Krungthai ประเมิน “เราเที่ยวด้วยกัน” กระตุ้นท่องเที่ยวไทยได้ 3.6-6.2 หมื่นล้านบาท

คุณกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ และคุณจารุวรรณ เหล่าสัมฤทธิ์ Krungthai COMPASS ร่วมวิเคราะห์รายได้จากการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2562 มีสัดส่วนถึง 16% ของ GDP โดยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 10% ของ GDP ซึ่งคิดเป็น 61% จากรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่ในปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถมาเที่ยวไทยได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวถึง 80% หรือมีจำนวน 8.1 ล้านคน ซึ่งลดลงจากปี 2562 ที่มีจำนวน 39.8 ล้านคน

ภาครัฐมักกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อชดเชยการหดตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างเช่น ในปี 2559 ที่ไทยมีมาตรปราบทัวร์ศูนย์เหรียญจากจีน หรือเมื่อปี 2561 ที่เกิดเหตุเรือล่มที่ภูเก็ตทำให้นักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ในเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงการระบาดของโควิด-19 คือ เมื่อมีการระบาดของโรค SARs ในปี 2546 ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว 7.4% ภาครัฐได้มีการสนับสนุนการท่องเที่ยว ผ่านการใช้งบประมาณ 82 ล้านบาทเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และอนุญาตให้ข้าราชการกลุ่มเป้าหมายสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามแนวทางส่งเสริมโดยไม่ถือเป็นวันลา รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดต่อเนื่องระหว่างการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยเที่ยวในประเทศในปีดังกล่าวสามารถเติบโตได้ที่ 12% ส่งผลให้รายได้ท่องเที่ยวโดยรวมในปีดังกล่าว ยังเติบโตที่ 7%

ในปี 2563 ก็เช่นกัน เมื่อนักท่องเทียวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาไทยได้ ภาครัฐจึงสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ ด้วยงบฯ กว่า 22,400 ล้านบาท ซึ่งโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เป็นโครงการที่มีมูลค่าเป็นสัดส่วนกว่า 89% ของแพ็คเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งหมด โดยในบทความนี้ได้ทำการวิเคราะห์ว่ามาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวในครั้งนี้ จะสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้เพียงใด

สรุปโครงการกระตุ้นคนไทยเที่ยวในประเทศ

ในภาวะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเช่นนี้ ทางการไทยมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2563 ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจำนวน 2 โครงการ คือ โครงการ “กำลังใจ” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” ดังรายละเอียดในรูปที่ 2

“เราเที่ยวด้วยกัน” สามารถกระตุ้นรายได้ท่องเที่ยวไทยได้ 3.6-6.2 หมื่นล้านบาท

Krungthai COMPASS ได้ประเมินเม็ดเงินท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายใต้โครงการ“เราเที่ยวด้วยกัน” โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 - Base Case คนใช้จ่ายค่าที่พักตามปกติ : Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากไม่รวมค่าใช้จ่ายของการเดินทางด้วยเครื่องบิน ผลของมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปยังธุรกิจบริการท่องเที่ยวมูลค่าประมาณ 3.55 หมื่นล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้านที่พักที่มูลค่า 1.13 หมื่นล้านบาท (รูปที่ 3.1)

กรณีที่ 2 –Best Case คนจ่ายค่าที่พักแพงสุดเท่าที่จะได้รับส่วนลดจากมาตรการ (ต้องจ่ายค่าห้องพัก 7,500 ต่อคืน จึงจะได้ส่วนลดเต็มอัตราที่ 3,000 บาทต่อคืน) : ในกรณีนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากไม่รวมค่าใช้จ่ายของการเดินทางด้วยเครื่องบิน ผลของมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปยังธุรกิจบริการท่องเที่ยวมูลค่าประมาณ 6.17 หมื่นล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้านที่พักที่มูลค่า 3.75 หมื่นล้านบาท (รูปที่ 3.2)

แม้ภาพรวมจะกระตุ้นการท่องเที่ยวไม่ได้มาก แต่ก็ทำให้การท่องเที่ยวบางจังหวัดฟื้นตัวได้

ภาพรวมจะชดเชยรายได้ นทท. ต่างชาติที่หายไปได้เพียง 3.7-6.4% แม้เราประเมินว่ามาตรการอุดหนุนการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 3.6-6.2 หมื่นล้านบาท แต่หากเทียบกับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะหายไปกว่า 9.5 แสนล้านบาทในช่วงครึ่งปีหลัง ก็จะเห็นได้ว่ามาตรการของรัฐสามารถชดเชยรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้เพียง 3.7-6.4% เท่านั้น

แม้เป็นจังหวัดที่คนไทยจะนิยมไป แต่หากมีรายได้จาก นทท.ต่างชาติเป็นหลัก “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็สามารถทดแทนรายได้ที่หายไปได้เพียงเล็กน้อย จากผลสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยปี 2562 (ในรูปที่ 4) แสดงถึงจังหวัดท่องเที่ยวที่คนไทยไปพักแรม 10 อันดับแรก ซึ่งน่าจะเป็นจังหวัดที่คนไปเที่ยวโดยใช้สิทธิจาก “เราเที่ยวด้วยกัน” เช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนไทยจะไปเที่ยวจังหวัดดังกล่าวเพิ่มขึ้น แต่หากรายได้หลักของการท่องเที่ยวจังหวัดนั้น คือ ชาวต่างชาติ (ดูสัดส่วนรายได้ท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติได้ในรูปที่ 6) เช่น ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ เป็นต้น รายได้จากคนไทยก็ทดแทนรายได้จากต่างชาติที่หายไปได้ไม่มากนัก

ตัวอย่างจังหวัดในกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ (กลุ่มจังหวัดที่ 1 ในรูปที่ 5) ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในสัดส่วนที่สูงถึง 40-89% แม้คนไทยที่ได้รับสิทธิจาก “เราเที่ยวด้วยกัน” จะไปเที่ยวจังหวัดเหล่านี้ตามผลสำรวจ แต่ก็ชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้เพียง 0.5-9% เท่านั้น (รูปที่ 7) ส่วนกลุ่มจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยไม่ได้นิยมไปอย่างเช่น กระบี่ พังงา “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็ไม่น่าจะชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปจำนวนมากได้เช่นกัน

แต่ “เราเที่ยวด้วยกัน” สามารถชดเชยรายได้จากต่างชาติที่หายไปได้ ในจังหวัดท่องเที่ยวที่คนไทยนิยมไป เช่น กาญจนบุรี นครราชสีมา เพชรบุรี เป็นต้น โดยจังหวัดดังกล่าวเป็นจังหวัดที่คนไทยนิยมไปท่องเที่ยว และมีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 3-15% เท่านั้น (ดูรูปที่ 6) Krungthai COMPASS ประเมินว่าผู้ที่ไปเที่ยวจังหวัดดังกล่าวจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะสามารถชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้กว่า 30% หรือทดแทนได้ทั้งหมด อย่างในกรณีของจังหวัดนครราชสีมาและเพชรบุรี ในขณะที่จังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 14-33% ได้แก่ อยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง นักท่องเที่ยวจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน น่าจะชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้ที่ราว 11.5-64.0% (ดูรูปที่ 8)



สรุป: แม้ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะไม่สามารถชดเชยรายได้ท่องเที่ยวจากต่างชาติที่หายไปได้ แต่ก็ทำให้ภาคท่องเที่ยวมีรายรับเพิ่มขึ้นบ้าง และทำให้บางจังหวัดกลับมาคึกคักเหมือนเดิมได้ ซึ่งรายรับที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีมาตรการ อาจพอทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวสามารถอยู่รอดได้นานขึ้น จนถึงเวลาที่ต่างชาติสามารถกลับมาเที่ยวไทยได้ ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องติดตามต่อไปว่าในช่วงที่มีมาตรการ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวจังหวัดไหนจะกลับมาเร็วเป็นพิเศษ ซึ่งการใช้ High-Frequency Indicators ต่างๆ เช่น Mobility Trends Report จาก Apple ก็สามารถช่วยให้เราติดตามสถานการณ์ได้ทันเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment