GC จับมือ ม.สุรนารี สร้างระบบการคัดแยกขยะพลาสติกจากต้นทางสู่ปลายทาง

GC จับมือ ม.สุรนารี สร้างระบบการคัดแยกขยะพลาสติกจากต้นทางสู่ปลายทาง พร้อมเพิ่มมูลค่าให้ขยะพลาสติกปนเปื้อน

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เปิดเผยว่า GC ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ SUT ในโครงการศึกษาการจัดการขยะพลาสติกจากต้นทางสู่ปลายทางแบบครบวงจร ช่วยเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกปนเปื้อนต่างๆ โดยการรีไซเคิลพลาสติกผ่านกระบวนการ Chemical Recycling หรือ กระบวนการแปรรูปขยะพลาสติกปนเปื้อน ให้สามารถนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ พร้อมสร้างความเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน (Ecosystem) ด้วยแผนการจัดการขยะพลาสติก (End-to-End Waste Management) เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) และ การดำเนินงานตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ความร่วมมือในครั้งนี้ ส่งผลให้ GC มีแผนการจัดการขยะพลาสติก (End-to-End Waste Management) อย่างครบถ้วนครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1) พลาสติกชีวภาพ (Bio-based) มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถสลายตัวได้ด้วยการฝังกลบเหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียว 2) พลาสติกทั่วไป (Fossil-based) มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยความรับผิดชอบ นำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิล (Recycle) หรืออัพไซเคิล (Upcycle) เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่สามารถคัดแยกและนำกลับมารีไซเคิลด้วยกระบวนการ Mechanical Recycling ได้ 3) Chemical Recycling ซึ่งได้ร่วมมือกับ SUT ในการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปขยะพลาสติกปนเปื้อน ที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบปกติ (Mechanical Recycling) ได้ ให้สามารถนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ พร้อมวางระบบการจัดการขยะด้วยเทคโนโลยีอื่น ๆ ซึ่ง GC มีพันธมิตรที่สามารถรองรับวัตถุดิบที่ได้มาจากกระบวนการ Chemical Recycling นี้อีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะใช้พื้นที่ของ SUT เป็นกรณีศึกษา ในการสร้างรูปแบบการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทางที่มีประสิทธิภาพ ศึกษาการคัดแยกขยะพลาสติก การนำขยะพลาสติกมาแปรรูป ให้สามารถนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โดยคาดหวังว่า จะทำให้เกิดระบบจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อเป็นแนวทางในการขยายผล ทั้งด้านการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับประเทศต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ SUT มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการใช้ความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งได้ศึกษาและวิจัยการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ ปี 2549 เป็นต้นมา เริ่มตั้งแต่การคัดแยกจนถึงการ แปรรูปเป็นพลังงานรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาระบบแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันด้วยกระบวนการไพโรไลซิสขึ้นในมหาวิทยาลัย โดยมีกำลังการผลิตน้ำมันประมาณ 5,000 ลิตร/วัน และมีความพร้อมในการทำวิจัยต่อยอดเพื่อสร้างรูปแบบการจัดการของเสียแบบครบวงจร


COMMENTS

RELATED TOPICS

Please wait a moment