การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2022 ยังคงขยายตัว

ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2022 ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยมีแรงหนุนจาก

1) ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า

2) สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อกว่าที่คาด ทำให้มีความต้องการสินค้ากลุ่มอาหารเร่งตัวขึ้น ทั้งเพื่อชดเชยการขาดแคลน และกักตุนไว้เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

โดยมูลค่าส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไตรมาส 2 ปี 2022 ขยายตัว 20.4%YoY แบ่งเป็นหมวดสินค้าเกษตรที่ขยายตัวเร่งขึ้นชัดเจนที่ 15.4%YoY การส่งออกขยายตัวดีในทุกตลาดสำคัญ โดยจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดคิดเป็น 27% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดกลับมาเร่งตัวที่ 20%YoY ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ มันสำปะหลัง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง และข้าว ขณะที่ตลาดแอฟริกาขยายตัวถึง 31%YoY จากกำลังซื้อที่ฟื้นตัวตามราคาน้ำมันตลาดโลก โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าวนึ่ง ขยายตัวถึง 38.8%YoY

ด้านหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 28.0% โดยสินค้าส่งออกในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงยังขยายตัวดี และโดยเฉพาะน้ำตาลทรายที่ได้รับผลดีจากราคาส่งออกและปริมาณอ้อยที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปยังคงขยายตัว โดยเฉพาะทูน่ากระป๋อง ที่ได้รับผลดีจากความกังวลจากข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงฐานที่ต่ำในปีก่อน

สถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มสินค้าสำคัญ

การส่งออกข้าวไตรมาส 2 ขยายตัวต่อเนื่อง จากเงินบาทอ่อนค่า

มูลค่าการส่งออกข้าวไตรมาสที่ 2 ปี 2022 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ที่ 46.6%YoY โดยมูลค่าการส่งออกข้าวขาวยังคงขยายตัวถึง 34.9%YoY จากปัจจัยด้านปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวถึง 62.6%YoY เพราะค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ราคาส่งออกข้าวขาวอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียได้มากขึ้น อีกทั้งมีการเร่งนำเข้าเพื่อกักตุน จากความกังวลของคู่ค้าหลังสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนมีแนวโน้มยืดเยื้อมากกว่าที่คาด นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย ทำให้สามารถขยายตลาดสู่ตลาดตะวันออกกลางได้มากขึ้น เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิที่ยังขยายตัว 67.3%YoY จากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวถึง 87.0%YoY จากผลของค่าเงินบาทที่อ่อนค่า อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกข้าวยังคงเผชิญปัญหาต้นทุนค่าระวางที่อยู่ในระดับสูงและปัญหาขาดแคลนแรงงานในการขนส่งสินค้า ทำให้ต้นทุนการขนส่งยังอยู่ในระดับสูง

มูลค่าส่งออกยางพาราไตรมาส 2 ขยายตัวชะลอลง

มูลค่าส่งออกยางพาราไตรมาสที่ 2 ปี 2022 ขยายตัว 3.0%YoY ชะลอลงจากไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัว 6.2%YoY โดยมูลค่าส่งออกยางแผ่น และยางแท่งหดตัว 0.6%YoY ตามปริมาณส่งออกที่ลดลง 1.0% จากการที่จีนใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อดำเนินนโยบาย Zero COVID ทำให้โรงงานผลิตยานยนต์บางส่วนต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ขณะเดียวกันราคาส่งออกยางแผ่นและยางแท่ง ยังปรับตัวลดลงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เนื่องจากมีความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่กระนั้นยังถือว่าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนมูลค่าส่งออกน้ำยางข้นเพิ่มขึ้น 12.2%YoY โดยมาจากปัจจัยด้านปริมาณที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 13.4%YoY ตามตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลัก (รองจากมาเลเซีย) มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 63.5%YoY เนื่องจากความต้องการใช้น้ำยางข้นเพื่อเป็นวัตถุดิบการผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น จากมาตรการที่เข้มงวดในการจัดการการแพร่ระบาด COVID-19 ของจีน ส่วนตลาดมาเลเซียซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 1 ของไทยและเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางรายใหญ่ของโลก มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง 1.0% และ 3.0%YoY ตามลำดับ จากความต้องการใช้น้ำยางข้นเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางเพื่อส่งออกที่ลดลง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมมูลค่าส่งออกน้ำยางข้นในช่วงครึ่งปีแรกยังหดตัว 3.6%YoY

มูลค่าส่งออกมันสำปะหลังไตรมาส 2 ขยายตัวดีต่อเนื่อง

มูลค่าส่งออกมันสำปะหลังไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 ขยายตัว 43.2%YoY โดยเฉพาะมูลค่าส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ด ขยายตัวถึง 88.7%YoY เนื่องจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อกว่าที่คาดทำให้จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยเร่งสะสมสต็อกสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร อีกทั้งส่วนต่างราคาข้าวโพดจีนเทียบกับราคาส่งออกมันเส้นในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2022 อยู่ที่ 180-190 USD/ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ผู้ผลิตจีนจึงยังมีความต้องการนำเข้ามันเส้นจากไทยมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ไทยส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดได้สูงถึง 0.9-1.0 ล้านตัน/เดือน สูงกว่าในช่วงปี 2021 ที่ส่งออกได้เฉลี่ยประมาณ 0.4-0.5 แสนตัน/เดือน

คาดว่าในปี 2022-2023 สต็อกข้าวโพดจีนจะอยู่ที่ 210 ล้านตัน และ 204 ล้านตัน ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าหรือใกล้เคียงค่าเฉลี่ยสต็อกข้าวโพดจีน 6 ปีย้อนหลังซึ่งอยู่ที่ 207 ล้านตัน ทำให้ในปี 2022-2023 ค่าเฉลี่ยส่วนต่างราคาข้าวโพดในจีนเทียบกับราคาส่งออกมันเส้นจะยังอยู่ที่ 170-190 USD/ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงใกล้เคียงกับปี 2021 และสูงกว่าในปี 2017-2020 ซึ่งอยู่ที่ 50-100 USD/ตัน จึงน่าจะยังส่งผลดีต่อปริมาณส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดไทย

การส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ในไตรมาส 2 กลับมาขยายตัวจากความต้องการของจีนที่เพิ่มขึ้น

การส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งในไตรมาส 2 ของปี 2022 กลับมาขยายตัว 18.3%YoY จากความต้องการของตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักที่เพิ่มขึ้นชัดเจน ขยายตัวถึง 27.6%YoY โดยเฉพาะสินค้าทุเรียนที่เติบโตกว่า 22.4%YoY ส่วนหนึ่งมาจากด่านส่งออกทางบกไปจีน 3 ด่าน จากทั้งหมด 4 ด่าน ที่ปิดทำการไปในช่วงไตรมาส 1 ได้เปิดทำการเป็นปกติแล้ว ประกอบกับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากชาวจีนยังนิยมผลไม้เมืองร้อนจากไทย และมีความต้องการบริโภคชดเชยที่ยังเดินทางท่องเที่ยวไม่ได้ อีกทั้งไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีนด้วย อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าการส่งออกไปจีนยังมีปัจจัยท้าทายจากคู่แข่งที่มากขึ้น เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ กอปรกับยังต้องติดตามการเพิ่มความเข้มงวดด้านมาตรฐานการส่งออกผลไม้ที่ต้องมีการขึ้นทะเบียนสวนและโรงงานผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน GAP และ GMP รวมทั้งมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของศุลกากรจีนและสำนักงานตรวจสอบกักกันโรค (CIQ) ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินการ และความสะดวกในการส่งออก

ทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญในปี 2022-2023

Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2022-2023 ทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรจะยังขยายตัวได้แต่ในอัตราที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งเพราะฐานสูงจากช่วงครึ่งแรกของปี 2022 ที่มีอัตราเติบโตสูงขึ้นมาก และปัจจัยท้าทายที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด อาทิ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย และต้นทุนดำเนินงานที่สูงขึ้น

ข้าว

· ในปี 2022-2023 ตลาดส่งออกฟื้นตัว โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวจะอยู่ที่ 7.2 และ 7.6 ล้านตัน ตามลำดับหรือเพิ่มขึ้น 18.0%YoY และ 5.6%YoY ตามลำดับ(ปรับดีขึ้นกว่าการประเมินครั้งก่อนที่อยู่ที่ 7.0 และ 7.2 ล้านตัน จากอานิสงค์ของค่าเงินบาทที่อ่อนค่ากว่าที่คาด และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ) แต่ยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิด และนับว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต หากเทียบกับในช่วงปี 2557-2561 ที่เคยส่งออกได้เฉลี่ยปีละ 9-10 ล้านตัน เนื่องจากยังคงต้องแข่งขันรุนแรงกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดีย อีกทั้งคาดว่าผลผลิตข้าวของประเทศผู้ส่งออกสำคัญอย่าง ไทย เวียดนาม และอินเดีย มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ยิ่งทำให้การแข่งขันส่งออกข้าวในตลาดโลกรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ สายพันธุ์ข้าวไทยเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากข้าวพันธุ์พื้นนุ่มของเวียดนามมีราคาถูกและรสชาติดี จึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ทำให้ผู้ซื้อสามารถต่อรองและกดราคาข้าวไทยลงได้อีก ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อ Margin ของผู้ส่งออก

ยางพารา

· ในปี 2022 มูลค่าส่งออกยางแผ่น และยางแท่ง จะขยายตัวเป็น 1.38 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 11.5% โดยเป็นผลจากทั้งปัจจัยด้านราคาส่งออกที่เพิ่มขึ้น 9.4% ตามราคาน้ำมันตลาดโลก และปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.23 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 2.0% YoY ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ส่วนในปี 2023 คาดว่ามูลค่าการส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวหรือเท่ากับ 1.42 แสนล้านบาท โดยเป็นผลจากปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.41 ล้านตัน หรือขยายตัว 9.0% YoY เพราะความต้องการใช้ยางแผ่นและยางแท่ง เพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนและโลกที่ยังคงขยายตัว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาการขาดแคลนชิปจะทำให้ในปี 2023 การผลิตยานยนต์ของจีนอาจชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการส่งออกยางแผ่น ยางแท่งของไทย แต่คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะคลี่คลายในปี 2023

· ในปี 2022 คาดว่ามูลค่าส่งออกน้ำยางข้นจะอยู่ที่ 4.65 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 5.0%YoY แม้ว่าราคาส่งออกน้ำยางข้นปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่ปริมาณการส่งออกน้ำยางข้นจะมีแนวโน้มลดลง จากอุปทานถุงมือยางในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ในปี 2023 คาดว่ามูลค่าส่งออกน้ำยางข้นจะอยู่ที่ 4.74 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.0%YoY เพราะความต้องการใช้น้ำยางข้นในการผลิตถุงมือยางที่จะกลับมาขยายตัวได้ เนื่องจากปัญหาอุปทานส่วนเกินถุงมือยางโลกที่บรรเทาลง อีกทั้งความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางทางการแพทย์และเภสัชกรรม ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์ทั่วโลก

ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง

· ในปี 2022 คาดว่ามูลค่าส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งจะอยู่ที่ 220,135 ล้านบาท หรือขยายตัว 15.7%YoY หลังจากที่ด่านส่งออกทางบกไปจีน 3 ด่าน จากทั้งหมด 4 ด่าน ที่ปิดทำการไปในช่วงไตรมาส 1 ได้เปิดทำการเป็นปกติแล้ว สะท้อนจากมูลค่าส่งออกในไตรมาส 2 ที่กลับมาขยายตัวสูง ส่วนในปี 2023 มูลค่าส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งจะอยู่ที่ 258,000 ล้านบาท หรือขยายตัว 17.2%YoY โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยคิดเป็น 53% ยังขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับชาวจีนนิยมผักและผลไม้เมืองร้อนจากไทย อีกทั้งไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีน ทำให้ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าประกอบกับคาดว่าในระยะข้างหน้าการส่งออกผักและผลไม้ของไทยไปจีนจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว เนื่องจากเป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออก รวมทั้งสามารถลดต้นทุนการขนส่งและระยะเวลาการขนส่งเหลือเพียง 15 ชั่วโมง เร็วกว่าการขนส่งทางถนนที่ใช้เวลาถึง 2 วัน

· อย่างไรก็ดี การเพิ่มความเข้มงวดด้านมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของศุลกากรจีนและสำนักงานตรวจสอบกักกันโรค (CIQ) อาทิ การปฏิบัติตามมาตรการการตรวจสอบสินค้าและป้องกันเชื้อโควิด-19 สำหรับโรงงานผลิตผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยของทางการจีน ทำให้ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณภาพสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด ซึ่งจะมีความสำคัญมากขึ้น และอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อต้นทุนสินค้าส่งออกของไทย

มันสำปะหลัง

· ในปี 2022-2023 ปริมาณส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดของไทยจะอยู่ที่ 6.2 และ 6.6 ล้านตัน ตามลำดับ ขยายตัว 20%YoY และ 5%YoY (สูงกว่าการประเมินครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 5.5 และ 5.7 ล้านตัน ขยายตัว 5% ต่อปี) ขณะที่ปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลังจะอยู่ที่ 5.1 และ 5.3 ล้านตัน ตามลำดับ ขยายตัว 4% ต่อปี เนื่องจากสต็อกข้าวโพดจีน (สินค้าทดแทน) มีทิศทางลดลง ส่งผลให้ผู้ผลิตจีนมีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อกว่าที่คาด ทำให้จีนนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มมันเส้นและมันอัดเม็ด เพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์ข้าวโพดจากยูเครน โดยในปี 2021 จีนนำเข้าข้าวโพดจากจากยูเครนเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 30% ของปริมาณนำเข้าข้าวโพดทั้งหมดของจีน

· ในปี 2022-2023 ราคาเฉลี่ยมันเส้นในประเทศและราคาส่งออกจะอยู่ในเกณฑ์ดีที่ 7.4-9.2 บาท/กก. และ 250-310 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ตามลำดับ (เพิ่มขึ้นจากการประเมินครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 7.3-7.9 บาท/กก. และ 260-280 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ตามลำดับ) ขณะที่ราคาเฉลี่ยแป้งมันในประเทศและราคาส่งออกในปี 2022-2023 จะอยู่ในเกณฑ์ดีที่ 15.2-17.1 บาท/กก. และ 520-550 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากการประเมินครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 14.1-15.4 บาท/กก. และ 510-530 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ส่วนผลผลิตหัวมันสำปะหลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 32.1 ล้านตัน และ 32.5 ล้านตัน หลังราคาหัวมันสด ในปี 2564 จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก

Implication:

Krungthai COMPASS มองว่า แม้ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2022 จะขยายตัวได้ แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้

· การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลัก และจากมาตรการควบคุมที่เข้มงวดด้านสุขอนามัยของจีน อาทิ การเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการการตรวจสอบสินค้าและป้องกันเชื้อ COVID-19 ทำให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตผักและผลไม้สดแข่เย็นแช่แข็งจากไทยต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและคุณภาพสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด ซึ่งในช่วงแรกอาจทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น และหากปรับตัวได้ช้า ก็อาจเสียตลาดให้กับคู่แข่งอย่างมาเลเซีย และเวียดนาม โดยล่าสุดจีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนผลสดจากเวียดนามได้ ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2022 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของไทย เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย รวมถึงระยะเวลาการขนส่งที่สั้นกว่า

· ความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย จากแรงกดดันของเงินเฟ้อ และนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางหลายประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าเกษตรในกลุ่มที่เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม เช่น ยางพารา ซึ่งเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะที่สินค้าเกษตรในกลุ่มอาหาร อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นในการบริโภค ประกอบกับความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ทำให้มีการกักตุนเพื่อบริโภค โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มผลไม้กระป๋อง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น

· ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้า เช่น ถั่วเหลืองและข้าวโพด รวมทั้งวัตถุดิบแม่ปุ๋ยที่มีราคาลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการบางรายที่เร่งนำเข้าในช่วงต้นปีมีความเสี่ยงขาดทุนสต็อก ขณะที่ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าอาจทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้นกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มราคา Commodity ในตลาดโลก ดังนั้น ในระยะนี้ผู้ประกอบการในกลุ่มโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์และปศุสัตว์ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนวัตถุดิบและสต็อกสินค้ามากขึ้น

· ตลาดตะวันออกกลางได้รับผลดี จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันโลก แต่ผู้ส่งออกต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานของสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่มอาหาร ที่ควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานฮาลาล ซึ่งเปรียบเสมือนใบเบิกทางในการเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลาง เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบกับผู้ประกอบการจำเป็นต้องเข้าใจวัฒนธรรมการบริโภคอาหารที่แตกต่างกัน เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคในตะวันออกกลางมีความหลากหลายทั้งในด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิต รวมทั้งมีข้อห้ามและข้อปฏิบัติทางศาสนาที่เคร่งครัด นอกจากนี้ ผู้ส่งออกควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพของสินค้า เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังในอดีต เช่น เหตุการณ์ที่ประเทศอิรัก ได้แบนการสั่งซื้อข้าวจากประเทศไทย ถึง 7 ปี เนื่องจากข้าวไม่ได้คุณภาพ ตามคำสั่งซื้อ

· ต้นทุนวัตถุดิบสินค้าเกษตรในกลุ่ม ปุ๋ยเคมี บรรจุภัณฑ์ อาหารสัตว์ รวมทั้งราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง อีกทั้งนโยบายการเงินที่มีความเข้มงวดขึ้น จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะรายกลางและรายย่อย ที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนต่ำกว่ารายใหญ่ และเป็นกลุ่มที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากอยู่แล้ว

· ปัญหาค่าระวางเรือที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อต้นทุนการขนส่งของการส่งออกสินค้าเกษตรไทย โดยสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบมาก คือ ข้าวหอมมะลิ อาหารทะเล ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ยาง

กฤชนนท์ จินดาวงศ์

ปราโมทย์ วัฒนานุสาร

อังคณา สิทธิการ

Krungthai COMPASS


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment