หวังTop5เอเชีย ค้าระหว่างประเทศ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศปรับแผนการทำงานรองรับยุค “รวมไทยสร้างชาติ” เดินหน้ายุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ตั้งเป้าไทย Top 5 ของเอเชีย

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรม ได้ปรับแนวทางการทำงานของ DITP รองรับยุค "รวมไทยสร้างชาติ" เพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจการค้าโลกชะลอตัว และมีการเปลี่ยนบริบทการค้า พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้กรมฯ ต้องปรับแผนงาน และกลยุทธ์ในการส่งเสริมผลักดันการค้าระหว่างประเทศให้สามารถดำเนินไปได้ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ไทยเป็น Top 5 ของเอเชียในด้านการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งการไปสู่เป้าหมายดังกล่าว จะต้องเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้ได้อย่างน้อยปีละ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเดือนละ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับแนวทางการทำงาน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีแผนทั้งในระยะสั้น กลางและยาว ซึ่งครอบคลุมการช่วยเหลือผู้ประกอบการ การผลักดันการส่งออกเป็นรายตลาด สินค้าและบริการ โดยระยะสั้น จะเร่งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าไทยเป็นแคมเปญใหญ่ทั่วโลก เน้นเรื่องความเชื่อมั่น ความปลอดภัย รุกกิจกรรมไฮบริด เน้นช่องทางออนไลน์ทุกรูปแบบ ร่วมบูรณาการแผนงานเพิ่มยอดส่งออกรายภูมิภาค เจาะรายสินค้า รีบพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทั่วถึงทุกระดับ เริ่มการให้บริการ 5.0 (Personalization) ครบ สะดวก รวดเร็ว รู้ใจ คุ้มค่า คาดการณ์แม่นยำ ระยะกลางและยาว จะเสริม Thaitrade.com ให้เป็นด่านหน้าออนไลน์ของสินค้าไทยอย่างเต็มรูปแบบ สร้างระบบฐานข้อมูลทุกมิติ ใช้ง่าย เข้าถึงง่าย รองรับการปรับตัวสู่ Big Data สนับสนุน ระบบและทรัพยากรรองรับการขยายตัวของกิจกรรม Online Business Matching/ Virtual Trade Fair ส่งผู้ประกอบการเข้าสู่การค้าออนไลน์ แพลตฟอร์มออนไลน์ในต่างประเทศ คัดสรร Product Champion เพื่อต่อยอดนโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด และสานเครือข่ายผู้นำเข้า ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงนักลงทุน

ทั้งนี้ นอกจากการปรับรูปแบบการทำงานในส่วนกลางแล้ว ยังได้ปรับบทบาทของผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ที่มีอยู่ 58 แห่งทั่วโลก ให้ทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนของประเทศ โดยทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ทั้งการเร่งหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ การหาพันธมิตรทางการค้า การพัฒนาข้อมูลการค้าให้มีประสิทธิภาพและทันการณ์ และการหาช่องทางในการขยายตลาดเชิงลึก โดยการเจาะเป็นรายตลาดและรายสินค้า เพื่อเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าไทย

ด้านนางสาวประจงพร ตันมณี ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร กล่าวว่า ไทยจะต้องเร่งใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นประเทศไทยให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยเร่งที่จะผลักดันและส่งเสริมภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นนี้ไปยังกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศให้เชื่อมั่นสินค้าไทย และเชื่อมั่นประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เร่งส่งเสริมแคมเปญ เชื่อมั่นประเทศไทย หรือ Trust Thailand โดยมีกระบวนการต่างๆดังนี้ T : Target เจาะกลุ่มเป้าหมายให้สอดคล้องกับยุควิถีใหม่ R : Responsiveness วิเคราะห์ ประเมินผล ประมวลสถานการณ์ปัจจุบัน และนำมาประยุกต์ใช้ U : Unity ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยกรมจะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์และต่างกระทรวง เพื่อให้เผยแพร่ภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นออกไปในทิศทางเดียวกัน S : Staff การพัฒนาทีมงานส่วนกลาง และสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศทั่วโลก 58 แห่ง และส่วนสำคัญคือพัฒนาผู้ประกอบการให้สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าของตนเอง และ T : Technology การนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ ในการเผยแพร่ภาพลักษณ์ความเชื่อมั่น ให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายทุกระดับ

นางสาวณัฐิยา สุจินดา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมได้ปรับรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าจากปกติเป็น Virtual Trade Show เพื่อทดแทนการจัดงานแสดงสินค้าที่ไม่สามารถจัดได้หรือจัดได้ไม่เต็มที่ โดยได้จัดไปแล้ว ได้แก่ งาน งาน M.O.V.E. งานแสดงสินค้าเพื่อการเจรจาการค้า digital content ออนไลน์ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และกำลังจะจัดงาน Thaifex-Anuga Asia 2020: The Hybrid Edition วันที่ 22-26 ก.ย.2563 โดยผู้ซื้อสามารถเข้าไปเดินดูคูหา 3D ได้เสมือนจริง และสามารถคลิกเข้าไปชม VDO แคตตาล็อกสินค้า รวมทั้งภาพสินค้าที่หมุนได้ 360 องศา สามารถติดต่อกับผู้ส่งออกไทยได้โดยตรงด้วยใช้ การ chat , teleconference เพื่อโชว์สินค้าผ่านจอ หรือฝากข้อความให้ติดต่อกลับ และยังมีการจัดนัดหมาย Online Business Matching และโปรแกรมเจรจาการค้าอื่นๆ ด้วย

ด้านนายประคัลร์ กอดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 1 กล่าวว่า ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางระหว่างประเทศยังไม่สามารถทำได้ กรมฯ จึงได้จัดกิจกรรมในรูปแบบ Mirror Mirror โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และการจัดคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาการค้าในต่างประเทศ สู่รูปแบบใหม่โดยผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทาง แต่จะส่งสินค้าตัวอย่างไปล่วงหน้า และจัดการเจรจาการค้าออนไลน์ ทำให้การเจรจาการค้ายังทำได้ ไม่มีการสะดุด โดยกำลังจะจัดกับจีนวันที่ 5-10 พ.ย.2563 ในงาน China International Import Expo ซึ่งกรมฯ จะเข้าร่วมในสามส่วน ได้แก่ 1) Country Pavillion 2) อาหารจำนวน 40 บูธ 3) Consumer Product 40 บูธ โดยส่งสินค้าตัวอย่างล่วงหน้าเพื่อนำเสนอในงาน และจัดการเจรจาการค้าให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศไทย

ในส่วนของการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA) กล่าวว่า กรมฯ ได้จัดทำ NEA Care ที่มีเป้าหมายในการสร้างความเข้าใจ และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคหลังโควิด-19 ด้วยแนวทาง “NEA Care รักแท้ แชร์ความรู้” ที่ประกอบไปด้วย 5 กลยุทธ์หลัก พร้อมด้วย Flagship Projects ที่สำคัญ ดังนี้ 1. เข้าถึง ใส่ใจ ทุกภูมิภาค ด้วยโครงการ Gen-Z to be CEO ที่มีแนวทางในการให้ความรู้แก่นักศึกษาเพื่อหนทางสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะให้ความรู้แก่นักศึกษาทั้งหมด 12,000 รายทั่วประเทศในปี 2564 2. สร้างโอกาสในทุกระดับ ด้วยโครงการ NEA Reborn ที่จะสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่สายอาชีพ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การค้าในยุค New Normal โดยเฉพาะพนักงานในสายการบินไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นองค์กรที่จะมีความร่วมมือกับ NEA ในอนาคต

3. สร้างคุณภาพที่แตกต่าง ประกอบด้วย 1) โครงการ Smart Content ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านหลักสูตรการสร้างดิจิทัล แคตตาล็อก การทำกราฟิก วิดิโอคลิป และการไลฟ์นำเสนอสินค้า 2) โครงการ Train the Creators ที่มุ่งมั่นยกระดับให้เป็นการสร้างนักปั้นผู้รอบรู้ทางการค้า และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อไปได้ โดยจะร่วมมือกับพาณิชย์จังหวัดทั้ง 77 แห่ง 4. เต็มที่เรื่อง Technology & Innovation ประกอบด้วย 1) โครงการ The Guru ด้วยหลักสูตร e-learning รูปแบบใหม่โดยคนรุ่นใหม่ ที่เข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และส่งเสริมแนวคิดการเรียนรู้ที่ไม่มีสิ้นสุด 2) หลักสูตร NEA x Huawei ที่เกิดจากการบูรณาการร่วมกับ Huawei เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรู้ทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านการค้าระหว่างประเทศ ด้วยเป้าหมายในการสร้างให้เป็นผู้รอบรู้ทางการค้า และ 5. สนุกในทุกห้องเรียน ด้วยการเรียนรู้รูปแบบใหม่ จากโครงการตรวจสุขภาพคู่ค้า เสริมคาถาธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์จริงจากผู้รอบรู้ เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือ และ ความเหมาะสมกับธุรกิจ โดยมีกิมมิคคือการตรวจดูโหงวเฮ้งทางธุรกิจ

ขณะที่นายพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักสารสนเทศและการบริการการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า DITP Service 5.0 เป็นบริการรูปแบบใหม่ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการได้เป็นรายบุคคล หรือ (Personalization) โดย DITP Service 5.0 จะให้บริการประชาชนภายใต้แนวคิด “บริการถูกใจ 5 เท่า” คือ 1. บริการครบจบในที่เดียว 2. สะดวก รวดเร็ว 3. รู้ใจ ตอบโจทย์การค้า 4. คุ้มค่า ลงตัวทุกกิจกรรม 5. คาดการณ์การค้าเพื่อการตัดสินใจ ผู้รับบริการจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ “บริการถูกใจ 5 เท่า” ผ่าน 3 เครื่องมือ ได้แก่ 1. แอปพลิเคชัน DITP ONE เป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมบริการดิจิทัลของกรมที่อยู่กระจัดกระจายไว้ในแอปเดียว ประกอบด้วยบริการสำคัญ ดังนี้ (1) บริการรับสมัครและแนะนำกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่เหมาะสมกับคุณโดยเฉพาะ (2) บริการแช็ตให้คำปรึกษาด้านการค้าระหว่างประเทศ (3) บริการข้อมูลและข่าวสารด้านการค้าในต่างประเทศที่ส่งตรงจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทั่วโลก (4) การแจ้งเตือนทุกสถานการณ์ใช้บริการทำให้ผู้รับบริการไม่พลาดโอกาสทางการค้าทางสำคัญๆ (5) ระบบ Digital Pass ที่ใช้เก็บประวัติการเข้าร่วมกิจกรรมกรมและเป็นเสมือน e-business card ของคุณ 2. ระบบ DITP Customer Journey เป็นระบบที่แนะนำเส้นทางลัดสู่ความสำเร็จ (Shortcut) ในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จาก Model ของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการเข้าร่วมกิจกรรมของกรม และ 3. ระบบ DITP Trade Intel เป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ช่วยคาดการณ์โอกาสและความเสี่ยงหรือผลกระทบทางการค้าระหว่างประเทศของกลุ่มสินค้าเป้าหมาย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศได้อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment