{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมแสดงความยินดีในความสำเร็จของโครงการบัตรเงินฝากสีเขียว (Green Certificate of Deposit) ซึ่งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) มีแผนเสนอขายภายในปี 2567 เป็นครั้งแรก มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท โดยตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืนตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงประเทศชาติและโลกโดยรวม นับเป็นครั้งแรกของการพัฒนาผลิตภัณฑ์บัตรเงินฝากสีเขียวภายใต้ Sustainable Finance Framework ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลโดย DNV (Thailand) Co., Ltd. เพื่อระดมทุนไปใช้สนับสนุนธุรกิจการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทยทั้งในและต่างประเทศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกขณะ ทำให้รัฐบาลหลายประเทศต่างออกมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นถึงราว 18,000 มาตรการ เฉลี่ยปีละ 16% ในช่วงปี 2556-2565 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญของไทย อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็น 51% ของมูลค่าส่งออกรวมในปี 2566 ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยยังส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจำนวนไม่มากนัก ในปี 2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ 7.6% ของมูลค่าส่งออกรวม เทียบกับสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงในประเทศอื่น เช่น เยอรมนี 15.4% ญี่ปุ่น 15% จีน 10.4% และเกาหลีใต้ 10.2% จึงถึงเวลาแล้วที่ผู้ส่งออกไทยต้องเร่งปรับตัวและปฏิบัติตาม เพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดการค้าโลก ในขณะเดียวกัน สถาบันการเงินต้องเร่งขยายบทบาทช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับปรับตัวดังกล่าว ซึ่งทั่วโลกยังต้องการการสนับสนุนทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) อีกมาก จากข้อมูลพบว่า Climate Finance ของโลกเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าตัวเลขประเมินความต้องการทางการเงินเพื่อป้องกัน Climate Change เฉลี่ย 8.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือต่ำกว่าอยู่ราว 6 เท่าตัว โดยความต้องการทางการเงินดังกล่าวเป็นการประเมินการลงทุนด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่า การลงทุนของโลกเพื่อป้องกัน Climate Change ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะหยุดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามเป้าหมาย
ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า โครงการบัตรเงินฝากสีเขียวของ EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินสีเขียวเพื่อร่วมกันเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ บรรลุเป้าหมายของประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 โดยนับจากนี้ เราจะเริ่มเห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้นของการสร้าง Green Export Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ นับตั้งแต่ขั้นตอนการจัดหาเงินทุน วัตถุดิบ กระบวนการผลิต และส่งมอบสินค้า ตลอดจนโลจิสติกส์ที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น และสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจสีเขียวและยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมทางการเงินสีเขียว (Greenovation) ภายใต้บทบาท Green Development Bank เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน EXIM BANK มีแผนจะเสนอขายบัตรเงินฝากสีเขียวภายใต้ Sustainable Finance Framework ที่รับรองโดย DNV (Thailand) Co., Ltd. เป็นครั้งแรกในประเทศไทย วงเงินรวม 5,000 ล้านบาทภายในปี 2567 โดยเริ่มออกเสนอขายรุ่นแรกในเดือนเมษายนที่ผ่านมาจำนวน 1,300 ล้านบาท ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ ประกอบด้วย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปน.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค โลจิสติกส์ และที่สำคัญคือ Climate Finance ที่จะนำไปสู่การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจรายย่อยจากระดับชุมชนเชื่อมโยงกับ Supply Chain การส่งออกสู่ตลาดโลกได้ เงินที่ได้จากการออกบัตรเงินฝากสีเขียวในครั้งนี้ EXIM BANK จะนำไปใช้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจสีเขียว รวมถึงกิจการที่ต้องการปรับปรุงกระบวนการผลิต ผ่านบริการต่าง ๆ อาทิ EXIM Green Start, Solar D-Carbon Financing และ Green Guarantee เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมทั้ง Ecosystem มากที่สุด
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS