{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สจล.โดยศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 ได้เดินหน้าแผนเชิงรุกส่งนวัตกรรมทางการแพทย์สู้โควิด-19 ตั้งแต่การแพร่ระบาดรอบแรกจนกระทั่งรอบใหม่ ซึ่งได้ส่งมอบนวัตกรรมแล้วกว่า 800 ชิ้น ไปยังโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข 300 แห่ง ใน 66 จังหวัด อีกทั้งส่งออกไปยังต่างประเทศกว่า 30 ชิ้น ได้แก่ มัลดีฟส์ ลาว และพม่า เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนในด้วยสุขอนามัยและใช้ตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงแบบเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ ทั่วประเทศและต่างประเทศ โดยมีเกณฑ์ในการส่งมอบนวัตกรรม ได้แก่ เป็นโรงพยาบาลภายใต้การกำกับของรัฐ โรงพยาบาลที่แต่งตั้งเป็นศูนย์โควิด-19 ศูนย์คัดกรองโควิด-19 หรือมีผู้ป่วยที่เฝ้าระวังและสอบสวนโรค เป็นโรงพยาบาลที่อยู่ติดชายแดน และมีหนังสือขอความอนุเคราะห์มาจากหน่วยงานหรือกระทรวงสาธารณสุข
โดยนวัตกรรมต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยคณาอาจารย์ นักศึกษา และทีมวิจัยสจล. ซึ่งได้รับการทดสอบจากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ PTEC ตามมาตรฐาน IEC 60601-1 ด้านความปลอดภัย เพื่อนำไปใช้เสริมทีมบุคลากรทางการแพทย์ในการรองรับประชาชน ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ก้าวผ่านจุดวิกฤติมาได้ นั่นก็คือความสามารถและความรวดเร็วในการปรับตัวของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่าง ๆ ดังนั้น สจล. จึงมีความตั้งใจที่จะพัฒนานวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการโดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยนวัตกรรมที่ได้ผลิตและส่งมอบนำไปใช้แล้ว ได้แก่
เครื่องช่วยหายใจแบบฉุกเฉิน มีแนวคิดการออกแบบให้สามารถใช้งานง่ายและสามารถเคลื่อนย้ายในกรณีฉุกเฉิน ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก พกพาได้ง่าย มีแบตเตอรี่ในตัว เหมาะกับสถานการณ์ที่ต้องใช้เร่งด่วน ในการช่วยเหลือผู้ป่วย หรือกรณีเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ใช้งานได้ทั้งในสถานพยาบาล รถพยาบาล หรือหน่วยงานแพทย์เคลื่อนที่
กล่องอบฆ่าเชื้อโรคระบบปิด สามารถนำเครื่องมือทางการแพทย์ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ต้องการปลอดเชื้อ เข้าไปอบในกล่องด้วยระบบรังสีอัลตร้าไวโอเลต โดยเสียบใช้ไฟฟ้าบ้านได้ และตัวเครื่องออกแบบมาให้มีขนาดเล็ก พกพาสะดวก
เครื่องอบฆ่าเชื้อโรคระบบปิด ฆ่าเชื้อโรคด้วยระบบโอโซน ภายในพื้นที่ 50 ตารางเมตร สามารถตั้งเวลาทำงานได้ ใช้ฆ่าเชื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์หรืออุปกรณ์ที่ต้องการปลอดเชื้อ
ระบบคัดกรองบุคคลด้วย AI ใช้หลักการทำงานโดยระบบจะมีสัญญาณ สามารถต่อกับไซเรน หรือระบบติดต่อกับเจ้าหน้าที่ได้ โดยระบบจะทำการประมวลผลและแจ้งภายในเวลา 0.5 วินาที แต่หากตรวจจับได้ว่าอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส จะมีแถบสีแดงแสดงอุณหภูมิจริง เพื่อคัดแยกผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง
ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) ความดันบวก (Positive Pressure) ใช้หลักการทำงานโดยแพทย์ประจำอยู่ในตู้เพื่อทำการตรวจเชื้อจากผู้ที่อยู่ภายนอก ซึ่งจะทำให้แพทย์ตรวจเชื้อได้หลายครั้งโดยไม่ต้องเปลี่ยนชุด PPE อีกทั้งยังมีแรงดันบวกที่ทำให้สามารถผลักอากาศด้านนอก ป้องกันเชื้อไวรัสที่ลอยเข้าไปในตัวตู้กระจก เพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ขณะตรวจผู้ที่มีความเสี่ยง
ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) ความดันลบ (Negative Pressure) ใช้หลักการทำงานโดยผู้มีความเสี่ยงประจำอยู่ในตู้ ขณะที่แพทย์สอดมือเข้าไปทำหัตถการ Swab โดยภายในห้องใช้ระบบควบคุมความดันลบ พร้อมติดตั้งระบบกรองและฆ่าเชื้อด้วย UV-C และ HEPA ก่อนปล่อยอากาศสู่ภายนอก ป้องกันและควบคุมเชื้อไม่ให้ออกสู่ภายนอกเมื่อเปิดประตู
รถตู้ตรวจเชื้อ (Mobile Swab Test) ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดการอำนวยความสะดวกโรงพยาบาล หน่วยงาน หรือจุดคัดกรอง สามารถเคลื่อนที่ไปได้ทุกที่ เพื่อใช้ตรวจเก็บตัวอย่างหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีการใช้ระบบปรับความดันอากาศภายในให้เป็นบวก เพื่อป้องกันอากาศภายนอกที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคไม่ให้ผ่านเข้าไปในตัวรถ ทำให้แพทย์ที่ประจำอยู่ในรถสามารถทำการตรวจเชื้อจากภายในได้อย่างปลอดภัย และสามารถรองรับการตรวจผู้ป่วยได้จำนวนมาก ถึง 100 คนต่อวัน
ชุด PAPRs ถูกออกแบบในการคลุมเฉพาะศีรษะ มีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศ (Blower box) พร้อมกับแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์ตไฟบ้านได้ การออกแบบโดยประยุกต์การใช้งานของหมวก Safety ให้สวมใส่ง่าย สบาย และสามารถปรับให้พอดีกับศีรษะ ภายในหมวกมีความดันเป็นบวกคงที่ขณะสวมใส่ ลดการรั่วไหลของอากาศ Face Shield ใช้วัสดุการสะท้อนแสงทำให้มีวิสัยทัศน์ชัดเจน มีระบบการกรอง Filtration system สามารถใช้หัวกรองออกซิเจนและถอดประกอบได้ตามการใช้งานจริง และที่สำคัญสามาถใช้ได้หลายครั้ง เนื่องจากสามารถซักและนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นล่าสุด หุ่นยนต์ RAIBO-X ฆ่าเชื้อโรค ด้วยแสง UV ครั้งแรกของคนไทย โดยฝีมืออาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. โดยมีประสิทธิภาพที่จะสามารถฆ่าเชื้อโรค ด้วยแสง UV-C ในรัศมี 1 – 1.5 เมตร ซึ่งจะมีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสิ่งมีชีวิตหรือเชื้อโรคขนาดเล็ก อาทิ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ รวมถึงเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ซึ่งหุ่นยนต์ RAIBO-X มีการใช้งานด้วยระบบ AI ทำให้สามารถควบคุมระยะไกลผ่านรีโมทคอนโทรล เพื่อความปลอดภัยของผู้ควบคุม เนื่องจากแสง UV มีรังสีที่อันตรายจึงต้องควบคุมจากด้านนอกพื้นที่ แต่ยังมีความสะดวกในการใช้งานด้วยระบบแบบไร้สาย จะทำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างละเอียดและควบคุมได้ง่ายและปลอดภัย
สำหรับประชาชนที่สนใจร่วมบริจาคเพื่อสมทบทุนการผลิตเพื่อแจกจ่ายแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ สามารถบริจาคได้ที่ธนาคารกรุงไทย เลขที่บัญชี 693-031-750-0 สาขา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชื่อบัญชี สจล. นวัตกรรมสู้ COVID-19” หรือติดต่อขอรับนวัตกรรมได้ที่ สำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม (KRIS) หรือโทร. 084-068-7731
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS