{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย เดินทางไปพบปะหารือร่วมกับชาวไร่ยาสูบ ผู้บ่มอิสระ สมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบไทย และภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย รวมจำนวน 45 ราย ณ ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการ ยสท. กล่าวว่า การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ประสบกับวิกฤตใหญ่ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งมีหลายปัจจัยของการเกิดวิกฤต ได้แก่ ภาษีนำเข้าวัตถุดิบ โครงสร้างทางภาษี การแข่งขันทางการค้า การปรับตัวของ ยสท. รวมถึงกฎหมายการจัดเก็บภาษีต่าง ๆ ที่ส่งผลให้บุหรี่ของ ยสท. มีราคาสูงขึ้นจนใกล้เคียงกับบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศ จากปัจจัยเหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยาสูบไทย ซึ่งไม่ใช่แค่ ยสท. ที่ต้องเผชิญปัญหาความยากลำบากในการดำเนินงาน แต่ยังรวมถึงชาวไร่ยาสูบ ผู้บ่มอิสระ ร้านขายยาสูบทั่วประเทศ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่อุปทาน รวมแล้วมากกว่า 600,000 ราย
ยสท. ไม่เคยนิ่งเฉยกับปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวไร่ยาสูบและภาพรวมของอุตสาหกรรมยาสูบ ซึ่งที่ผ่านมา ยสท. ได้ผลักดันให้มีการใช้งบประมาณกลางของรัฐบาลและของ ยสท. ในการสนับสนุนค่าปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเยียวยาชาวไร่ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายในการรุกตลาดต่างประเทศ ส่งใบยามัดกำออกไปจำหน่ายทั้งใบยาเบอร์เลย์และใบยาเตอร์กิซ ซึ่งใบยาสองชนิดนี้มียอดจำหน่ายที่ดีและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ส่วนใบยาเวอร์ยิเนียนั้นมีราคารับซื้อจากชาวไร่สูงกว่าราคาตลาดโลก จึงมีสต๊อกคงเหลืออยู่ประมาณสองล้านกว่ากิโลกรัม ซึ่ง ยสท. ยินดีรับภาระในส่วนนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงอยากขายออกเพื่อเป็นการระบายสต๊อก แต่ติดปัญหาเรื่องของราคา ส่วนอีกหนึ่งเรื่องที่กำลังผลักดันอยู่คือการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวไร่ เพื่อเยียวยาหรือแก้ปัญหาในเวลานั้นๆ ยสท. มีแนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมา ยสท. ได้มอบเงินสนับสนุนให้กองทุนต่างๆ มากมายปีละหลายล้านบาท แต่ ยสท. กลับไม่มีกองทุนที่ช่วยเหลือชาวไร่ ทั้ง ๆ ที่ชาวไร่เหล่านี้คือต้นน้ำของอุตสาหกรรมยาสูบ เป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญในการผลิตบุหรี่ให้กับ ยสท. ดังนั้น รายได้จากการจำหน่ายบุหรี่จึงควรแบ่งให้กับชาวไร่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ ยสท. โดยตรง เราเป็นหน่วยงานที่ปิดทองหลังพระมาโดยตลอด ด้วยข้อจำกัดของ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จึงทำให้ ยสท. ไม่สามารถบอกสังคมได้ว่าเราทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง แม้ว่าเราจะผลิตบุหรี่ซึ่งเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่เราไม่เคยสนับสนุนให้มีการบริโภคบุหรี่เพิ่ม เพียงแต่ยังคงต้องประกอบธุรกิจนี้ไว้ เพื่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ แน่นอนว่าในอนาคตจำนวนผู้สูบบุหรี่จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ ณ เวลานี้ สิ่งที่ควรทำคือการพูดคุยถึงแผนและเป้าหมายระยะยาวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้แก่ มิติด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข มิติด้านเศรษฐกิจของกรมสรรพสามิต มิติด้านสังคมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ ยสท. เช่น การวางแผนว่านับจากนี้ไปอีก 10 ปี จะตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้บริโภคบุหรี่ลงคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น เพื่อจะได้กำหนดเป็นแผนแม่บทในระยะยาวร่วมกันทั้ง 3 มิติ และทำงานควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง
โดย ยสท. กล่าวในตอนท้ายโดยให้คำมั่นสัญญากับชาวไร่ว่า จะขึ้นราคารับซื้อใบยาสูบอย่างแน่นอน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ โดยการขึ้นราคานี้อยู่บนพื้นฐานของการที่ ยสท. มีกำไร และชาวไร่ก็มีรายได้เพิ่ม ส่วนจะขึ้นราคาเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา และคาดว่าจะขึ้นราคาได้ในปีหน้า ส่วนเรื่องใบยาสูบเวอร์ยิเนีย ยสท. ก็พยายามแก้ปัญหาอยู่ เนื่องจากราคาของใบยาเวอร์ยิเนียนั้นสูงกว่าราคาตลาดโลก ทางฝ่ายตลาดก็พยายามหาตลาดในการจำหน่าย ซึ่งตอนนี้สามารถส่งออกไปขายได้ประมาณห้าแสนกิโลกรัม ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี หากสต็อกเริ่มลดลงเรื่อย ๆ ยสท. ก็จะรับซื้อใบยาเวอร์ยิเนียจากชาวไร่ในปริมาณเท่าเดิมได้ ซึ่ง ยสท. เข้าใจในความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ และอยากให้ชาวไร่เข้าใจในสิ่งที่ ยสท. เร่งดำเนินการอยู่เช่นกัน เพราะเราเป็นครอบครัวเดียวกัน ก็ย่อมต้องมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันและจับมือกันก้าวผ่านวิกฤตต่าง ๆ ไปด้วยกัน
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS