหยุดอยู่กับที่หรือกลายเป็นรถยนต์ที่วิ่งได้ช้า


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment