ค่าเงินบาทเปิดเช้า 27 กันยายน 2567 ที่ระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 27 กันยายน 2567 ที่ระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.55 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จนทะลุโซนแนวรับสำคัญ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ (กรอบการเคลื่อนไหว 32.35-32.57 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) มีจังหวะปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ แถวโซน 2,685 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะเผชิญแรงขายทำกำไรและถูกกดดันเพิ่มเติมจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) และ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นาน โดยเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงตามแรงขายทำกำไร (Sell on Rally) ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดการเงินโดยรวม อีกทั้งบรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ในอีก 2 การประชุมที่เหลือของปีนี้ (ล่าสุด ตลาดมอง BOE อาจลดดอกเบี้ยอีกราว -39bps) ซึ่งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำอีกรอบ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด (GDP ไตรมาสที่ 2 และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก) นอกจากนี้ บรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ยังปรับตัวขึ้นเป็นส่วนมาก หลัง Micron Tech. +14.7% จากคาดการณ์ผลการดำเนินงานที่สดใสและแข็งแกร่ง ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.60% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.40%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +1.25% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม กลุ่มเหมืองแร่ อาทิ LVMH +9.9%, Rio Tinto +3.6% ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังทางการจีนได้ออกมาย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ ทว่าตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันบ้างจากหุ้นกลุ่มพลังงาน อย่าง Shell -4.6% ที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบ หลังมีรายงานข่าวว่า ทางการซาอุฯ อาจยกเลิกเป้าหมายราคาน้ำมัน อีกทั้งซาอุฯ กับกลุ่ม OPEC+ ก็พร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิต

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 3.80% อีกครั้ง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมก็อยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ในจังหวะ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นเหนือโซน 3.80% ซึ่งเป็นแนวต้านสำคัญได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจับตาว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 3.80% ได้อย่างชัดเจนหรือไม่ เพราะการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เหนือโซนดังกล่าวอาจเปิดโอกาสให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับไปแถว 3.90%-4.00% ได้ไม่ยาก โดยมีโอกาสที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเลือกทิศทางที่ชัดเจน หลังการรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนกันยายน ในสัปดาห์หน้า

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นในช่วงแรกตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด ก่อนที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามแรงขายจากผู้เล่นในตลาด ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็ถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังผู้เล่นในตลาดลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ลงบ้าง ส่วนเงินยูโร (EUR) ก็ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรป ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 100.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.4-101 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความผันผวนจากการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ รวมถึงแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ได้ส่งผลให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ก็เคลื่อนไหวผันผวนสูงเช่นกัน โดยมีทั้งจังหวะปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ ก่อนที่จะปรับตัวลงแรง และรีบาวด์ขึ้นกลับสู่โซน 2,695 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยโฟลว์ธุรกรรมทองคำ ทั้งฝั่งขายทำกำไรและซื้อตอนย่อตัว ก็มีส่วนทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อ PCE และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ยังมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่า เฟดจะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ตามที่ตลาดคาดหวังไว้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทจนทะลุโซนแนวรับสำคัญ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ไม่ได้เหนือความคาดหมายของเรานัก เนื่องจากเรามองว่า ตราบใดที่ราคาทองคำยังพอมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นได้ ก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะเห็นการกลับตัวมาอ่อนค่าลงของเงินบาท อีกทั้งในช่วงนี้ ตลาดการเงินก็ดูมีความหวังกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนพอสมควร หลังทางการจีนได้ออกมาย้ำจุดยืนพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ในวันก่อนหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงการถือครองสินทรัพย์ฝั่งเอเชีย หนุนให้ในระยะสั้น สกุลเงินฝั่งเอเชียมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้บ้าง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ (เงินดอลลาร์อาจขยับมาอยู่ตรงกลางของ USD Smile Curve) และเมื่อประเมินในเชิงเทคนิคัลเพิ่มเติม การแข็งค่าทะลุโซนแนวรับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 32.25-32.35 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน โดยจะมีแนวรับถัดไปแถวโซน 32.00 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทควรจะชะลอลงบ้าง หลังราคาทองคำเริ่มเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น และไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องชัดเจน อีกทั้งสัญญาณเชิงเทคนิคัล เริ่มสะท้อนความเสี่ยงของการย่อตัวลงบ้างของราคาทองคำ ทำให้ หากราคาทองคำมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ก็อาจช่วยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท นอกจากนี้ เรามองว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็ไม่ได้มีมุมมองเชิงบวกต่อเงินบาทนัก โดยเฉพาะหากประเมินจากปัจจัยพื้นฐาน ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) ได้บ้าง ดังจะเห็นได้จากการที่เริ่มเห็นแรงขายบอนด์ระยะสั้นจากนักลงทุนต่างชาติออกมาบ้างในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในระยะสั้น อาจเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบเพิ่มเติม รวมถึงอาจเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อสกุลเงินต่างประเทศ อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) หลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นพอสมควรในช่วงนี้

อนึ่ง เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า ในเชิง Valuation การแข็งค่าของเงินบาทมากกว่าโซน 33 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะโซนแข็งค่าเกิน 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่า เป็นระดับที่ Overvalued (Z-Score ของดัชนีค่าเงินบาท REER เกินระดับ +0.5) ซึ่งหากปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินบาทก็ไม่ควรแข็งค่าเกินระดับดังกล่าวไปมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการอย่างฝั่งผู้นำเข้าควรเตรียมพร้อมปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.55 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment