{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
1 พ.ค. 65 เปิดประเทศเต็มรูปแบบ ยกเลิก Test and Go และปรับลดวงเงินประกัน รวมถึงการเปิดการเดินทางทางบก (จุดผ่านแดนถาวร) จะช่วยหนุนความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของตลาดต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ดี การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนสูง ภาคธุรกิจคงจะต้องมีแผนรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศ ที่มีการผ่อนคลายเงื่อนไขสำหรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศ สะท้อนได้จากผลการจัดอันดับ Asia’s travel readiness index ของ Economist Intelligence (EIU) พบว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ (วัดจากผลคะแนนเป็นอันดับที่ 4) ของประเทศที่มีมาตรการผ่อนการเดินทางท่องเที่ยว (Ease of Travel) ในภูมิภาคเอชีย (28 ประเทศและเขตปกครองพิเศษ) และการที่ทางการมีการผ่อนคลายเงื่อนไขในวันที่ 1 พ.ค. 65 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ น่าจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การผ่อนคลายเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ โดยกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบไม่ต้องตรวจ RT-PCR และการปรับลดวงเงินประกันภัยสำหรับชาวต่างชาติทุกกลุ่มเหลือ 10,000 เหรียญสหรัฐ จากเดิม 20,000 เหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ทางการยังได้เปิดจุดผ่านแดนถาวร 31 ด่าน ใน 17 จังหวัด เพื่อเปิดรับการเดินทางท่องเที่ยวทางบก ซึ่งจะมีผลตังแต่วันที่ 1 พ.ค. 65 นับเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้าขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว และช่วยให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปี 2565 นี้ กลับมามีบรรยากาศที่สดใสขึ้น ซึ่งการปรับเงื่อนไขครั้งนี้เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว และที่สำคัญยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากในหลายประเทศได้กลับมาทำตลาดกระตุ้นการท่องเที่ยวและผ่อนคลายเงื่อนไขการเดินเข้าประเทศของชาวต่างชาติ เช่น สิงคโปร์ ผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัตซีนสามารถเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว (Vaccinated Travel Lane - VTL) เป็นต้น
จากปัจจัยดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะค่อยๆ เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เนื่องจากจะเข้าสู่ฤดูกาลการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากหลายชาติ อาทิ ในช่วงไตรมาส 3 ของทุกปี (ประมาณเดือน ก.ค. และ ส.ค.) จะเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวภูมิภาคตะวันออกกลาง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และอาเซียน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อนและเป็นช่วงปิดภาคเรียน ขณะที่ไตรมาส 4 จะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป อเมริกา และโอเชียเนีย
สำหรับมุมมองต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมีมุมมองที่ระมัดระวัง เนื่องจากตลาดยังมีหลายปัจจัยท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจเดินทางยังต่างประเทศของนักท่องเที่ยวได้ อาทิ
การดำเนินนโยบายการเดินทางต่างประเทศของประเทศต้นทาง เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด เช่น นโยบายปลอดโควิด (Zero COVID Policy) ของจีน ซึ่งหากจีนยังไม่ปรับเปลี่ยนการใช้นโยบายดังกล่าว ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนน่าจะยังไม่สามารถเดินทางมาไทยได้อย่างปกติในปีนี้
เหตุการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียโดยหลายประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวรัสเซียเที่ยวไทย อย่างไรก็ตาม หากเหตุการณ์ไม่ได้รุนแรงขึ้นจากสถานการณ์ปัจจุบันจนกระทบการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ก็น่าจะเห็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวยุโรปเที่ยวไทยโดยรวมที่มากขึ้นจากปีก่อน
ปัญหาราคาพลังงาน และเงินเฟ้อทั่วโลก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้น
ด้วยปัจจัยดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยสำหรับทั้งปี 2565 อาจอยู่ที่ราว 4 ล้านคน (หรือคิดเป็นรายได้การท่องเที่ยวเป็นมูลค่าประมาณ 2.4 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ หากสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนไม่รุนแรง มองว่า นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปยังเป็นตลาดที่สำคัญของการท่องเที่ยวไทยในปีนี้ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยประมาณ 1.8 ล้านคน ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกน่าจะมีจำนวน 1.7 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจากทั้ง 2 ภูมิภาคคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 86% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งหมดในปีนี้
แต่กระนั้นก็ดี หากแรงหนุนการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยของชาวต่างชาติปรากฏสัญญาณที่บวกมากขึ้นอย่างชัดเจน ก็มีโอกาสที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปีนี้จะมากกว่าที่คาด ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะทบทวนประมาณการอีกครั้งในช่วงกลางปีนี้ต่อไป
แม้ทางการได้ผ่อนคลายเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ แต่ผู้ประกอบการยังมีโจทย์ทางธุรกิจหลังการเปิดประเทศที่ต้องคิด ซึ่งนอกจากปัจจัยด้านตลาดที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต้องเผชิญแล้ว เทรนด์การเดินทางท่องเที่ยวหลังโควิดมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน อาทิ
รูปแบบการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวแบบเดินทางเป็นกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่ยังไม่มากและส่วนใหญ่เป็นกลุ่มขนาดเล็ก
กลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เคยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย หรือกลุ่ม Revisit และส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Young Traveler ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงอายุ และกลุ่มครอบครัวยังมีไม่มาก เนื่องจากยังมีความกังวลในเรื่องของโควิด และเป็นกลุ่มที่มีงบประมาณจำกัดในการเดินทางท่องเที่ยว
วัตถุประสงค์การเดินทางท่องเที่ยวมีหลากหลาย ทั้งการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน (Leisure Travel) หรือการเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานในสถานที่ท่องเที่ยว (Workcations) ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะมีระยะเวลาการพำนักอาศัยในไทยยาวนานขึ้น
การเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ ความปลอดภัยจากโควิดและสร้างประสบการณ์ระหว่างการท่องเที่ยว สำหรับการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวนั้น นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัยจากการระบาดของโควิด มองหาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ไม่แออัดหรือหนาแน่นไปด้วยผู้คน แหล่งท่องเที่ยวชุมชน/วัฒนธรรม ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างการท่องเที่ยว (Local Experience)
ซึ่งเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีผลต่อการทำตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และแคมเปญกระตุ้นตลาดด้วยการจัดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับกลุ่มลูกค้าที่เคยใช้บริการ การปรับผลิตภัณฑ์และบริการท่องเที่ยวที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละกลุ่มเป้าหมายได้ลงตัวอย่างเช่นการผสมผสานวัฒนธรรมไทย การให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกิจกรรมท่องเที่ยวที่จัดขึ้น และการบริการท่องเที่ยวยังต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัยจากโควิดเนื่องจากสถานการณ์การระบาดยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้การบริหารจัดการที่พัก หรือบริการที่เหมาะสมควรมีระยะห่างและไม่แออัดเกินไป
นอกจากนี้ ผู้ที่มีส่วนร่วมในแหล่งท่องเที่ยวคงต้องร่วมมือกันในการดูแลสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ การดูแลปริมาณขยะในสถานที่ท่องเที่ยว การปรับผลิตภัณฑ์หันมาใช้วัสดุธรรมชาติหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น การปรับใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งนอกจากจะช่วยกระจายรายได้ในท้องถิ่นและลดรายจ่ายของภาคธุรกิจในระยะยาว ยังเป็นจุดขายในการทำตลาดที่สอดรับไปกับเทรนด์การท่องเที่ยวยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS