WHA Groupฟื้นปี 63 แตะ 2,543 ล้านบาทลุยหนักปี64มั่นใจสดใส

WHA Group โชว์ปี 2563 รายได้รวม 9,376.0 ล้านบาท กำไรปกติ 2,542.6 ล้านบาท พร้อมจ่ายปันผลเพิ่มเติม อัตราหุ้นละ 0.0635 บาท มั่นใจธุรกิจปี 2564 สดใส

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2563 ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร และกำไรสุทธิทั้งสิ้น 4,550.7 ล้านบาท และ 1,453.9 ล้านบาท ตามลำดับ โดยเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ และกำไรสุทธิปกติทั้งสิ้น 4,482.6 ล้านบาท และ 1,387.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 178.6% และ 214.8% จากไตรมาสก่อน และ 5.4% และ 14.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 สำหรับผลการดำเนินงานปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 9,406.6 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,523.7 ล้านบาท โดยหากพิจารณาถึงผลประกอบการปกติ บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 9,376.0 ล้านบาท และกำไรปกติ 2,542.6 ล้านบาท ลดลง 14.0% และ 8.1% จากปีที่แล้ว สะท้อนผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งจากแพลตฟอร์ม 4 กลุ่มธุรกิจ แม้ว่าการโอนที่ดินบางส่วนถูกเลื่อนออกไปจากสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการจำกัดการเดินทางในปีที่แล้ว รวมถึงการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า Gheco-One ที่ลดลง และค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคของบริษัทในกลุ่ม

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลรวมสำหรับผลประกอบการปี 2563 ที่ 0.1002 บาทต่อหุ้น โดยเป็นเงินปันผลระหว่างกาลที่ได้จ่ายให้ผู้ถือหุ้นไปแล้วจำนวน 0.0367 บาทต่อหุ้น และเงินปันผลที่จะจ่ายเพิ่มเติมอีก 0.0635 บาทต่อหุ้น สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 และกำหนดการจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ตามลำดับ

ธุรกิจโลจิสติกส์ มีการเติบโตสูงสอดคล้องกับการขยายตลาดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและความต้องการศูนย์กระจายสินค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ในปี 2563 บริษัท มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,157.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23.0% นอกจากนั้นช่วงปลายปี 2563 บริษัทฯ ยังประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุนครั้งที่ 5 ของกองทรัสต์ WHART คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,200 ล้านบาท ณ สิ้นปี บริษัทฯ มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารทั้งหมดเป็นจำนวน 2,493,980 ตารางเมตร

ปัจจุบันบริษัท มีแผนพัฒนาโครงการศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก 5 โครงการ คิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 400,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งนำนวัตกรรมสมัยใหม่ อาทิ เทคโนโลยี 5G และระบบอัตโนมัติเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาคลังสินค้าอัจฉริยะ รวมถึงการนำเสนอ Value-added Service ใหม่ๆ ร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการดำเนินงานของผู้เช่าในระยะยาว

ในปี 2564 บริษัท ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนพื้นที่จากการทำสัญญาใหม่และ/หรือการพัฒนาโครงการใหม่รวม 175,000 ตารางเมตร และสัญญาให้เช่าระยะสั้นที่สร้างผลตอบแทนสูงอีกกว่า 50,000 ตารางเมตร นอกจากนี้ยังเล็งเห็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจโลจิสติกส์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายการขายทรัพย์สิน และ/หรือ สิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์เพิ่มเติมในไตรมาส 4 ของปีนี้

นางสาวจรีพร กล่าวอีกว่า ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม บริษัทรับรู้รายได้รวม 1,883.9 ล้านบาท ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและการขายที่ดินใหม่ที่ถูกเลื่อนออกไปจากมาตรการจำกัดการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ มีรายได้ค่าสิทธิการผ่านทางเข้ามาหนุน จำนวน 396.9 ล้านบาท รวมถึงรายได้จากการจำหน่ายอาคารโรงงานและคลังสินค้าสำเร็จรูปให้แก่กองทรัสต์ HREIT มูลค่ารวมกว่า 1,300 ล้านบาท

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมในประเทศ บริษัทมีการพัฒนาและขยายนิคมใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 11 ในประเทศของบริษัทฯ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมระยอง 36 ตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC มีขนาดพื้นที่โครงการรวม 1,280 ไร่ พร้อมเปิดให้บริการแก่นักลงทุนที่สนใจเรียบร้อยแล้ว รวมถึงปัจจุบันบริษัทฯ มีแผนพัฒนาพื้นที่เพิ่มเติมภายในนิคมอุตสาหกรรมอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย (1) นิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (2) นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง และ (3) เขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี 2

ด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม เขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 เหงะอาน ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดีด้วยยอดขายในปี 2563 เกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ บริษัทฯ จึงเร่งสานต่องานก่อสร้างในพื้นที่เฟส 1B ส่วนที่เหลือจำนวน 2,100 ไร่ พร้อมขยายการก่อสร้างในเฟส 2 และเฟส 3 คิดเป็นพื้นที่เพิ่มเติมอีก 4,700 ไร่ นอกจากนี้ ปลายปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นประจำจังหวัดทัญฮว้า (Thanh Hoa) เพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรม 2 แห่ง ประกอบด้วย (1) โครงการ WHA Smart Technology Industrial Zone - Thanh Hoa และ (2) โครงการ WHA Northern Industrial Zone - Thanh Hoa พื้นที่รวมเกือบ 7,500 ไร่ นับเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศของบริษัท

สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายที่ดินในปี 2564 เท่ากับ 1,030 ไร่ โดยแบ่งเป็นยอดขายที่ดินในประเทศไทยจำนวน 725 ไร่ และเวียดนามจำนวน 305 ไร่

ธุรกิจสาธารณูปโภค บริษัทรับรู้รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภค ในปี 2563 เท่ากับ 2,043.2 ล้านบาท โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ปริมาณยอดขายน้ำในประเทศเวียดนามมีการเติบโตที่ดีขึ้น ส่วนประเทศไทยปริมาณการใช้น้ำของผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ มีการปรับตัวกลับสู่สภาวะปกติ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และกลุ่มผู้ประกอบการปิโตรเคมีซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทฯ ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 และภัยแล้งปี 2563 ผ่านพ้นไป

บริษัทมุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่มาพร้อมกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยโครงการ Reclamation Plant ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิต 9.125 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ภายในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคมปี 2563 รวมถึงโครงการ Demineralized Water Plant เฟส 2 ที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) เพื่อให้บริการแก่บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ภายใต้สัญญาซื้อขาย 1.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมระยะเวลา 15 ปี เริ่มเปิดดำเนินการผลิตแล้วในเดือนมกราคมที่ผ่านมาเช่นกัน

อย่างไรก็ตามในปี 2564 บริษัท ตั้งเป้าหมายจำหน่ายน้ำ ทั้งน้ำดิบ น้ำประปา น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม รวมไปถึงระบบจัดการน้ำเสีย จำนวน 153 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อนที่มีปริมาณการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำอยู่ที่ประมาณ 114 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนขยายการลงทุนทั้งในจังหวัด/ เขตพื้นที่อื่นๆ ของประเทศเวียดนาม รวมถึงประเทศที่มีศักยภาพในภูมิภาคนอกเหนือไปจากประเทศไทยและเวียดนามเพิ่มเติมอีกด้วย

ในส่วนของ ธุรกิจไฟฟ้า กลุ่มบริษัท รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร/ ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2563 เท่ากับ 940.4 ล้านบาท ทั้งนี้ส่วนแบ่งกำไรของธุรกิจไฟฟ้าในปี 2563 ที่ลดลงจากปีที่แล้วนั้นมีสาเหตุหลักมาจากส่วนแบ่งกำไรทางบัญชีของโรงไฟฟ้า Gheco-One ที่บริษัทฯ ร่วมลงทุนลดลงเนื่องจากหลายปัจจัย อาทิ อัตราค่าความพร้อมจ่ายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า Energy Margin ฯลฯ รวมถึงการเริ่มจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 10% ที่มีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้า Gheco-One ได้มีการปิดซ่อมบำรุงตามแผนในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาประสิทธิภาพการผลิตดังกล่าวแล้ว ในขณะที่โรงไฟฟ้าในกลุ่ม SPP ยังมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง รวมถึงบริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรจากปริมาณยอดขายไฟฟ้าที่ปรับตัวดีขึ้นจากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ ตลอดจนการทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการ Solar Energy เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัท จะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาเต็มปีจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวในปีนี้

ในปี 2564 บริษัทตั้งเป้าหมายจำนวนเมกะวัตต์ตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ เป็น 670 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% จากปี 2563 โดยบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาเพื่อลงทุนผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากโครงการพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทั้งแบบติดตั้งบนหลังคา แบบลอยน้ำ และบนพื้นดินในปีนี้เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 50 เมกะวัตต์ รวมเป็นสัญญาการผลิต 100 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี รวมถึงการมุ่งเน้นพัฒนาโครงการนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ P2P Energy โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain และการขยายธุรกิจพลังงานสะอาดโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ในอีก 3 ปีข้างหน้า เป็น 300 เมกะวัตต์ ไปพร้อมๆ กับการศึกษาโอกาสการลงทุนเข้าซื้อกิจการในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ (Solar Farm) และพลังงานลม (Wind Farm) ในประเทศเวียดนาม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ก็ได้มีการขยายธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจการจัดจำหน่ายน้ำและการให้บริการบำบัดน้ำเสียที่ประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยการลงทุนดังกล่าวทำให้บริษัทฯ มีฐานลูกค้า และพันธมิตรทางธุรกิจที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายการลงทุนของกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ในต่างประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม บริษัทมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการให้บริการ และนำเสนอนวัตกรรมทางด้านดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างครบวงจร โดยในปี 2564 บริษัทฯ มีแผนในการขยายการให้บริการเชื่อมต่อสื่อสารแบบโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx) ในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทฯ เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G พร้อมยกระดับการให้บริการทางด้านศูนย์บริการระบบข้อมูลสารสนเทศ (Data Center) ให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีแผนการลงทุนใน 5G Tower และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลของบริษัทฯ และช่วยให้กลุ่มธุรกิจของบริษัทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

สุดท้ายนี้ โครงการ ดับบลิวเอชเอ ทาวเวอร์ (WHA Tower) อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบริษัทฯ ตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราด (เทพรัตน์) ก.ม. 7 โดยตัวอาคารเป็นอาคารสูง 25 ชั้น เกรดเอ พรีเมียม มีพื้นที่ใช้สอย 52,000 ตารางเมตร และพื้นที่ปล่อยเช่า 25,000 ตารางเมตร ตัวอาคารได้รับรางวัล “Commercial High Rise Architecture Thailand” มีการออกแบบอย่างทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พื้นที่สำนักงานสามารถตอบโจทย์การทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างสมดุลชีวิตและไลฟ์สไตล์การทำงานได้อย่างลงตัว ปัจจุบันพร้อมเปิดให้บริการเช่าพื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment