{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
“สถานีกรุงเทพ” หรือที่คนส่วนใหญ่นิยมเรียกกันว่า "หัวลำโพง" หากจะกล่าวถึงสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งของกรุงเทพมหานคร คงไม่มีใครไม่รู้จักสถานีรถไฟแห่งนี้ สถานีกรุงเทพ เริ่มสร้างในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2453) การก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีกดปุ่มสัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่สถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ปัจจุบันมีอายุครบ 108 ปี
สถานีกรุงเทพ มีลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมสำคัญสองส่วน คือ โถงชานชาลาที่เป็นหลังคาโค้งทำด้วยเหล็ก ด้านหน้ากรุแผ่นกระจกแผ่นเล็กๆ เรียงต่อกัน และโถงระเบียงหน้าของสถานีที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิค ที่มีปลายสองด้านเป็นป้อมรูปสี่เหลี่ยมขนาบปลายของหลังคาเหล็กโค้งชานชาลา ถือเป็นความก้าวหน้าทางวิศวกรรมที่สำคัญสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 สถานีกรุงเทพเป็นอาคารที่มีช่วงกว้างที่สุดของสยามในยุคนั้น ด้านหน้าและหลังส่วนโค้งทั้งสองด้านกรุกระจกแผ่นเล็กๆ ต่อกันจนเต็ม จึงทำให้เป็นอาคารที่มีผนังเป็นกระจกที่ใหญ่ที่สุดในสยามยุคนั้นเช่นกัน ผนังด้านหน้าติดนาฬิกาเรือนใหญ่บอกเวลา อันเป็นสัญลักษณ์ของความเที่ยงตรงและรวดเร็วของการคมนาคมที่ทันสมัยที่สุด ป้ายด้านหน้าสถานีจะมีตัวอักษรปูนปั้นคำว่าสถานีกรุงเทพ ติดอยู่ที่ด้านบน โถงระเบียงทางเข้าอาคารโถงระเบียงหน้าออกแบบมาเพื่อสร้างความสวยงาม เป็นอาคารคลาสสิค (Classicism) แบบยุคฟื้นฟูเรอเนสชองส์ (Renaissance Revival) จุดเด่นอยู่ที่ป้อมรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ปลายทั้งสองข้างที่ใช้ไวยกรณ์ของประตูชัย (Triumphal arch) มาประยุกต์ออกแบบในแบบประตูชัยโบราณ ด้านบนประตูคานโค้งจะก่อเป็นแผ่นขอบหลังคาขนาดใหญ่ จารึกชื่อผู้สร้างและประดับประดาด้วยประติมากรรม ซึ่งมีรูปใบมะกอกที่มักจะอยู่ในผลงานของมาริโอ ตามาญโญ ศิลปินผู้ออกแบบสถานีกรุงเทพ
"สถานีกรุงเทพ" เป็นชุมทางการเดินทางของผู้คนมากมาย ถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของประเทศ มีอาคารอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และมีจุดที่สำคัญ ได้แก่ อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง ซึ่งเป็นจุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีตรึงหมุดรางทอง รางเงิน ติดกับไม้หมอนมะริดคาดเงิน และเปิดการเดินรถไฟหลวงในราชอาณาจักรสายแรก เส้นทางสถานีกรุงเทพ-อยุธยา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง มีโรงแรมราชธานี อดีตโรงแรมหรูที่เคยอยู่คู่สถานีหัวลำโพงมานาน รวมถึงเก้าอี้วงรี ถือเป็นสัญลักษณ์ประจำสถานีรถไฟ เป็นเก้าอี้รูปทรงคล้ายหมวกปีกถูกทับจนแบนยาว ส่วนปีกหมวกเป็นที่นั่ง ตัวหมวกเป็นพนักพิง และสะพานลำเลียงจดหมาย จุดเชื่อมต่ออาคารไปรษณีย์ตั้งอยู่ปลายชานชาลาที่ 4 ของสถานีกรุงเทพ ลานน้ำพุหัวช้าง ในอดีตเคยเป็นหลุมหลบภัยทางอากาศ นอกจากนี้บริเวณชานชาลาที่ 4 และ 5 ยังมีรถจักรอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์นำมาจัดแสดงให้ชม จำนวน 7 คัน รวมถึงขบวนรถ SRT ROYAL BLOSSOM รถไฟท่องเที่ยวชุดใหม่ ที่การรถไฟฯ ทำการปรับปรุงหลังได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อรองรับการให้บริการในหลายรูปแบบ
สถานีกรุงเทพ ได้เพิ่มบทบาทการเป็นแลนด์มาร์กแหล่งท่องเที่ยว และมีการจัดกิจกรรมที่สำคัญของประเทศ ควบคู่กับดำรงให้คงเป็นศูนย์กลางการเดินทางที่สำคัญของคนไทย จากอดีตไปสู่อนาคต หลังจากที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรม อาทิ Hualamphong in Your Eyes , Unfolding Bangkok และ Clash de Cartier ที่มีการจัดแสดง แสง สี เสียง ดนตรี รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่การรถไฟฯ ได้ร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยการรถไฟฯ พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการเปิดพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและอนุรักษ์สถานที่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ในระดับโลก
“สถานีกรุงเทพ” ปัจจุบันเปิดให้บริการขบวนรถไฟชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถนำเที่ยวทุกสาย จำนวน 58 ขบวน แบ่งออกเป็น สายตะวันออก จำนวน 28 ขบวน สายเหนือ จำนวน 16 ขบวน สายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ขบวน สายใต้ จำนวน 4 ขบวน และขบวนรถนำเที่ยว จำนวน 4 ขบวน
ซึ่งทุกวันนี้ยังมีประชาชนมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ส่วนขบวนรถไฟทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้นั้น ให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดความแออัดภายในสถานีกรุงเทพ และลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่เขตชั้นในบริเวณจุดตัดทางรถไฟ รวมทั้ง ลดปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อม PM 2.5 และเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถไฟให้มีความตรงต่อเวลามากยิ่งขึ้น
ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน “สถานีกรุงเทพ” ก็ยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรถไฟฯ ตลอดจนประชาชนชาวไทยไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเป็นสถานที่อันทรงคุณค่า ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม โครงสร้าง และความผูกพันกับชาวไทย ซึ่งการรถไฟฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสถานีแห่งนี้ และถือเป็นเรื่องสำคัญในการอนุรักษ์สถานีอันทรงคุณค่าแห่งนี้ไว้ให้ดีที่สุด เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์รากฐานความเป็นมาของการพัฒนาด้านการขนส่ง การเดินทาง ความยิ่งใหญ่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยสืบจนปัจจุบัน
ร่วมเฉลิมฉลอง 108 ปี สถานีกรุงเทพ เรียนรู้ประวัติศาสตร์สำคัญ ผ่าน 10 จุดเช็คอินที่ห้ามพลาด ดังนี้
1. อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง ซึ่งเป็นจุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีตรึงหมุดรางทอง รางเงิน ติดกับไม้หมอนมะริดคาดเงิน และเปิดการเดินรถไฟหลวงในราชอาณาจักรสายแรก เส้นทางสถานีกรุงเทพ-อยุธยา
2. สะพานลำเลียงจดหมาย ที่เชื่อมต่ออาคารไปรษณีย์ ตั้งอยู่บริเวณปลายชานชาลาที่ 4 ของสถานีกรุงเทพ
3. ลานน้ำพุหัวช้างหน้าสถานี ซึ่งในอดีตเคยเป็นหลุมหลบภัยทางอากาศ
4. ป้ายด้านหน้าสถานีกรุงเทพ ตรงด้านหน้าของสถานีจะมีตัวอักษรปูนปั้นคำว่า สถานีกรุงเทพ ติดอยู่ที่ด้านบนโถงระเบียงทางเข้าด้านหน้าอาคารสถานีจุดเริ่มต้นการเดินทาง
5. สถาปัตยกรรมภายนอกสถานีกรุงเทพ ที่มีการออกแบบตัวอาคารเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซองส์
6. ระเบียงด้านหน้าสถานีกรุงเทพ มีการตกแต่งด้วยกระจกสีอย่างสวยงามที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง อีกทั้งยังมีนาฬิกาบอกเวลาซึ่งมีอายุเก่าแก่เทียบเท่ากับตัวอาคารสถานี
7. โถงกลางสถานีกรุงเทพ นับเป็นอาคารที่ทรงคุณค่าด้านศิลปกรรมร่วมสมัยแบบสไตล์ตะวันตกที่มีความงดงามผ่านการตกแต่งภายในที่สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานศิลปะแบบคลาสสิก (Classicism) ด้วยการใช้เสาคู่ลอยตัว ระเบียงไอโอนิก (Ionic) การตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น และศิลปะแบบอาร์ตนูโว (Art Nouveau)
8. โรงแรมราชธานี ซึ่งในอดีตเคยเป็นโรงแรมหรูที่อยู่คู่สถานีกรุงเทพมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันเป็นสถานที่ปฏิบัติงานของพนักงานรถไฟ
9. เก้าอี้วงรี ถือเป็นเอกลักษณ์ประจำสถานีรถไฟ ที่มีรูปทรงคล้ายหมวกปีกถูกทับจนแบนยาว ส่วนปีกหมวกเป็นที่นั่งและตัวหมวกเป็นพนักพิง ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นที่นั่งพักคอยและพักผ่อนแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความสวยงามที่คงไว้ซึ่งความคลาสสิก ควรค่าแก่การอนุรักษ์
10. รถจักรประวัติศาสตร์ที่นำมาจัดแสดงบริเวณชานชาลาที่ 4 และ 5
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS