ค่าเงินบาทเปิดเช้า 29 พฤศจิกายน 2567 ที่ระดับ 34.41 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 29 พฤศจิกายน 2567 ที่ระดับ 34.41 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.45 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่โดยรวมยังคงเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ใกล้โซนแนวรับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ (กรอบการเคลื่อนไหว 34.37-34.47 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้น หลุดโซนแนวรับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ เพียงไม่นาน ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ซึ่งเราประเมินว่า เป็นไปตามการทยอยปิดสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาดเนื่องจากในช่วงเป็นช่วงวันหยุดเทศกาล Thanksgiving ในฝั่งสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ที่ได้อานิสงส์จากการพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดหุ้นยุโรป ทั้งนี้ เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดช่วงปลายเดือน อีกทั้งเรายังคงเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบได้ทยอยปรับตัวลดลงในช่วงสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ ในช่วงเช้าตรู่ของวันนี้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ได้พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นหลุดโซน 151 เยนต่อดอลลาร์ โดยส่วนหนึ่งมาจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่น อาทิ ข้อมูลการจ้างงาน (Jobs/Applications ratio) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ของกรุงโตเกียว ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงยอดค้าปลีก (Retail Sales) ซึ่งขยายตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ผู้เล่นในยังคงคาดหวังว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ได้ และอาจเป็นผลของการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดช่วงนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่นดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนเงินบาทในช่วงเช้านี้เช่นกัน

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปิดทำการเนื่องในวันหยุด Thanksgiving ก่อนที่จะกลับมาเปิดทำการเพียงครึ่งวันในวันศุกร์นี้ โดยสัญญาณจากตลาดฟิวเจอร์สสะท้อนว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นต่อได้ ซึ่งล่าสุดสัญญาฟิวเจอร์สดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +0.24%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.46% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ ASML +2.4% หลังผู้เล่นในตลาดมองว่า การควบคุมการส่งออกชิปของสหรัฐฯ ไปจีนนั้นอาจรุนแรงน้อยกว่าที่ตลาดเคยกังวลก่อนหน้า นอกจากนี้ หุ้นที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการทหารและการบินก็ยังพอได้แรงหนุนอยู่ อาทิ Airbus +4.1%, Rolls Royce +1.1% หลังสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงดำเนินต่อไป โดยล่าสุดทางการสหรัฐฯ ได้เตรียมส่งมอบอาวุธให้กับยูเครนเพิ่มเติม ก่อนที่รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะหมดวาระลงในเดือนมกราคมปีหน้า

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Down กดดันโดยการทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาดก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดเทศกาล Thanksgiving ของสหรัฐฯ รวมถึงการแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) ที่ได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของตลาดหุ้นยุโรป ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่โซน 106.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.1-106.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าการซื้อขายโดยรวมจะเบาบางลงบ้าง ก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุด Thanksgiving ของสหรัฐฯ อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็ย่อตัวลงบ้าง แต่ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ก็ยังถูกกดดันจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คลายกังวลปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ทำให้ราคาทองคำย่อตัวลงสู่โซน 2,660 ดอลลาร์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดคงมุมมองเดิมว่า ECB มีโอกาสเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม และมีโอกาสลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกราว 4-5 ครั้ง ครั้งละ 25bps ในปีหน้า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ด้วยเช่นกัน ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE รวมถึง รายงานเสถียรภาพการเงิน (Financial Stability Report) ของ BOE

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ของจีน ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะรายงานในช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน นี้ โดยหากรายงานดัชนี PMI ของจีน สะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจช่วยลดแรงกดดันต่อตลาดการเงินจีน โดยเฉพาะเงินหยวนจีน (CNY) ในระยะสั้นได้

นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงิน รวมถึงการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง ทองคำ ได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามีความมั่นใจต่อ Call USDTHB Short-term Peak แถว 35 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน มากขึ้น หลังเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นหลุดโซนแนวรับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ในเชิงกลยุทธ์ Trend-Following นั้น หากใช้สัญญาณจาก SuperTrend (KivancOzbilgic) จะสะท้อนว่า เงินบาทมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ โดยเงินบาทอาจมีโซนแนวรับถัดไปแถว 34.20 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เรายอมรับว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจค่อยเป็นค่อยไปได้ เนื่องจากเรายังคงเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนจากผู้เล่นในตลาด รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบในช่วงนี้

ทั้งนี้ เรามองว่า ในเชิงกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงนั้น หากเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น ฝั่งผู้ส่งออกที่มีความจำเป็นในระยะสั้น อาจพิจารณารอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงบ้างในการทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือ ปิดความเสี่ยง (Sell USD on Rally) เนื่องจากเราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น และอาจแกว่งตัวในโซน 34 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้นมากกว่านั้นได้บ้าง ในช่วงเดือนธันวาคม จนถึงช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ เมื่อตลาดเริ่มกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งหากการประเมินของเรานั้นถูกต้อง อีกทั้งเงินบาทก็เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณ SuperTrend เรามองว่า ฝั่งผู้นำเข้าก็อาจรอจังหวะปิดความเสี่ยงได้ โดยอาจจับตาการเคลื่อนไหวของเงินบาทในโซนแนวรับ เช่น โซน 34.20 บาทต่อดอลลาร์ โซนแนวรับถัดไป 34.00 บาทต่อดอลลาร์ เป็นต้น

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.25-34.45 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment