Easy E-receipt หนุนดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ขยับตัวเพิ่ม

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ และนายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ระดับ 90.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 88.8 ในเดือนธันวาคม 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศสะท้อนจากคำสั่งซื้อและยอดขายสินค้าที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อรองรับการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับอานิสงส์มาตรการ Easy E-receipt ในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567 ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว วีซ่า-ฟรี (Visa-Free) ส่งผลให้ในช่วงเดือนมกราคม 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยกว่า 2,743,147 คน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.8 (YoY)

ขณะที่ภาคการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลก และคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ตะวันออกกลาง และอินเดีย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินกิจการเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ SMEs ขณะที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้นจากความกังวลปํญหาหนี้ครัวเรือน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก ยังเผชิญกับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากอัตราค่าระวางเรือ ค่าธรรมเนียมและค่าประกันต่างๆ ที่เกิดจากปัญหาการโจมตีเรือขนส่งสินค้าบริเวณคลองสุเอซและทะเลแดง ขณะที่การขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียและยุโรปใช้ระยะเวลานานขึ้น เนื่องจากต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือผ่านแหลมกู๊ดโฮป

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,331 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนมกราคม 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 82.5 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 73.7 ราคาน้ำมัน ร้อยละ 50.1 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 45.2 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 41.5 สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 35.0 ตามลำดับ

ขณะที่ดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 96.2 ในเดือนธันวาคม 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว รวมถึงมาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบมาตรการพักชำระหนี้ SMEs แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาความไม่สงบบริเวณทะเลแดงที่มีแนวโน้มขยายวงกว้างซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไป รวมถึงกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain) และความผันผวนของราคาพลังงาน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความห่วงกังวลเกี่ยวเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง จากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคจีนอ่อนแอ และความต้องการสินค้าจากไทยลดลง

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

1) เสนอให้ภาครัฐเร่งหารือกับสายเรือเพื่อเพิ่มจำนวนเรือขนส่งสินค้า และตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาในประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าและเรือตลอดจนขอให้มีการชี้แจงแผนการเดินเรือ และรายละเอียดในส่วนของค่าระวางเรือ (Freight rate) ที่ปรับเพิ่มขึ้นให้ชัดเจน

2) เสนอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนไทย - เมียนมา รวมทั้งดูแลนักลงทุนไทยที่เข้าไปทำธุรกิจ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา

3) เร่งพิจารณาอนุมัติงบประมาณปี 2567 รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมในการใช้จ่ายงบให้ได้ตามเป้าหมาย ภายในปีงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนและจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment